"เห็บ" เป็นสัตว์ที่อาศัยสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นแหล่งอาหาร โดยดูดกินเลือด และก่อโรคได้ทั้งในสัตว์และคน ตลอดจนมาพร้อมกับความสามารถในการขยายพันธุ์ที่อาจซ่อนไว้ซึ่ง "ความลับทางธรรมชาติ" ที่รอคอยการค้นพบในด้านการเยียวยา
รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี อหันทริก อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถือเป็นหนึ่งในนักวิจัยผู้บุกเบิกของประเทศไทยในการศึกษาวิจัยเห็บมานานกว่าทศวรรษ
"เห็บตัวเมียหนึ่งตัวสามารถออกลูกได้ถึงหลักพัน โดยแต่ละตัวมีวงจรชีวิตที่ยาวนาน เนื่องจากเป็นปรสิตที่ทนต่อสภาพกันดาร มีชีวิตหล่อเลี้ยงด้วยเลือดสัตว์ที่อยู่อาศัยในทุกระยะของวงจรชีวิต จากไข่ ฟักเป็นตัวอ่อน สู่ตัวกลางวัย และตัวเต็มวัยโดยทั้งวงจรชีวิตอาจใช้เวลานานมากถึง 5 ปี" รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี อหันทริก กล่าว
บ่อยครั้งเมื่อกลับจากการเดินป่า หลายคนมักมีอาการไข้ และผื่นแดงตามตัว หากนำเลือดไปตรวจส่วนใหญ่มักพบเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Rickettsia ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะก่อโรค
นอกจากนี้ที่ผ่านมายังพบ "ไข้คิว" (Q Fever) โดยมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย Coxiella burnetii ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะก่อโรคเช่นกัน หากเกิดในปศุสัตว์ อาจส่งผลให้สัตว์ที่กำลังตั้งท้องตกลูกเสียชีวิตได้ยกครอก และอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและการทำงานของหัวใจในคนที่ติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้
การค้นพบครั้งแรกโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี อหันทริก ด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) หรือการวิจัยสารพันธุกรรมในหลอดทดลองเพื่อดูการทำปฏิกิริยา และศึกษาลำดับเบส ได้นำไปสู่การค้นพบเชื้อแบคทีเรีย Coxiella Francisella ที่เป็นเพียง "แบคทีเรียร่วมอาศัย" อยู่ในเห็บ โดยอยู่ระหว่างการศึกษาบทบาทซึ่งอาจต่อยอดสู่การวิจัยเพื่อการยับยั้งและเยียวยาโรคอุบัติซ้ำ และโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ และมนุษย์ได้ต่อไปในอนาคต
ในระยะ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.อรุณี อหันทริก มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยาของเห็บ (Tick biology) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำถึงประมาณ 10 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ได้เป็นชื่อแรก หรือผู้ประพันธ์บรรณกิจ(corresponding author) ของผลงาน (Q1) และยังคงมุ่งมั่นศึกษาวิจัยเพื่อดูการติดเชื้อต่างๆ ที่มาจากเห็บ ซึ่งครอบคลุมแบคทีเรีย ไวรัส และโปรโตซัว ฯลฯ เพื่อทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของ มหาวิทยาลัยมหิดล สู่หนทางรอดของมวลมนุษยชาติต่อไป