X
โรคเมลิออยโดสิส ระบาดแล้วกว่า 300 ราย รักษาไม่ทัน ตายใน 2-3 วัน

โรคเมลิออยโดสิส ระบาดแล้วกว่า 300 ราย รักษาไม่ทัน ตายใน 2-3 วัน

24 มี.ค. 2565
2170 views
ขนาดตัวอักษร

ย่างเข้าปี 2565 ไม่ถึง 3 เดือน จากการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องของ กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยติดเชื้อ โรคเมลิออยโดสิส เพิ่มมากขึ้นกว่า 300 ราย โดยข้อมูลจากแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ ระบุถึงความรุนแรงของโรคว่า สามารถทำให้เสียชีวิตได้ ภายใน 2 - 3 วัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยโรคเมลิออยโดสิส มหาวิทยาลัยขอนแก่น รายงานว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2563 - 2564 พบมีผู้ป่วยติดเชื้อ โรคเมลิออยโดสิส มากกว่า 2,000 รายต่อปี และเมื่อเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว ไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ โดยอัตราการเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 40 และปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน โดยระหว่างปี 2553 - 2558 ประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ ที่มีผลเพาะเชื้อยืนยัน อย่างน้อยปีละ 1,700 ราย เสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 700 ราย ซึ่งโรคเมลิออยโดสิส สามารถติดเชื้อได้ ทั้งผ่านทางผิวหนัง, การกิน และการหายใจ เอาเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในร่างกาย อาจเป็นหนองบริเวณที่ติดเชื้อ, หากติดเชื้อที่ปอด อาจทำให้ปอดอักเสบ และทำให้มีฝีหนองในปอดได้ และจากกรณีศึกษาผู้ป่วย โรคเมลิออยโดสิส พบว่า เชื้อโรคนี้ สามารถซ่อนตัวอยู่ในร่างกายคน ได้นานนับ 10 ปี




โดยเว็บไซต์ กรมควบคุมโรค ได้เผยแพร่ การพยากรณ์โรค และภัยสุขภาพ รายสัปดาห์ ฉบับที่ 11/2565 ประจำสัปดาห์ที่ 12 (วันที่ 20 - 26 มี.ค. 65) เตือนประชาชน ให้ระวังการเจ็บป่วยจาก โรคเมลิออยโดสิส ซึ่งคนที่มีแผล ควรเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 6 มี.ค. 65 พบผู้ป่วย 339 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่ผู้ป่วยสูงสุด คือ อายุ 55 - 64 ปี รองลงมาคือ อายุ 45 - 54 ปี และอายุมากกว่า 65 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ มุกดาหาร, อำนาจเจริญ, ยโสธร, ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

การพยากรณ์โรค และภัยสุขภาพ ประจำสัปดาห์นี้ คาดว่า ในช่วงนี้ มีโอกาสจะพบผู้ป่วย โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) ได้ เนื่องจากปัจจัยแวดล้อม และพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งประชาชน สามารถติดเชื้อผ่านทางผิวหนัง หรือการสัมผัสดิน และน้ำ ที่มีเชื้อเป็นเวลานาน รวมถึงการกิน และการหายใจ เอาเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในร่างกาย

โรคเมลิออยโดสิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ซึ่งมีความทนทาน ต่อสภาพแวดล้อม สามารถเจริญเติบโต ได้ในภาวะเป็นกรด (pH 4.5 - 8) และอุณหภูมิระหว่าง 15 - 42 องศาเซลเซียส เมื่อได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ระยะฟักตัวประมาณ 1 - 21 วัน หรือบางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน

อาการ มีความหลากหลาย เช่น หากติดเชื้อทางผิวหนัง จะมีอาการเจ็บ, บวม, มีแผลเปื่อยสีขาวเทา และอาจเป็นหนอง หากติดเชื้อที่ปอด อาจเกิดจากการสูดดม อาจทำให้ปอดอักเสบ และทำให้มีฝีหนองในปอดได้ โดยอาการ ที่ปรากฏให้เห็น มีตั้งแต่ หลอดลมอักเสบชนิดไม่รุนแรง ไปจนถึงอาการของโรคปอดบวม ชนิดรุนแรง ร่วมกับ มีไข้ และไอ

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำ ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) ดังนี้

1. ผู้ที่มีบาดแผล ให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ, ย่ำโคลน หรือสัมผัสดิน และน้ำโดยตรง หากจำเป็น ให้สวมรองเท้าบูต, ถุงมือยาง, กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ และเมื่อเสร็จภารกิจ ให้รีบทำความสะอาดร่างกาย ด้วยน้ำสะอาดและสบู่

2. หากมีบาดแผล บริเวณผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาด ด้วยยาฆ่าเชื้อ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำ จนกว่าแผลจะแห้งสนิท

3. รับประทาน อาหารปรุงสุก, น้ำต้มสุก เป็นต้น

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร.1422




ทั้งนี้ Backbone MCOT ได้ตรวจสอบข้อมูล เกี่ยวกับแนวทางรักษา และวิธีป้องกัน โรคเมลิออยโดสิส พบว่า เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สนับสนุนทุนวิจัยแก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาระบบเฝ้าระวัง พยากรณ์ และผลิตภัณฑ์ลดเชื้อในดิน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ การบำบัดเสริมโรคเมลิออยด์ ลดอัตราการเสียชีวิต และลดค่าใช้จ่าย ในการรักษาผู้ป่วย

ศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเมลิออยโดสิส มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินโครงการระบบเฝ้าระวัง พยากรณ์ และผลิตภัณฑ์ลดเชื้อในดิน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเชื้อโรคดังกล่าว เป็นแบคทีเรีย ที่อาศัยอยู่ตามสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในดินและน้ำ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นส่วนมาก เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง เมื่อเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว ไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ โดยอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 40 และปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ระหว่างปี 2553 - 2558 ประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ ที่มีผลเพาะเชื้อยืนยัน อย่างน้อยปีละ 1,700 ราย เสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 700 ราย

ล่าสุดปี 2563 และ 2564 มีผู้ป่วย 2,793 และ 2,191 ราย ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ทั้งนี้ ทีมวิจัย ร่วมกับเครือข่ายวิจัยของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาชุมชนต้นแบบ หมู่บ้านหนองหญ้ารังกา อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น เพื่อเสริมสร้างความรู้ เน้นการป้องกันโรค และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ของชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงสูง ที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อ และสร้างโมเดล การพยากรณ์โรคต้นแบบ ชนิด web-based application โดยนำข้อมูลทางพันธุกรรม ของเชื้อจากทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม กว่า 500 ตัวอย่าง มาวิเคราะห์ สร้างโมเดล เพื่อทำนายพื้นที่ ที่จะพบเชื้อ

นอกจากนี้ ยังค้นพบแบคทีเรีย รูปแท่ง ไม่ก่อโรค ที่พบในดินธรรมชาติ แต่สามารถผลิตสาร ฆ่าเชื้อก่อโรคได้ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ 2 ชนิด

+ ชนิดแรก คือ สปอร์ของแบคทีเรีย เพื่อใช้ฉีดพ่นใส่ดิน ร่วมกับปุ๋ย ขณะปลูกข้าว หรือพืชอื่น ๆ ในแหล่งที่มีการพบเชื้อก่อโรคในดิน

+ และผลิตภัณฑ์อีกชนิด คือ การนำสารดังกล่าว มาผลิตเป็นสเปรย์ผิวที่กันน้ำ เพื่อใช้สเปรย์มือ และเท้า ป้องกันการติดเชื้อ มีประสิทธิภาพในการรักษา มากกว่าร้อยละ 98



อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่พบเชื้อดื้อยา หรือเชื้อสายพันธุ์ใหม่ อาจทำให้ประสิทธิภาพ การรักษาลดลง ทีมวิจัย จึงศึกษาสารเสริมฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ โดยใช้ เปปไทด์ต้านจุลชีพ ไคโตซานนาโน และแบคเทอริโอเฟจ โดยพบว่า สารทั้ง 3 ชนิด สามารถฆ่าเชื้อก่อโรคเมลิออยด์ ที่ดื้อยา และทำลายการสร้างแผ่นฟิล์มชีวภาพ (ไบโอฟิล์ม) ของเชื้อก่อโรคเมลิออยด์ได้ อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด ที่จะนำสารเสริมฤทธิ์นี้ มาพัฒนาเป็นครีมทาผิว ที่มีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ ฆ่าเชื้อก่อโรคเมลิออยด์ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ในห้องปฏิบัติการ และสัตว์ทดลอง เพื่อดูประสิทธิภาพของสาร และความปลอดภัย ก่อนที่จะนำไปทดสอบ กับอาสาสมัคร และนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้เสริมการรักษา ในประชากรของชุมชน ที่มีการแพร่ระบาดของ เชื้อก่อโรคเมลิออยด์ต่อไป




นอกจากผลิตภัณฑ์ ที่เป็นนวัตกรรมในการฆ่าเชื้อ โรคเมลิออยโดสิส จากงานวิจัยของ ศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน ผอ.ศูนย์วิจัยโรคเมลิออยโดสิส มหาวิทยาลัยขอนแก่น ...Backbone MCOT มีข้อมูลที่เป็นกรณีตัวอย่าง ของผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส ซึ่งเชื้อโรคนี้ อาจมีการซ่อนตัวอยู่ในคนเรา ได้นานหลายสิบปี

โดยข้อมูลจาก นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าหน่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หัวหน้าห้อง ICU โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ถึงเรื่องของโรคเมลิออยโดสิส เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 เปิดเผยว่า

โรคเมลิออยโดสิส แสดงอาการหลังรับเชื้อ ผ่านทางผิวหนัง จากการย่ำดินย่ำน้ำ ในภาคอีสาน เมื่อ 10 ปีก่อน ผู้ป่วยชายไทย อายุ 53 ปี คนกรุงเทพฯ มาโรงพยาบาลด้วยไข้สูง, ซึม, อ่อนเพลีย 3 วัน เพิ่งทราบว่า เป็นโรคเบาหวาน อาชีพทำงานก่อสร้าง เคยทำงานย่ำดิน ย่ำน้ำ บางครั้งไม่ได้ใส่รองเท้า ในจังหวัดร้อยเอ็ด, สุรินทร์, บุรีรัมย์ นาน 10 ปี แต่เลิกทำงานในภาคอีสาน 10 ปีแล้ว

ตรวจร่างกายคนไข้ มีอาการซึม, ความดันต่ำ, ตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวต่ำ, เกล็ดเลือดต่ำ, การทำงานของไต, ตับผิดปกติ, ไตเริ่มล้มเหลว, เอกซเรย์ปอดผิดปกติ, มีปอดอักเสบที่ปอดขวาด้านล่าง

เพาะเชื้อในเลือด และปัสสาวะ ขึ้นเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ได้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด คนไข้ดีขึ้น การทำงานของตับ, ไต เอกซเรย์ปอด กลับมาเป็นปกติ นอนรักษาในโรงพยาบาล 5 สัปดาห์ และกินยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง ที่บ้านอีก 20 สัปดาห์ ในที่สุด หายเป็นปกติ

ผู้ป่วยรายนี้ เป็นโรคเมลิออยโดสิส (Meliodosis) คงรับเชื้อโรคผ่านทางผิวหนัง เมื่อทำงานก่อสร้าง ย่ำดิน ย่ำน้ำ เท้าเปล่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เชื้อนี้ สงบนิ่งอยู่ในร่างกายนาน 10 ปี เมื่อผู้ป่วยเริ่มเป็นเบาหวาน เชื้อแบ่งตัวใหม่ออกมาในกระแสเลือด

มีรายงานเชื้อนี้ สามารถอยู่ในร่างกายของคน นานถึง 62 ปีโดยไม่มีอาการ แต่เมื่อร่างกายอ่อนแอ เชื้อนี้กำเริบ แบ่งตัวใหม่เข้ากระแสเลือด เหมือนผู้ป่วยรายนี้




ด้านข้อมูลจาก อ. นพ.ประวัฒน์ จันทฤทธิ์ สาขาวิชาอายุรศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ว่า

โรคเมลิออยโดสิส เป็นโรคติดเชื้อ ที่ในประเทศไทย ยังคงเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ความรุนแรงของโรค ทำให้เสียชีวิตได้ หากติดเชื้อในกระแสเลือด จึงควรทำการศึกษาร่วมกัน เพื่อทำความเข้าใจ และปฏิบัติตนให้เหมาะสม


โรคเมลิออยโดสิส เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อ Burkholderia pseudomal lei (B. pseudomallei) ก่อให้เกิดอาการ หลายลักษณะ ได้แก่ ติดเชื้อที่ผิวหนัง ติดเชื้อในปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในอวัยวะภายใน (ตับ, ไต, สมอง, กระดูก)

การติดเชื้อผ่านทางผิวหนัง อาจทำให้เกิดอาการแผลเรื้อรัง เกิดฝี หรือ หนองตามผิวหนัง และอาจมีตุ่มขึ้น เป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรีย หากรับเชื้อผ่านทางน้ำลาย เช่น การรับประทาน จะทำให้ติดเชื้อ ที่ต่อมน้ำลาย มีลักษณะบวมขึ้นมา เป็นฝี หรือหนอง หรืออาจบวมบริเวณ ต่อมน้ำเหลืองที่คอ มีอาการกดเจ็บได้

การติดเชื้อในปอด จะทำให้มีอาการไข้ขึ้น และอาการทางเดินหายใจ, ไอ, มีเสมหะ หากนำเสมหะ มาตรวจดู อาจพบเชื้อได้ และหากเอกซเรย์ที่ปอด อาจพบก้อนหนอง บางครั้งแพทย์ สับสนระหว่างวัณโรค

การติดเชื้อในกระแสเลือด เชื้อสามารถเข้าทางผิวหนัง หรือ ปอด เช่น กรณีที่มีบาดแผล เชื้ออาจเข้าทางบาดแผล และติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผู้ป่วย จะมีอาการไข้, ความดันโลหิตต่ำ, ช็อก, เป็นฝีในตับ หรือในม้าม สามารถเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 วัน หากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง นอกจากการติดเชื้อ ตามที่กล่าวมา ยังมีการติดเชื้อชนิดเรื้อรัง อีกหนึ่งประเภท ในโรคเมลิออยโดสิส


ความอันตราย ของโรคเมลิออยโดสิส คือ การวินิจฉัยโรคช้าเกินไป ทำให้รักษาไม่ทันเวลา ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตตามมา เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด การเกิดภาวะไตวาย หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ทำให้อวัยวะอื่น ทำงานบกพร่องไป การได้รับยาไม่ถูกชนิด เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคได้

ตัวเชื้อ สามารถเข้าสู่ร่างกาย ได้หลายทาง ได้แก่ ผ่านทางผิวหนัง เช่น หากมีบาดแผล และเดินบนดิน หรือน้ำ ที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ผ่านทางลมหายใจ กรณีที่มีการฟุ้งของฝุ่น หรือดิน ที่มีเชื้ออยู่ และสูดดมเข้าไป ก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ปอด จะส่งผลให้เกิดอาการ ปอดอักเสบ

ในคนดูแลผู้ป่วย ที่เป็นโรคเมลิออยโดสิส หากสัมผัสไปโดนสารคัดหลั่ง ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ รวมถึงผู้ที่ดูแลวัว หรือควาย ซึ่งเป็นสัตว์ ที่สามารถป่วย เป็นโรคเมลิออโดสิสได้ มีความเสี่ยงเช่นกัน สำหรับเชื้อที่อยู่ในซากสัตว์ ที่ตายไปแล้ว และถูกฝัง เชื้อจะคงอยู่ในดินบริเวณนั้น และอยู่ตลอดไป หากมีการสัมผัสที่ดินบริเวณนั้น ก็มีโอกาสได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย


กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ผู้ป่วยโลหิตจาง หรือทาลัสซีเมีย, ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเอชไอวี รวมถึง คนไข้โรคมะเร็งบริเวณต่าง ๆ และกลุ่มเกษตรกร ที่ต้องสัมผัสกับดิน และน้ำ ด้วยเท้าเปล่า

ขอแนะนำ คือ พยายามสวมใส่รองเท้าบูต หากเป็นไปได้ หรือถ้าหากหลีกเลี่ยง การเดินเท้าเปล่าบนดิน และน้ำไม่ได้ พยายามอย่าปล่อยให้เท้ามีบาดแผล และควรทำความสะอาดให้ดี หลังเดินบนดินและน้ำ หากมีไข้ควรรีบพบแพทย์ แต่แรกอย่าปล่อยทิ้งไว้นาน เพื่อการรักษาที่ทันเวลา ป้องกันอาการรุนแรง ที่เป็นอันตราย

โรคเมลิออยโดสิส สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการวินิจฉัยถูกต้อง ตั้งแต่ระยะแรก รักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะใน 2 สัปดาห์แรก ด้วยวิธีฉีด หลังจากนั้น แพทย์จะให้ยาชนิดกิน ต่อไปเป็นเวลา 5 เดือน หากมีภาวะแทรกซ้อน อาจให้ยาเพิ่มขึ้น ตามความเหมาะสม



อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : กรมควบคุมโรค
https://ddc.moph.go.th

เฟซบุ๊ก : นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์
หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC


เว็บไซต์ : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
https://thainews.prd.go.th

เว็บไซต์ : มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
https://www.rama.mahidol.ac.th

เว็บไซต์ : มหาวิทยาลัยขอนแก่น
https://th.kku.ac.th

เว็บไซต์ : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
https://www.pidst.or.th


เอกสารเผยแพร่ : องค์ความรู้ (Factsheet) เรื่อง โรคติดต่ออุบัติใหม่
โรค เมลิออยโดสิส (MELIOIDOSIS) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า Burkholderia pseudomallei อาการของโรค มีหลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีอาการเลย หรือ มีจุดที่ปอด แต่ไม่แสดงอาการ จนถึงมีฝีที่ผิวหนัง ฝีที่อวัยวะภายใน เนื้อเยื่อปอดอักเสบตาย หรือติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิต
เปิดอ่าน คลิกที่นี่ >> องค์ความรู้ (Factsheet) เรื่อง โรคเมลิออยโดสิส (MELIOIDOSIS)




อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล