X
พาไปสำรวจและทำความรู้จัก หัวใจเยือกแข็ง บนดาวพลูโตกัน

พาไปสำรวจและทำความรู้จัก หัวใจเยือกแข็ง บนดาวพลูโตกัน

15 ก.พ. 2565
4880 views
ขนาดตัวอักษร

หัวใจดวงนี้ของดาวพลูโต มีชื่อเรียกว่า "พื้นที่ทอมบอ" (Tombaugh Regio) เป็นพื้นที่สีอ่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนพื้นผิวดาวพลูโต มีรูปร่างเป็นรูปหัวใจและมีความกว้างประมาณ 1,590 กิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวเคราะห์แคระดวงนี้ 


ชื่อในภาษาอังกฤษของพื้นที่แห่งนี้มาจากคำสองคำ ได้แก่


- Tombaugh มาจากชื่อไคลด์ ทอมบอ (Clyde Tombaugh) นักดาราศาสตร์ชาวสหรัฐฯ ผู้ค้นพบดาวพลูโตในปี..1930


- Regio มาจากภาษาละตินแปลว่า ขอบเขต พื้นที่ หรือเขต ใช้ระบุว่าพื้นที่ที่มีคำนี้กำกับเป็นพื้นที่ภูมิประเทศขนาดใหญ่ หรือพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีสภาพการสะท้อนแสงหรือสีแตกต่างจากบริเวณข้างเคียง 


คำว่า Regio เป็นหนึ่งในคำของระบบการตั้งชื่อสำหรับดาวเคราะห์ (Planetary nomenclature) ของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ (IAU) เพื่อใช้ตั้งชื่อของลักษณะภูมิประเทศรูปแบบต่าง  บนดาวเคราะห์ ดวงจันทร์บริวารและวัตถุขนาดเล็กอื่น  ในระบบสุริยะ 


พื้นที่ทอมบอ คือ พื้นที่รูปหัวใจทั้งหมด ขณะที่หัวใจซีกซ้าย (ฝั่งตะวันตกเป็นที่ราบต่ำของประกอบด้วยน้ำแข็งหลายประเภท เช่น สสารเยือกแข็งของไนโตรเจน คาร์บอนมอนอกไซด์ และมีเทน มีความกว้าง 1,000 กิโลเมตร ที่ราบน้ำแข็งแห่งนี้มีชื่อว่า “ที่ราบต่ำสปุตนิก” (Sputnik Planitia)


ส่วนบริเวณหัวใจซีกขวา (ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่สูงขรุขระที่ปกคลุมไปด้วยไนโตรเจน ซึ่งบรรยากาศดาวพลูโตพัดพาไนโตรเจนส่วนนี้มาจากที่ราบต่ำสปุตนิก ก่อนที่จะทับถมกันเป็นน้ำแข็งของไนโตรเจน และไนโตรเจนเยือกแข็งบนพื้นที่สูงฝั่งตะวันออกบางส่วนยังสามารถเคลื่อนตัวกลับไปสู่ที่ราบต่ำสปุตนิกได้ด้วยผ่านการไหลของธารน้ำแข็ง


นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับพื้นที่ทอมบอว่า พื้นที่แห่งนี้น่าจะเกิดจากการพุ่งชนของอุกกาบาตครั้งใหญ่ในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของตำแหน่งพื้นที่ทอมบอในปัจจุบัน หลุมอุกกาบาตแห่งนี้ถูกกลบด้วยน้ำแข็งกลายเป็นที่ราบต่ำสปุตนิก และค่อย  เคลื่อนตัวลงมาบริเวณเส้นศูนย์สูตรไปตามการเคลื่อนตัวของเปลือกน้ำแข็งที่อยู่เหนือมหาสมุทรใต้เปลือกดาว ส่วนไนโตรเจนจากน้ำแข็งในที่ราบต่ำสปุตนิกส่วนหนึ่งถูกบรรยากาศดาวพลูโตพัดพามาตกทับถมเป็นน้ำแข็งบนพื้นที่สูงทางตะวันออก จนเกิดเป็นพื้นที่รูปหัวใจสีอ่อนบนดาวพลูโต


ในอดีต กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเคยทำแผนที่ดาวพลูโต ด้วยการวัดความสว่างของดาวพลูโตที่เปลี่ยนแปลงไปจากการหมุนรอบตัวเองของตัวดาว และได้ตรวจพบพื้นที่ทอมบอแล้ว แต่เนื่องจากข้อมูลแผนที่ดาวพลูโตในตอนนั้นยังมีความละเอียดไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถระบุรูปร่างของพื้นที่ทอมบอได้ จนกระทั่งในปี .. 2015 ยานนิวฮอไรซอนส์ (New Horizons) เคลื่อนเข้าใกล้ดาวพลูโตที่ระยะห่างประมาณ 12,500 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดาว และสามารถถ่ายภาพบริเวณดังกล่าวได้ พบว่าเป็นพื้นที่สีอ่อนที่มีรูปร่างรูปหัวใจอย่างชัดเจน


เรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.


ที่มาของข้อมูล

- https://planetarynames.wr.usgs.gov/DescriptorTerms 

- https://www.nytimes.com/interactive/2015/07/15/science/space/new-horizons-pluto-flyby-photos.html 

- https://www.nasa.gov/feature/new-horizons-discovers-flowing-ices-on-pluto 

- https://www.planetary.org/articles/12211538-pluto-updates-from-agu 

- https://www.nasa.gov/feature/new-horizons-spacecraft-displays-pluto-s-big-heart-0/ 

- https://www.scientificamerican.com/article/pluto-s-icy-heart-may-hide-an-ocean/ 

- https://www.sciencenews.org/article/mission-pluto-live-coverage#heart

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล