X
โชว์ฟีเจอร์ใหม่ GIS รับมือวิกฤตฝุ่น PM 2.5 พยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน

โชว์ฟีเจอร์ใหม่ GIS รับมือวิกฤตฝุ่น PM 2.5 พยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน

27 พ.ย. 2567
3670 views
ขนาดตัวอักษร

27 พ.ย.67 - ESRI Thailand โชว์ฟีเจอร์ GIS รับมือวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ร่วมกับสภาลมหายใจกรุงเทพฯ เปิดตัวแอปฯ แสดงผลดัชนีฝุ่นแบบเรียลไทม์ พร้อมพยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน


บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) พัฒนาโซลูชันเพื่อความยั่งยืน ตั้งเป้าดันเทคโนโลยี GIS ขึ้นแท่นฮับหลักในการบูรณาการข้อมูล และรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่นร่วมกับ สภาลมหายใจกรุงเทพฯ โชว์แพลตฟอร์มอัจฉริยะที่ประยุกต์ใช้จาก GIS แสดงผลดัชนีจุดความร้อนและค่าการระบายฝุ่นแบบเรียลไทม พร้อมพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 7 วัน หนุนการป้องกันและรับมือปัญหา Climate Change อย่างยั่งยืน

บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม Location Intelligence จับมือร่วมกับสภาลมหายใจกรุงเทพฯ (Breathe Bangkok) เปิดตัวแอปพลิเคชัน “เตะฝุ่น” นวัตกรรมอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยี GIS ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วประเทศ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาประยุกต์ใช้อย่างตรงจุด ในการวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลฝุ่น PM2.5 โดยตรง พร้อมติดตามสถานะการระบายฝุ่น และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น จุดความร้อน (Hotspot) และดัชนีการระบายอากาศแบบเรียลไทม์ รวมถึงคาดการณ์ค่าการระบายอากาศและจุดเผาไหม้ล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน นำเสนอในรูปแบบแผนที่ดิจิทัลผ่านเว็บไซต์ www.taefoon.com ซึ่งช่วยให้ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างง่ายดาย ช่วยยกระดับการติดตามและจัดการปัญหาฝุ่นอย่างมีประสิทธิภาพ  โปร่งใส และตอบโจทย์การบริหารจัดการอย่างยั่งยืน


ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธานบริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงเป้าหมายของบริษัทว่า “Esri มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยี GIS เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน โดยร่วมมือกับสภาลมหายใจกรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง โดยโซลูชันนี้ช่วยให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อาทิ การเกษตรและการผลิต สามารถวิเคราะห์และจัดการการปล่อยมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการสะสมในชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ ธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น เช่น การท่องเที่ยว ยังสามารถใช้ข้อมูลเพื่อวางแผนลดความเสี่ยง และสร้างความพร้อมในการให้บริการอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันภาคประชาชน สามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์และเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพ

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ กล่าวเสริมว่า “สภาลมหายใจกรุงเทพฯ มุ่งมั่นในการสร้างความตระหนักรู้และให้ข้อมูลแก่ภาคประชาสังคมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาด โดยเราเข้าใจดีว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งขึ้นอยู่กับการเผาไหม้และความสามารถของบรรยากาศในการระบายฝุ่น เป็นปัญหาที่ต้องการการจัดการที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุม แอปพลิเคชัน 'เตะฝุ่น' ที่พัฒนาร่วมกับ Esri Thailand ช่วยให้เราสามารถติดตามอัตราการระบายอากาศในแต่ละพื้นที่และพยากรณ์ล่วงหน้าได้

เทคโนโลยี GIS จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและลดผลกระทบจากมลพิษได้อย่างเหมาะสม เราพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกภาคส่วนผ่านโครงการ ‘เคาท์ดาวน์ PM2.5’ เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหามลพิษอย่างเป็นรูปธรรม และมุ่งมั่นที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีอากาศสะอาด น่าอยู่ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนทุกคน”

แอปพลิเคชัน “เตะฝุ่น” เป็นผลจากการบูรณาการข้อมูลสภาพอากาศและฝุ่น PM2.5 โดยใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ซึ่งสามารถแสดงข้อมูล เช่น ความเข้มข้นของฝุ่น อัตราระบายอากาศ (Ventilation Rate) และจุดความร้อนในรูปแบบแผนที่ดิจิทัล (Map Visualization) ที่ทั้งแม่นยำและเข้าใจง่าย เพื่อช่วยให้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถวางแผนรับมือกับมลพิษทางอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยกระดับการกำกับดูแลใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่

1. ด้านสิ่งแวดล้อม: ลดการกระจุกตัวของการเผาไหม้ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้นและลดความเสี่ยงจากมลพิษที่สูงเกินมาตรฐาน

2. ด้านสังคม: ส่งเสริมการวางแผนการเผาไหม้อย่างเหมาะสม ลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และช่วยให้ชุมชนสามารถติดตามและเตรียมตัวรับมือกับปัญหาฝุ่นได้ดีขึ้น

3. ด้านการบริหารจัดการ: ข้อมูลที่เข้าถึงได้อย่างโปร่งใสส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทำให้การจัดการคุณภาพอากาศเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ

“แอปพลิเคชัน ‘เตะฝุ่น’ ถือเป็นก้าวสำคัญของ Esri ในการขยายศักยภาพการใช้เทคโนโลยี GIS เพื่อประโยชน์ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยโครงการนี้ไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ข้อมูล แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศได้ง่าย ๆ ช่วยให้พวกเขาเตรียมความพร้อมและปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากมลพิษต่อสุขภาพ เราหวังว่าโครงการนี้จะสามารถขยายผลร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ที่มุ่งมั่นสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคที่ก้าวหน้า เพื่อสังคมที่มีอากาศสะอาดและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน”

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2024 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)