X
“พระนอน” วัดโพธิ์ ซ่อนความหมายมงคล 108 ประการ จากสมัยพุทธกาล

“พระนอน” วัดโพธิ์ ซ่อนความหมายมงคล 108 ประการ จากสมัยพุทธกาล

30 ต.ค. 2567
3880 views
ขนาดตัวอักษร

30 ต.ค.67 – ฝ่าพระบาทพระพุทธไสยาสน์ วัดโพธิ์ ส่งต่อความหมายของมงคล 108 ประการ จากสมัยพุทธกาลสู่ปัจจุบัน และพลาดไม่ได้กับเคล็ดลับในการขอพร ที่ต้องบอกว่า เอ่อ…แปลกดี!


หนึ่งในวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาบ่อยมากๆ อันดับต้นๆ ของกรุงเทพฯ นั้นก็คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือเรียกกันแบบคุ้นชินว่า “วัดโพธิ์” วัดแห่งนี้โดดเด่นมากในเรื่องของความเป็นต้นตำรับของศาสตร์ของการนวดไทย แต่ไม่ได้มีดีแค่เรื่องของศาสตร์ในเรื่องนวดไทยเท่านั้น แต่วัดโพธิ์ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกมาก หนึ่งในนั้น ก็คือ “พระพุทธไสยาสน์” หรือ พระนอน วัดโพธิ์ นอกจากเป็นพระพุทธรูปสีทองอร่ามมีความวิจิตรงดงามแล้ว พระองค์นี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจซ่อนอยู่?

ฝ่าพระบาทพระพุทธไสยาสน์

ฝ่าพระบาทของพระพุทธไสยาสน์ วัดโพธิ์ ใครที่เคยได้เห็นต้องหลงไหลมในความวิจิตรของช่างฝีมือ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวบรรจงลงลวดลายฝังมุกลงที่ฝ่าพระบาทจนเป็นพุทธศิลป์ที่งดงาม ที่สำคัญฝ่าพระบาทนี้ยังมีความหมายดีๆ แฝงอยู่อีกด้วยว่าด้วย เพราะฝ่าพระบาทพระพุทธไสยาสน์ ได้จารึก “มงคล 108 ประการ” เอาไว้ด้วย ข้อมูลจากส่วนการท่องเที่ยว สำนักงานวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร บอกไว้ว่า ความหมายของลวดลายมุกที่ประดับบนฝ่าพระบาทเอาไว้ โดยระบุว่าที่ฝ่าพระบาทของพระพุทธไสยาสน์ สลักลวดลาย และมีการประดับมุกไว้ทั้ง 2 ข้าง เป็นรูป “อัฎฐตดรสตมงคล” หรือหมายถึง “มงคล 108 ประการ” เป็นคติที่ปรากฏในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาของลังกา โดยระบุว่าเป็นมงคลที่พราหมณ์ได้เห็นจากฝ่าพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อทรงประสูติได้ 5 วัน 


โดยลวดลายมงคล 108 ประการ ได้สืบทอดมาจากรูปมงคลประกอบสัญลักษณ์มงคลต่าง ๆ ที่แบ่งได้ดังนี้

1. เป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์ เช่น หม้อน้ำ ปลาคู่ สวัสดิกะ พวงมณี ดอกบัวเป็นต้น

2. เป็นเรื่องประกอบพระบารมีของกษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิราช เช่น สัตตรัตนะ 7 ประการ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ บัลลังก์ เครื่องสูง เครื่องยศ เครื่องต้นต่าง ๆ และราชพาหนะ เป็นต้น

3. เป็นส่วนประกอบของภพภูมิในจักรวาลตามความเชื่อในไตรภูมิ เช่น ทวีปทั้ง 4 เขาพระสุเมรุ เขาสัตตบรภัณฑ์ ป่าหิมพานต์ เป็นต้น


อธิษฐานจิตขอพร

มงคล 108 ประการ เชื่อว่าหากได้กราบไหว้บริเวณปลายเท้าและอธิษฐานจิตจะมีความร่มเย็นเป็นสุข มีโชคมีลาภการงาน มีความสำเร็จ และสมหวังในเรื่องของความรักอีกด้วย ตามประวัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ หรือวัดโพธิ์ ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2375 ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า พระพุทธรูปปางสำคัญได้สร้างขึ้นในวัดนี้หลายปางแล้ว ขาดแต่ปางไสยาสน์เท่านั้น จึงเป็นจุดกำเนิดในการสร้าง “พระพุทธไสยาสน์” ขึ้นมา โดยประดิษฐานในพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ บริเวณมุมกำแพงทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดโพธิ์แห่งนี้ ถูกยกย่องว่าเป็นพระนอนองค์ใหญ่ที่มีความงดงามเป็นเอกในบรรดาพระนอนด้วยกัน อีกทั้งเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเชื่อว่าหากได้มากราบไหว้จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข จากนี้ยังมีความเชื่อจากศาสตร์แห่งตัวเลขโดยผู้ที่อายุย่างเข้าเลข 3 หากไปขอพรเรื่องความรักกับพระนอนวัดโพธิ์ มักจะสมหวังอีกด้วย

ที่สุดในกรุงเทพฯ “เป็นเคล็ดลับที่ต้องบอกได้เลยว่า เอ่อ…แปลกดี!”


ที่สุดในกรุงเทพฯ

พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอนวัดโพธิ์ นับว่าเป็นพระนอนที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศ โดยมีขนาดองค์พระยาว 46 เมตร สูงจากพื้นถึงยอดพระเกตุมาลา 15 เมตร เฉพาะพระพักตร์จากไรพระศกถึงพระหนุ (คาง) ยาว 5 เมตร กว้าง 2.5 เมตร และพระพุทธบาท ยาว 5 เมตร สูง 3 เมตร


จิตรกรรมฝาผนัง พระวิหารพระพุทธไสยาส

พระวิหารพระพุทธไสยาส ยังมีจิตรกรรมฝาผนังที่บันทึกสรรพวิชารายล้อมรอบตัวพระวิหารตามแบบไทยประเพณี  ซึ่งมีสรรพวิชาความรู้ดังต่อไปนี้

1. ผนังระหว่างช่องหน้าต่างและประตู ที่เรียกว่า "ห้อง" มี 32ห้องเขียนภาพเรื่อง เอตทัคคะในพระพุทธศาสนาต่อจากเรื่องที่เขียนในพระอุโบสถตามจารึกที่ติดบอกไว้ (แต่มีหลุดหายไปบ้าง) ได้แก่เรื่อง พระสาวิกาเอตทัคคะ ที่เป็นภิกษุณี 13 องค์ อุบาสกเอตทัคคะ 10 คนและอุบาสิกาเอตทัคคะ 10 คน

2. ผนังเหนือบานประตูและหน้าต่าง เขียนเรื่องมหาวงศ์ พงศาวดารลังกาทวีป คือประวัติราชวงศ์ และพระพุทธศาสนาในลังกา ตั้งแต่ต้นเรื่องกำเนิดพระเจ้าสีหพาหุ จนถึงพระเจ้าอภัยทุฏฐคามินีรบชนะทมิฬได้ครอบกรุงอนุราธปุระ

3. คอสอง เขียนเรื่องสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และการรบระหว่างเทวดาและ อสูร เรียกว่า เทวาสุรสงคราม

4. บานประตู ด้านนอกเขียนลายรดน้ำลายผูกอาวุธ เป็นภาพเครื่องศัตราวุธโบราณ ด้านในสีน้ำมันพื้นสีแดงเป็นรูปพระยานาคราช

5. บานหน้าต่าง ด้านนอกเขียนลายรดน้ำ เป็นภาพเครื่องศัสตราวุธโบราณ ด้านในเขียนภาพสีน้ำมันลายดอกพุดตานก้านแย่ง

6. พื้นที่ส่วนบนและส่วนล่างของบานประตูและบานหน้าต่างด้านนอก เป็นภาพเบ็ดเตล็ต ตอนบนส่วนหนึ่งเป็นภาพตำราดาว คือ กลุ่มดาวนักษัตรประจำเดือนทางสุริยคติ (เหมือนกับภาพเขียนในหอไตรกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส) ภาพนิทานชาดกและวรรณคดีไทย เช่นเดียวกับตอนล่าง เช่นเรื่อง รามเกียรติ์พระสุธน – มโนรา พระลอ ไกรทอง กากี และ เรื่องในคัมภีร์มหาวงศ์ บางตอน ฯลฯ

ขอบคุณข้อมูลจาก :

วัดพระเชตุพนฯ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

กรุงเทพมหานคร



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2024 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)