X
ทางหลวงไต่เขา..สวรรค์ของนักท่องเที่ยว

ทางหลวงไต่เขา..สวรรค์ของนักท่องเที่ยว

26 ต.ค. 2563
880 views
ขนาดตัวอักษร

ยามค่ำคืน ตลาดอาเลียบัดในเมืองฮันซา (Hunza) ทางตอนเหนือของปากีสถานสว่างไสวไปด้วยแสงไฟของบรรดาร้านรวงบนถนนสายหลัก และพลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอย ป้ายไฟนีออนของโรงแรมและร้านอาหารต่างส่องสว่างส่งสัญญาณเชื้อเชิญผู้มาเยือน


นาจีบ อุดดิน เจ้าของร้านขายสินค้าหัตถกรรมวัย 23 ปีในตลาดสดแห่งหนึ่งเล่าว่าตนขอซื้อร้านนี้ต่อจากบิดา วางขายสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นของฮันซา เช่น หมวกติดขนนก ผ้าคลุมไหล่ เสื้อผ้า และเครื่องประดับ โดยลูกค้าจำนวนมากเป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากเมืองการาจี อิสลามาบัด และราวัลปินดี




ฮันซา เป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคกิลกิต-บัลติสถาน (GB) ของประเทศปากีสถาน ใกล้กับเทือกเขาคาราโครัมและเทือกเขาฮินดูกูช และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติสุดตระการตา ทั้งภูเขาหิมะ ธารน้ำแข็ง และหุบเขา กอปรกับมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน


อุดดินเล่าว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม และเกสต์เฮาส์ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน นอกจากร้านของอุดดิน เมื่อ 6 ปีก่อน ลาลล์ ชาซาดี หญิงวัย 39 ปี เปิดร้านอาหารเล็กๆ ขายอาหารพื้นเมืองใกล้กับป้อมบาลติต (Baltit Fort) แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ชื่อดังเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว


“ตอนที่ฉันเปิดร้านนี้ มีผู้หญิงไม่กี่คนที่เริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง การท่องเที่ยวที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วทำให้ตอนนี้ผู้หญิงหลายคนล้วนหันมาเดินบนเส้นทางนี้” ชาซาดี คุณแม่ลูกสี่เล่าพร้อมระบุว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีคาราโครัม ไฮเวย์ (KKH) หรือทางหลวงคาราโครัม ถนนไต่เขาซึ่งตัดผ่านตลอดพื้นที่ตลาด อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเดินทางมาถึงของนักท่องเที่ยว


คาราโครัม ไฮเวย์มีชื่อเรียกอีกชื่อว่าทางหลวงมิตรภาพจีน-ปากีสถาน เป็นถนนคอนกรีตที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก การก่อสร้างถนนสายนี้ระหว่างปี 1966-1978 ประสบความยากลำบากนานัปการ มีคนงานจีนและปากีสถานหลายร้อยคนต้องสังเวยชีวิตในระหว่างการก่อสร้าง




หลายทศวรรษที่ผ่านมา คาราโครัม ไฮเวย์ถูกใช้งานหนักและมีสภาพทรุดโทรม เมื่อปี 2008 บริษัทไชน่า โรด แอนด์ บริดจ์ คอร์ปอเรชัน หรือ ซีอาร์บีซี (China Road and Bridge Corporation – CRBC) ได้เริ่มปรับปรุงและสร้างถนนระยะทาง 335 กิโลเมตรขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยถนนส่วนนี้ตัดเชื่อมระหว่างสะพานไรกอต (Raikot Bridge) กับด่านพรมแดนกุนจีราบ (Khunjerab Pass) คนงานชาวจีนและชาวปากีสถานสามารถเอาชนะอุปสรรคจากเหตุแผ่นดินไหว ดินถล่ม และหินถล่มในพื้นที่ที่ได้รับสมญานามว่าเป็นดัง “พิพิธภัณฑ์ธรณีพิบัติภัย” ในการปรับปรุงถนนสายดังกล่าวซึ่งใช้เวลานานถึง 7 ปีด้วยกัน


ปี 2010 เกิดเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ในฮันซาปิดกั้นทางน้ำไหลของแม่น้ำฮันซา กลบฝังและท่วมทับพื้นบางส่วนของทางหลวงคาราโครัม จนเกิดเป็นทะเลสาบอัตตาบัต (Attabad Lake) ประชาชนราว 25,000 คนในฮันซาถูกตัดขาดจากพื้นที่ภายนอก เรือโดยสารจึงกลายเป็นวิธีการสัญจรเพียงหนึ่งเดียวของที่นี่ เพื่อแก้ปัญหานี้ ซีอาร์บีซีตัดสินใจที่จะปรับแนวทางหลวงคาราโครัม และสร้างอุโมงค์ห้าแห่งที่มีความยาวรวม 7 กิโลเมตรขึ้นบนพื้นที่ภูเขา


ปัจจุบัน ทะเลสาบอัตตาบัตซึ่งในอดีตเคยเป็นโจทย์หินสำหรับการเดินทางและการขนส่ง กลับกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ พร้อมด้วยบริการเรือพายและเรือยนต์ ตลอดจนสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และโรงแรมริมทะเลสาบอีกหลายแห่งให้เลือกสรร


นาเซียร์ผู้จัดการโรงแรมแห่งหนึ่งกล่าวว่า ทางหลวงสายนี้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในฮันซาอย่างมาก แม้ว่าเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงนอกฤดูกาล แต่สีสันที่สวยงามของหุบเขาฮันซา ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้แวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสาย “ห้องพักทั้ง 24 ห้องของเราถูกจองจนเต็มแล้ว และเราวางแผนว่าจะสร้างเพิ่มอีก 6 ห้องในปีหน้า” นาเซียร์กล่าว




ไฟซุลลาห์ ฟิรัก โฆษกรัฐบาลภูมิภาคกิลกิต-บัลติสถาน กล่าวว่าคาราโครัม ไฮเวย์ เป็นดังเส้นเลือดใหญ่ในการเดินทางของภูมิภาค ทั้งยังมีความสำคัญในการขนส่งผลผลิตการเกษตรของท้องถิ่น เช่น แอปเปิล แอปริคอต เชอร์รี่ มันฝรั่ง และผลไม้แห้ง


ด้วยความคืบหน้าของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (CPEC) มิตรภาพของทั้งสองประเทศจึงแน่นแฟ้นและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ภายใต้โครงการดังกล่าว เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ซีอาร์บีซีได้ก่อสร้างทางหลวงเชื่อมเมืองฮาเวเลียน (Havelian) และเมืองทาโคท (Thakot) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งทางหลวงคาราโครัม โดยเปิดให้ใช้สัญจรได้แล้ว


ที่มา : สำนักข่าวซินหัว

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล