X
นาหว้าโมเดล โครงการศิลปาชีพ

นาหว้าโมเดล โครงการศิลปาชีพ

9 เม.ย 2565
1010 views
ขนาดตัวอักษร


(9 เม.ย. 65) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ อ.นาหว้า จ.นครพนม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานงานแถลงข่าวเปิดตัวตราสัญลักษณ์พระราชทาน โครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพและพิธีมอบกี่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คุณรติรส  จุลชาต คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ คุณศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ร่วมแถลงข่าว โดยมี นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางกาญจนี รุจนเสรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครพนมและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ข้าราชการ สมาชิกกลุ่มทอผ้า และสื่อมวลชน ร่วมรับฟังการแถลงข่าว


     นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ เปิดเผยว่า เป็นบุญของพวกเราคนไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการสนองงานแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระบรมราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยทรงมุ่งมั่นทุ่มเทในการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงเพียรพยายามในการที่ดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรชาวไทยมาเป็นระยะเวลามากกว่า 60 ปี ด้วยกุศโลบายที่สำคัญ คือ การนำเอาภูมิปัญญาผ้าไทยที่คนไทยทั่วทุกหนระแหง ทุกภาค ทุกจังหวัด ล้วนแล้วแต่ได้รับภูมิปัญญาผ้าไทยสืบสายโลหิตกันมาอย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ วัดธาตุประสิทธิ์ ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนมแห่งนี้ ที่เกิด “สิ่งมหัศจรรย์” หลายประการ คือ 1) เป็นจุดแรกเริ่มที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมาทรงช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และทอดพระเนตรเห็นผู้คนที่มาเฝ้ารับเสด็จต่างสวมใส่ผ้าไหมที่ทอเอง โดยทรงครุ่นคิดว่าจะช่วยเหลือพี่น้องชาวนาและเกษตรกรเหล่านี้ให้มีอาชีพเสริมเพื่อทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร โดยพระราชทานแนวความคิดไปสู่การปฏิบัติ ด้วยการส่งเสริมยุยงให้ประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ได้ทอผ้า เพื่อที่จะขายให้พระองค์พระองค์ท่านก่อน เป็นที่มาของคำว่า “ขาดทุนคือกำไร” ทั้งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้เวลาว่างจากการทำเกษตรกรรมให้เป็นประโยชน์ด้วยการทอผ้าเป็นอาชีพเสริม 2) ทรงจัดตั้งโครงการศิลปาชีพ เมื่อปี 2515 ถือเป็นโครงการศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถแห่งแรก โดยพระราชทานแนวทางให้ประชาชนทำงานรวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อจะได้พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกัน ซึ่งตรงกับหลักการบริหารสมัยใหม่ 3) โครงการศิลปาชีพฯ มีอายุครบ 50 ปีในปีที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา และ 4) ทรงมีพระราชนัดดา (หลาน) เข้ามาสืบสาน รักษา ต่อยอด และเสด็จพระราชดำเนินมา ณ สถานที่แห่งนี้ในปีที่ครบ 50 ปีโครงการศิลปาชีพ ด้วยเจตนารมณ์เดียวกันกับพระองค์ท่าน คือ ทำให้พี่น้องประชาชนรวมตัวกันใช้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ยังประโยชน์สุขให้กับพวกเราคนไทยทุกคน

     “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงงานอย่างหนักโดยไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยหรือย่อท้อ ซึ่งในการเสด็จมาเยี่ยมเยียนและพระราชทานคำแนะนำให้กับพี่น้องประชาชนชาวนาหว้า นอกจากจะทำให้พวกเรามีขวัญกำลังใจแล้ว พระองค์ท่านยังทรงนำแนวทางที่ทรงทดลองทำจนประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมแล้วที่บ้านดอนกอย อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร มาถ่ายทอดสู่พี่น้องชาวนาหว้า อันได้แก่ “การพัฒนาคน” ซึ่งเป็นประการสำคัญที่สุด เพราะคนต้องมีอุดมการณ์ (Passion) ในการรื้อฟื้นภูมิปัญญา พรสวรรค์ตนเอง มาต่อยอด เพื่อให้ผ้ามีคุณภาพ ถูกใจผู้คน ประการถัดมาคือ “พัฒนาลวดลายผ้า” ด้วยการพระราชทานลายผ้า “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” หรือที่พี่น้องชาวนาหว้าและจังหวัดใกล้เคียง เรียกว่า ลายเจ้าฟ้า ลายเจ้าหญิง รวมถึงพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และยังได้ พระราชทานแนวคิดเรื่องการปรับโทนสีผ้าให้มีความร่วมสมัย เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย พร้อมทั้งนำเสนอเรื่องราวความเป็นมา  ให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้น อันเป็นการต่อยอดมูลค่าผ้าไทยให้สามารถสร้างรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของประชาชนรวมถึงสมาชิกในครอบครัวได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พระองค์ท่านได้พระราชทาน “กี่พระราชทาน” รวมทั้งเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ “นาหว้า โมเดล” เพื่อต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภูมิปัญญาผ้าไทยของชาวนาหว้า เป็นน้ำพระราชหฤทัยที่แสดงออกอย่างแน่วแน่ เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนโดยแท้" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ


     ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า พวกเราโชคดีที่เกิดมาบนแผ่นดินไทยที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ไม่เคยทอดทิ้งประชาชน ซึ่งตั้งแต่จำความได้ภาพที่เห็นจนชินตา คือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทุ่มเทพระวรกายทรงงานอย่างหนัก ออกเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนกว่า 70 ปี ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงชุบชีวิตผ้าไทยที่หายไปจากสังคมไทย โดยเมื่อครั้งเสด็จหัวเมือง ได้ทอดพระเนตรผ้าซิ่นที่ประชาชนทอด้วยตนเอง และทรงมีพระราชเสาวนีย์รับสั่งว่า สวยงาม และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ จึงเป็นที่มาของกลุ่มศิลปาชีพ บ้านนาหว้า



     "ภาพที่ชินตา คือ พระองค์ท่านจะทรงงานหนักมาก โดยเฉพาะเวลาทรงงานเรื่องผ้า จะทรงทอดพระเนตรหลายชั่วโมงมาก เพื่อทรงดูอย่างละเอียด ไม่มีพระราชินีพระองค์ไหนในโลกจะทรงงานหนักเท่าสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่นอกจากจะทรงรื้อฟื้นภูมิปัญญาผ้าไทยกลับคืนสู่สังคมไทยแล้ว ยังทรงนำผ้าไทยไปเผยแพร่สู่สายตาคนทั่วโลก ซึ่ง ณ ดินแดนนาหว้าแห่งนี้ เมื่อ 50 ปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้น เป็นอัตลักษณ์ วัฒนธรรมที่ต้องสืบสาน และเป็นบุญของแผ่นดินไทย ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานสืบสานด้วยพระปรีชาชาญ พระวิริยะ พระอุตสาหะ  ด้วยพระราชหฤทัยที่มุ่งมั่นมาก วันนี้เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการผ้าไทยที่ถือเป็นลมหายใจ เป็นชีวิตของผู้หญิง เป็นอนาคตของลูกหลาน โดยเครื่องหมายสัญลักษณ์พระราชทาน "นาหว้า โมเดล" จะมาเปลี่ยนแปลงให้ลูกหลานนาหว้าได้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน" ดร.วันดีฯ กล่าวเน้นย้ำ


       ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอเชิญชวนท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ได้เป็นผู้นำ เป็นแบบอย่างในการ “ผู้นำต้องทำก่อน” กลับไปเชิญชวนพี่น้องประชาชน เชิญชวนลูกหลานใส่ผ้าไทย เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ด้วยการร่วมกันสืบสาน รักษา ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย เพื่อน้อมถวายด้วยการปฏิบัติบูชา ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ใครคนหนึ่ง เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน


     คุณรติรส  จุลชาต ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระทัยที่มุ่งมั่น แน่วแน่ ในการขับเคลื่อนงานผ้าไทยใส่สนุก และส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นที่นิยมสู่สากล โดยพระราชทานแนวทางการใช้สีที่ร่วมสมัย เป็นเทรนตามแฟชั่นโลก โดยทรงซึมซับสมเด็จพระบรมราชชนนีในการเสด็จพระราชดำเนินไปติดตามการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนผู้ทอผ้า ซึ่งในปีนี้พระองค์จะทรงสืบสานพระราชปณิธานด้วยการรับโครงการศิลปาชีพมาทรงขับเคลื่อนแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 


