X
เชื่อปลอกคอช้างไม่ทำให้ช้างเขาใหญ่ดุร้าย

เชื่อปลอกคอช้างไม่ทำให้ช้างเขาใหญ่ดุร้าย

20 ม.ค. 2564
1160 views
ขนาดตัวอักษร

อช. 20 ม.ค.64 – หลายฝ่ายมั่นใจ ปลอกคอช้างไม่เป็นสาเหตุให้ช้างป่าเขาใหญ่ทำร้ายนักท่องเที่ยวจนเสียชีวิต เร่งตั้งกรรมการหาขอเท็จจริง พร้อมพิจารณาปิดพื้นที่ลานกางเต็นท์บางจุดที่อาจเป็นเส้นทางเดินและหากินของสัตว์ป่า


ยังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจกรณีนักท่องเที่ยวประสบเหตุร้ายถูกช้างป่าทำร้ายจนเสียชีวิต บริเวณลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา สร้างความสงสัยถึงพฤติกรรมของช้างป่า อะไรคือสาเหตุของเหตุสลดในครั้งนี้

ล่าสุดกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ตั้งโต๊ะชี้แจง โดยนายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเป็นกรณีเฉพาะ เพื่อตรวจสอบกรณีช้างป่าทำร้ายนักท่องเที่ยวจนเสียชีวิต และหาสาเหตุที่มีความเป็นไปได้ต่อพฤติกรรมของช้างป่า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายสงสัย เช่น การติดปลอกคอช้าง พฤติกรรมตามธรรมชาติ แหล่งอาหาร หรือสาเหตุอื่น ซึ่งทุกกรณีมีความเป็นไปได้แตกต่างกัน


รวมทั้งอาหารที่นักท่องเที่ยวนำขึ้นไป และนำไปไว้ใกล้หรือในพื้นที่พักแรม อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่จูงใจให้ช้างเข้ามาหากินในบริเวณดังกล่าว อาจบังเอิญหรือเกิดอาการตกใจจนทำร้ายนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสอบหาสาเหตุเช่นกัน โดยในพื้นที่เขาใหญ่มีช้างทั้งหมดรวมกว่า 300 ตัว และพบว่าบริเวณลานผากล้วยไม้มีช้างป่าขาประจำเดินผ่ายและมาหากินประมาณ 10 ตัว รวมทั้งเจ้าดื้อด้วย อย่างไรก็ตามเบื้องต้นมีการสั่งการปิดจุดลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ และลานลำตะคอง แล้วชั่วคราวเพื่ความปลอดภัยต่อ และป้องกันอันตรายและลดความเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวอาจเผชิญกับสัตว์ป่าในบริเวณดังกล่าว 

ส่วนกรณีที่มีบางฝ่ายให้ความเห็นว่าปลอกคอช้าง หรือ คอลล่า(GPS Collar) ซึ่งทีมวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมช้างนำมาติดไว้กับเจ้าดื้อช้างป่าวัย 30 ปี อาจทำให้ช้างมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือก้าวร้าวขึ้น ด้าน รศ. รองลาภ สุขมาสรวง คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าทีมวิจัยโครงการนิเวศวิทยาช้างป่าในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระบุว่า ปลอกคอช้างได้เริ่มติดตั้งไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ซึ่งจะทำหน้าที่ส่งสัญญานผ่านระบบดาวเทียม ศึกษาเส้นทางการเดินทางของช้างป่า ซึ่งจะช่วยให้นักวิจัยเข้าใจถึงพฤติกรรมองช้างป่า นำมาวิเคราะห์ด้านการอนุรักษ์ รวมทั้งการพัฒนาวิธีการป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ หรือเข้าใกล้แหล่งชุมชนรอบป่า ซึ่งยังทำให้เห็นเส้นทางและเปิดเผยความลับการใช้ชีวิตในป่าของช้างได้มากขึ้น สำหรับโครงการวิจัยนั้นได้ขออนุญาตกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตามระเบียบในการทำวิจัย ที่ผ่านมาไม่พบว่าทำให้ช้างหงุดหงิด โดยจากการตรวจสอบผ่านสัญญานดาววเทียม เจ้าดื้ออยู่ห่างจากผากล้วยไม้ประมาณ 2 กิโลเมตร เดินตามลำตะคอง มุ่งหน้ายังน้ำตกเหวสุวัต


เช่นเดียวกับ ดร.ศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ ผู้อำนวยการส่วนสารสนเทศด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ในต่างประเทศ หรือวงการศึกษาพฤติกรรมสัตว์ป่า มีการใช้อุปกรณ์ปลอกคอติดตามพฤติกรรมสัตว์ป่าแบบนี้เช่นกัน ซึ่งไม่มีรายละเอียดว่าส่งผลให้พฤติกรรมของช้างเปลี่ยนไปกว่าปกติแต่อย่างใด ด้วยน้ำหนักเพียง 10 กิโลกรัม เทียบกับน้ำหนักของช้างป่า 5 ตัน หรือไม่เกิน 0.1% ของน้ำหนักช้าง จึงไม่กระทบต่อวิถีหรือกระตุ้นความก้าวร้าว เพียงแต่ในช่วงแรกอาจรู้สึกผิดแปลกไป หากช้างไม่ชอบหรือหงุดหงิดกับอุปกรณ์เท่าที่เคยพบจะใช้งวงดึงกระชากปลอกคอออก แต่ไม่ใช้ก้าวร้าวแล้วอาละวาดดุร้าย

ซึ่งในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีโครงการศึกษาพฤติกรรมช้างป่า ด้วยการติดปลอกคอ หรือคอลล่า เช่นกัน รวมตามเป้าหมาย 67 ตัว โดยระยะแรกจะติดตั้งให้ได้ 24 ตัว โดยได้ดำเนินการติดปลอกคอช้างป่าไปแล้ว 11 ตัว ใน 5 กลุ่มป่า ส่วนอีก 13 ตัวอยู่ในแผนที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จ และในปลายปีนี้จะนำปลอกคอช้างเข้ามาเพิ่มเติมครบตามแผนอีก 43 ชุด ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์สำคัญในการศึกษาพฤติกรรมช้าง การวางแผนป้องกันปัญหาคนกับช้างป่า แผนในการดูแลสวัสดิภาพช้างป่า และการจัดการประชากรช้างป่าให้เหมาะสมกับสภาพป่าในแต่ละพื้นที่


ด้านนายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต สัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า กรณีมีข้อสังเกตว่าเจ้าดื้ออยู่ในภาวะตกมัน มีผลให้เกิดการก้าวร้าวมากกว่าปกติ ในข้อเท็จจริงแล้วช้างป่าจะมีระดับฮอร์โมนเพศสูงช่วงปลายฝนต้นหนาว เนื่องจากในฤดูฝนกินอาหารสมบูรณ์ ภาวะนี้มี 4 ระยะ โดย 2 ระยะแรกยังไม่เห็นน้ำมันไหลบริเวณบริเวณใบหน้า แต่ระยะที่ 3-4 จะเห็นน้ำมันไหลได้ แม้อยู่ในช่วง 2 ระยะแรก หากมีปัจจัยกระตุ้น อาจทำให้ช้างเปลี่ยนพฤติกรรมชั่วคราวได้ ยืนยันว่าช้างป่าตกมันไม่น่ากลัวเท่าช้างป่าตกใจ ซึ่งเมื่อตกใจแล้วมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะทำอันตรายของสิ่งของ หรือบุคคลโดยรอบได้ ดังนั้นการเข้าท่องเที่ยวในถิ่นของสัตว์ จึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่หากพบช้างต้องทำอย่างไร หากทำความวิธีที่ถูกต้องก็จะปลอดภัย นอกจากนี้ ไม่ควรให้อาหารแก่สัตว์ป่า ทำให้พฤติกรรมสัตว์ป่าเปลี่ยนได้


อย่างไรก็ตามอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ประกาศปิดลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้ และลำตะคอง ทั้ง 2 แห่งเป็นการชั่วคราวแล้ว โดยจะมีการหารือเพิ่มเติมในส่วนของลานผากล้วยไม้ที่ควรจะปิดจุดกางเต็นท์ถาวรเลยหรือไม่ เนื่องจากมีข้อมูลพบว่าบริเวณดังกล่าวเริ่มมีไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น มีช้างป่าและสัตว์ป่าใช้เป็นเส้นทางเดิน และหากิน จึงอาจไม่เหมาะให้เป็นจุดกางเต็นท์ของนักท่องเที่ยวที่จะกระทบต่อสัตว์ป่าได้

ส่วนแผนอื่นได้เตรียมเสนอติดตั้งรั้วสัญญานเตือนรอบจุดพักแรมของนักท่องเที่ยว ที่เดินช้างเดินชนเส้นเอ็นจะส่งสัญญานเตือน และสัญญานไฟแจ้งให้นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่รับทราบ เพื่อระมัดระวัง ป้องกันอุบัติเหตุของคนกับช้างได้มากขึ้น 

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล