เนื่องในโอกาสวันที่ 28 กันยายน เป็น “วันพระราชทานธงชาติไทย” เราจึงขอพาทุกท่านไปย้อนดูความเป็นมาของธงชาติไทยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยว่ามีวิวัฒนาการความเป็นมาอย่างไรบ้าง
ก่อนจะเป็นธงชาติไทย
ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย สืบได้เพียงมีการใช้ธงสำหรับเป็นเครื่องหมายของกองทัพกองละสีและใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องสำหรับเรือกำปั่นเดินทะเลทั่วไปมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
สมัยรัตนโกสินทร์
สมัยรัชกาลที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์ กับเรือของราษฎรสยามที่ใช้ธงผ้าพื้นแดงเกลี้ยง
สมัยรัชกาลที่ 2
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรสีขาวของเรือหลวงไว้ด้วย มีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก แต่ใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น
ก่อน พ.ศ. 2380 - พ.ศ. 2459
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า ธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปนั้นซ้ำกับประเทศอื่นในการติดต่อระหว่างประเทศ ต้องมีธงชาติใช้เป็นของตัวเอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยามแต่เอารูปจักรออก เนื่องจากมีเหตุผลว่า จักรเป็นเครื่องหมายเฉพาะพระองค์พระมหากษัตริย์ ธงนี้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงใช้พื้นเป็นสีน้ำเงินขาบชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อแยกแยะ
พ.ศ. 2459 – พ.ศ. 2460
“ธงราชการ” มีการแก้ไขธงชาติ เป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หน้าหันเข้าเสาสำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ แต่เป็นแบบทรงเครื่องยืนแท่น ซึ่งแต่เดิมธงนี้เป็นธงสำหรับเรือหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 และมีฐานะเป็นธงราชการอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2453
ต่อมารัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชประสงค์ในการเปลี่ยนและเพิ่มแบบธงสำหรับธงสำหรับชาติสยามใหม่ สำหรับประชาชนเพื่อใช้ในการค้าขาย ล่องเรือระหว่างประเทศและใช้ประดับบนบกอยู่แล้ว จึงได้ใช้ธงชนิดนี้ขึ้นใหม่สำหรับการค้าขาย และเป็นธงทั่วไปด้วย นอกจากธงราชการ
ธงไตรรงค์ (พ.ศ. 2460 - ปัจจุบัน)
ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2460 แถบสีแดงที่ตรงกลางธงค้าขายได้เปลี่ยนเป็น สีขาบ (เป็นชื่อสีโบราณอย่างหนึ่งของไทย คือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วง) โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบธงไตรรงค์ และได้ให้ความหมายของสีที่อยู่ในธงชาติ ดังนี้
- สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีเพื่อธํารงรักษาชาติและศาสนา
- สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งศาสนา
- สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์
ที่มา : พิพิธภัณฑ์รัฐสภา