     นายสมคิด จันทมฤก กล่าวว่า โครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี  โครงการศิลปาชีพ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาชุมชนต้นแบบบ้านนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ให้เป็นตัวอย่างชุมชนทอผ้าที่มีเอกลักษณ์ ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องผ้า การย้อม มาตรฐานเส้นใย และรวบรวมเป็นหนังสือนาหว้าโมเดล เพื่อเป็นต้นแบบขององค์ความรู้  ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นห่วงโซ่ในการพัฒนาตั้งแต่คนปลูกหม่อน เลี้ยงไหม คนทอผ้า จนถึงคนขายป้า ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อพี่น้องประชาชน และมุ่งมั่นกับเคลื่อนโครงการเพื่อต่อยอดขยายผลไปสู่คนรุ่นใหม่ อาทิ Young OTOP เป็นต้น


     คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ กล่าวว่า สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมและพัฒนาประชาชนผู้ทอผ้า ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่บ้านนาหว้าแห่งนี้ อันเป็นประวัติศาสตร์พื้นที่ที่ทุกท่านได้อยู่ร่วมกัน และเมื่อครบ 50 ปี ประวัติศาสตร์เหล่านั้น ก็ถูกสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และได้พระราชทานตราสัญลักษณ์ "นาหว้า โมเดล" ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบโดยนำภาพดอกจาน ที่บานในเดือนมกราคม สามารถย้อมสีธรรมชาติได้ เป็นดอกไม้พื้นถิ่นแถบอีสานเหนือมาจัดวางให้เป็นรัศมีของดวงอาทิตย์ เพื่อสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ที่เปล่งประกายสดใส ดอกจาน 10 กลีบ สื่อถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ออกแบบรัศมีของดอกจานให้วนขวา เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าและความเป็นมงคล ตัวอักษร S สองตัวตรงกลางซ้อนกัน หมายถึง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้พระราชทานโครงการศิลปาชีพฯ ให้แก่ปวงชนชาวไทย และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์ผู้สืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการศิลปาชีพฯ และภูมิปัญญาผ้าไทย ให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดิน และใช้โครงสี สีส้ม ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ และสีส้มที่สดใสของดอกจาน ยังหมายถึง ความมุ่งมั่น และพลังแห่งการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย ก้าวไกลสู่ระดับสากล   


     สุดท้าย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวว่า หัวใจความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแสดงถึงการที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรักพวกเราคนไทยเท่านั้น แต่เป็นความรักที่ยั่งยืน ด้วยทรงเห็นความยั่งยืนในการดูแลสิ่งแวดล้อมของโลก โดยขอให้พวกเราปลูกหม่อน เลี้ยงไหมเอง ปลูกฝ้ายเอง ใช้สีธรรมชาติ และช่วยกันสะสมองค์ความรู้เรื่องสีธรรมชาติและสิ่งที่ให้สีธรรมชาติ พึ่งพาตนเอง ทำให้โลกเราไม่ดับสลายไปเพราะภาวะโลกร้อน ไม่ทำให้สารเคมี ไม่ใช้เครื่องจักรที่ต้องใช้น้ำมันปลดปล่อยควัน ทำให้ดินเสีย น้ำเสีย เกิดภาวะโลกร้อน และที่สำคัญที่สุด ให้พวกเราได้มีโอกาสที่ดีของชีวิตในการที่จะมีรายได้ โดยทรงนำเอาเรื่องของหลักวิชาการสมัยใหม่ที่ทรงศึกษามาถ่ายทอดร่วมกับผู้เชี่ยวชาญผ้าไทยหลาย ๆ ท่าน ซึ่งจะทำให้เกิดแรงจูงใจแก่ลูกหลานในการสืบสานการทอผ้า ดังสัญลักษณ์ "นาหว้า โมเดล" ที่การหมุนของดอกจาน จะหมุนทวนเข็มนาฬิกา เป็นการหมุนที่ไม่มีวันสิ้นสุด หมุนไปสู่สิ่งที่ดี เป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคง เป็นการพระราชทานกำลังใจให้พวกเราได้ตระหนักถึงความรัก ความปรารถนาดี ที่พระองค์ท่านมีให้กับพวกเรา ทำให้พวกเรามีคุณภาพชีวิตที่ดีชั่วนิจนิรันดร์


     จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ มอบกี่พระราชทานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ให้แก่กลุ่มผ้าไหมบ้านท่าเรือ กลุ่มทอผ้าไหม ศูนย์หัตถกรรมวัดธาตุประสิทธิ์ และกลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการจัดแสดงผ้าทอ ผ้าพื้นถิ่น และให้กำลังใจในการมุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานให้เกิดความยั่งยืน

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล