4 เม.ย.68 - เปิดผลศึกษาชุมชน พบวัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ ถึงร้อยละ 38 เกินครึ่งรู้แหล่งซื้อในชุมชน ห่วงเด็กหญิงไทยสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น 8 เท่า เลิกยาก เสี่ยงตอนตั้งท้องทารกตายในครรภ์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ครอบครัวปลอดบุหรี่ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กลุ่มไม้ขีดไฟ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ “บุหรี่ไฟฟ้ามันร้าย” พร้อมเสวนา “สงกรานต์นี้เลิกเถอะ...หยุดเอาควันบุหรี่ไฟฟ้าไปฝากคนที่บ้าน” จากนั้นผู้ร่วมงานได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์และข้อห่วงใย “พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้า”
นายธนภัทร แสงหิรัญ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ภาคอีสาน กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นกลุ่มตัวอย่าง 1,435 คน ใน 12 พื้นที่ชุมชนทั่วประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีช่วงอายุระหว่าง 10-20 ปี โดย 86.3% รู้จักบุหรี่ไฟฟ้า 38.3% มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 53.0% มีคนรอบตัวสูบบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ เพื่อน ญาติ คนที่เคารพ พ่อแม่ และครู ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่าง 51.7% รู้แหล่งซื้อบุหรี่ไฟฟ้าในชุมชน ในขณะที่ 48.3% ไม่รู้ และกว่า 91.3% พบว่าเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้โดยง่าย และเมื่อถามว่าการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนมีปัญหาต่อชุมชนหรือไม่ พบว่า 47.9% เห็นว่าเป็นปัญหามาก และ 39.7% เริ่มมีปัญหา
จากการลงไปทำงานในพื้นที่กับกลุ่มเด็กและเยาวชน จะเห็นได้ว่าคนรอบตัวทั้งเพื่อน ครอบครัว และชุมชนมีส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่แปลกที่น้องๆ เด็กๆในชุมชนจะมีเปอร์เซ็นที่การสูบบุหรี่เยอะ ด้วยวัยที่กำลังอยากรู้ อยากลอง สิ่งที่เราทำได้คือนำข้อมูลจากคุณหมอหรือหน่วยงานที่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือไปสื่อสารกับน้องๆ โดยใช้กลไกของโรงเรียนเป็นพื้นที่จัดกระบวนการเสริมสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และลงพื้นที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง จนส่วนหนึ่งกล้าถอยห่างจากบุหรี่ไฟฟ้าและมาเป็นผู้สื่อสารโทษของบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเพื่อนๆ ต่อไป แต่ที่กังวลคือน้องๆ บางคนอยากเลิก หรือปฏิเสธบุหรี่ไฟฟ้า แต่คนในครอบครัวยังสูบปกติ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจังในตอนนี้ เราจึงเตรียมจะเก็บข้อมูลในแต่ละพื้นที่อีกครั้งเพื่อดูผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นายทรงพล จิรอัศวแก้ว ผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์ กล่าวว่า ตนเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่มวนมาเป็นบุหรี่ไฟฟ้าได้ 3 ปี เพราะราคาบุหรี่ไฟฟ้าถูกกว่า โดยบุหรี่มวนที่เคยสูบตกวันละ 80 บาท แต่บุหรี่ไฟฟ้าราคาตกอยู่ที่อาทิตย์ละ 100-200 บาท คนในครอบครัว คนใกล้ตัวก็ไม่ค่อยชอบทั้งกลิ่น และสารเคมี ตอนนี้กลุ่มเพื่อนๆ ที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็เลิกกันหมดแล้ว เพราะเห็นว่าส่งผลเสียต่อร่างกาย จนกระทั่งตนได้เจอกับตัวเอง ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะติดเชื้อในกระแสเลือด ลามไปกระเพาะ แล้วลงไปอัณฑะ หมอบอกว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนอย่างมากกับอาการป่วยในครั้งนี้ ตนจึงตัดสินใจที่จะเลิกสูบ และอยากจะบอกกับคนที่ยังสูบอยู่ และกำลังจะกลับไปเจอครอบครัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้า ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งของตัวท่านเอง
อีกทั้งควันยังลอย หรือติดตามเสื้อผ้าและส่งผลเสียต่อคนใกล้ชิดได้อีกด้วย โดยเฉพาะเด็กๆ คนสูงอายุ อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ลองคิดดูว่าเราจากบ้านมาทำงานเก็บเงินตั้งใจกลับไปหาคนที่เรารัก ไปทำอาหารกินข้าวด้วยกันแต่เรากลับเอาสิ่งไม่ดีไปทำร้ายพวกเขา ผมเคยผ่านจุดนั้นมา เคยมั่นใจว่าควันจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตรายต่อตัวเองและคนอื่นซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมากๆ
“ตัวผมเองตอนนี้ก็พยายามเลิกให้เด็ดขาด มันราคาถูกจริง แต่พอเราเป็นอะไรมาไม่คุ้มกับร่างกาย และคนรอบข้าง พอหยุดบุหรี่ไฟฟ้าผมแข็งแรงขึ้น ไม่ไอ เพราะมันไอหนักมากในตอนนั้นผมรับประกันได้เลย นิโคตินมีหมดทั้งในบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า แต่ในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารบางอย่างที่มันไม่ดีต่อร่างกาย ผมถึงขนาดติดเชื้อในกระแสเลือด บางคนติดเชื้อที่ปอด อยากเชิญชวนคนที่อยากเลิกใช้โอกาสสงกรานต์นี้เริ่มต้นก็น่าจะดี”
•
นางสาวจาด้า อินโตร์เร นักแสดง กล่าวว่า ปัจจุบันคน ยังมีความเชื่อความคิดแบบเก่าๆ ว่า บุหรี่ไฟฟ้าสูบได้ไม่อันตราย ขณะที่ การให้ความรู้เพิ่มเติมว่ามีอันตราย ในปัจจุบันจะมีการพูด แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้คนรับรู้ถึงอันตรายนั้น โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งตนทำงานกับเด็กวัยรุ่นรู้สึกว่า ตอนนี้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นแฟชั่นหาซื้อได้ง่าย และการวิจัยระยะยาวที่บอกว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรงก็ยังไม่มากพอ ทั้งนี้คิดว่า การสูบบุหรี่ในวัยเด็กมันก็จะเข้าสู่ผู้ใหญ่ การที่บุหรี่ไฟฟ้า มีรสชาติหอมหวาน เหมือนเป็นการ เคลือบแฝงว่ามันดี สูบได้ในที่สาธารณะ ส่งผลกระทบให้คนที่ไม่สูบได้รับความบุหรี่มือสองตามไปด้วย ทั้งนี้ย้ำว่าขึ้นชื่อว่าเป็นบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าย่อมเกิดโทษอยู่แล้วดังนั้นขอฝากทุกคนว่าช่วงเวลาสงกรานต์เป็นเวลาแห่งครอบครัว ไม่อยากให้นำบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้า กลับไปที่บ้านเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีกับตัวเองและครอบครัวด้วย
•
ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผอ.ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านยาสูบ กล่าวว่า ผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้ารุนแรงมาก ทั้งปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) ทำลายเนื้อปอดจนขาว หากเข้าไอซียูโอกาสจะฟื้นฟูกลับมายากมากยิ่งปัจจุบันพบเด็กป่วยอายุน้อยลงเรื่อยๆ แค่ 11 ขวบก็ปอดรั่ว ป่วยหนักเข้าไอซียู ยิ่งปัจจุบันพบว่ามีการทำพอตเป็นรูปการ์ตูนนั่นแปลว่าเขาพุ่งเป้าไปที่เด็กแน่นอน และจากการศึกษายังพบด้วยว่า เด็กผู้หญิงสูบมากกว่าผู้ชาย เพราะเห็นว่ามีกลิ่นหอมเย้ายวนโดยไม่ต้องใช้น้ำหอม โดยเด็กผู้หญิงที่สูบ 20% เคยสูบ 72% ส่วนผู้ชายสูบ 68% และจากผลสำรวจระดับชาติกลุ่มอายุ 13-15 ปี ในปี 2558 ทั้งสองเพศ มีเด็กสูบบุหรี่แค่ 3.3% พอปี 2565 เพิ่มเป็น 17.6% เมื่อจำแนกตามเพศ พบผู้ชายแม้จะสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่า 20% จากปี 2565 ในขณะที่ผู้หญิงอยู่ที่ 15% แต่ดูจากสัดส่วนการเพิ่มขึ้นผู้ชายเพิ่มขึ้น 4 เท่า แต่เด็กผู้หญิงเพิ่มขึ้น 8 เท่า
•
“ในไอของบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน นอกจากนี้ยังมีสาร Vegetable กรีเซอร์รีน วิตามินอี โพรไพกอน วิตามินดี ฟังเหมือนดูดีหากเอามารับประทานหรือพาบำรุงผิว แต่ถ้าลงไปสู่ปอดก็จะกลายเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะไปเกาะกับสารแต่งกลิ่นต่างๆ รวมทั้ง โลหะหนักในบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้มีอนุภาคที่เล็กกว่า PM 2.5 คือ pm 1.0 จึงไม่น่าสงสัย ส่วน Pm 2.5 พบค่าสูงถึง 220 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่บุหรี่มวนอยู่ที่ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร”
•
สารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าจะกระตุ้นประสาท ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ทำให้เกิด Stroke ยิ่งนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า 1 พอร์ตเท่ากับบุหรี่มวน 20 มวน หากสูบมากทำให้หัวใจหยุดเต้น ปอดอักเสบเรื้อรัง หากเด็กเล็กได้รับจะยิ่งเสี่ยงมากเพราะอวัยวะทุกส่วนยังไม่เติบโตเต็มที่ สมองสั่งการช้า คิดช้า พูดช้า อารมณ์ร้อน ฉุนเฉียว เสี่ยงเป็นซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และระยะหลังพบเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ฮอร์โมนเพศชายลด อัณฑะเล็กลง สมรรถภาพทางเพศเสื่อมถอย ก่อโรคหัวใจ ก่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เรากังวลคือหญิงตั้งครรภ์ ยิ่งผู้หญิงเริ่มสูบในช่วงอายุน้อย มีงานวิจัยว่า เลิกยากกว่าผู้ชาย เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ พอตั้งครรภ์ก็จะเลิกสูบยาก แล้วนิโคตินจะส่งผ่านรถถึงทารกในครรภ์ด้วย เสี่ยงรกเกาะต่ำ เสียงทารกเสียชีวิตในครรภ์ หากคลอดออกมาก็จะมีน้ำหนักตัวน้อย
•
ด้าน นายวีรวิชญ์ ช้างแรงการ อดีตผู้เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าและได้รับผลกระทบด้วยตัวเอง กล่าวว่า เมื่อก่อนตนสูบบุหรี่มวน พอมีลูกก็ยังไม่คิดเลิก เพียงแต่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน และเปลี่ยนรูปแบบการสูบตามเทรนด์ และรู้สึกไม่พอใจการรณรงค์ มองว่าทำไมต้องมาโจมตีบุหรี่ไฟฟ้าทั้งๆ ที่ก็เป็นนิโคตินเหมือนกัน กระทั่งตนเริ่มเข้าสู่วงการวิ่ง ก็รู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็วมาก ระคายคอขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เลิกสูบ กลับเปลี่ยนมาเป็นการสูบบุหรี่มวนแทน แต่จนสุดท้ายตนรู้สึกเฉยๆ กับบุหรี่ ไม่สูบก็ได้ ยอมรับว่าไม่มีความคิดเลิก และคิดว่า ถ้าใจเราไม่อยากเลิก มันก็เลิกไม่ได้ และก็ยอมรับด้วยว่า วันนี้เพิ่งรู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายขนาดนี้ และที่ติดใจมากคือการที่มันทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ถึงขั้นเซ็กส์เสื่อม