X
115 ปี วันสวรรคตซูสีไทเฮา ผู้สร้างตำนานหงส์เหนือมังกร สตรีผู้ยิ่งใหญ่เหนือแผ่นดินจีน

115 ปี วันสวรรคตซูสีไทเฮา ผู้สร้างตำนานหงส์เหนือมังกร สตรีผู้ยิ่งใหญ่เหนือแผ่นดินจีน

15 พ.ย. 2566
14100 views
ขนาดตัวอักษร

15 พ.ย.66 - วันนี้เมื่อ 115 ปีที่แล้ว ซูสีไทเฮาสวรรคต 15 พฤศจิกายน 1908 สตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีนในยุคหลัง เราจะพาย้อนกลับไปดูประวัติบุคลสำคัญในหน้าหนึ่งประวัติศาสตร์โลก ที่ทุกการกระทำของพระนางสร้างผลกระทบต่อประเทศจีนในยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการว่าราชการเบื้องหลังจักรพรรดิ 3 พระองค์และแต่งตั้งจักรพรรดิองค์สุดท้ายการสวรรคตเพียง 1 วัน

ซูสีไทเฮา เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 1835 ในสกุลเย่เฮ่อน่าลา ตระกูลขุนนางหนึ่งในแปดกองธงของราชวงศ์ชิง โดยเริ่มแรกพระนางเข้ามาเป็นสนมระดับล่างของจักรพรรดิเสียนเฟิง ก่อนที่จะมีพระโอรสเพียงองค์เดียวให้กับพระเจ้าเสียนเฟิง จึงได้มีหน้ามีตาและมีอำนาจ



พระนางซูสีไทเฮา

จนในช่วงปลายรัชสมัยของจักรพรรดิเสียนเฟิงเกิดกบฏและมีคนเข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีน นั่นคือกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว นำโดย หงซิ่วฉวน ที่แอบอ้างตนเองเป็นน้องชายพระเยซู ลุกขึ้นมานำคนต่อต้านราชวงศ์ชิง พร้อมกับแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ผู้คนเข้าร่วม คาดว่ามีคนเข้าร่วมกับการกบฏต่อต้านราชวงศ์ชิงนี้กว่า 30 ล้านคน แต่ต่อมาเกิดการชิงอำนาจกันภายในกลุ่มกบฏ ประกอบกับการนำกำลังปราบกบฏของราชวงศ์ชิง ซึ่งบัญชาการหลังม่านโดยพระนางซูสีไทเฮา จึงทำให้ราชวงศ์ชิงชนะยึดอำนาจกลับมาได้ แต่กบฏครั้งนี้คาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 30 ล้านคน



จักรพรรดิเสียนเฟิง

นอกจากกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว ในสมัยจักรพรรดิเสียนเฟิงยังเกิดสงครามระหว่างจีนอังกฤษทั้งหมด 2 ครั้ง และจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทั้งสองครั้ง จนเสียพื้นที่ในฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ รวมทั้งพระราชวังฤดูร้อนซึ่งเป็นที่พักร้อนของจักรพรรดิและพระราชวงศ์ถูกทำลายหมดสิ้น มูลเหตุของสงครามฝิ่นเกิดจากการปราบปรามฝิ่นอย่างเด็ดขาดของราชวงศ์ชิง แต่ฝิ่นเป็นสินค้าหลักของจักรวรรดิอังกฤษ

เมื่อพระเจ้าเสียนเฟิงสวรรคตในปี 1861 พระโอรสของพระนางก็ขึ้นครองราชน์เป็นจักรพรรดิพระนามว่าถงจื้อ ในวัย 6 ชันษา และมีคณะองคมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน



จักรพรรดิถงจื้อ

ในปีเดียวกันนั้นเอง พระนางร่วมกับองค์ชายกงชินหวังพระอนุชาในจักรพรรดิเสียนเฟิง และ พระนางซูอันไทเฮา พระมเหสีของอดีตจักรพรรดิเสียนเฟิง ร่วมกันยึดอำนาจจากคณะผู้สำเร็จราชการ พระนางซูสีไทเฮาและซูอันไทเฮา จึงกลายมาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน แต่จักรพรรดิถงจื้อนั้นอายุสั้นจากร่างกายที่อ่อนแอ ครองราชน์ได้เพียง 14 ปี ก็สวรรคตด้วยอายุ 20 ชันษา พระนางซูสีไทเฮาจึงนำพระนัดดาของพระองค์มารับเป็นลูกบุญธรรม และแต่งตั้งให้เป็นจักรพรรดินามกวังซี่ ในปี 1875



จักรพรรดิกวังซี่

สถานการณ์โลกในตอนนั้น จักรวรรดินิยมเริ่มขยายมาในเอเชีย เริ่มด้วยการจักรวรรดิบริติชอังกฤษยึดครองพม่าในปี 1824 และอินเดียผ่านบริษัท บริติชอีทอินเดียคอมพานี และสุดท้ายรัฐบาลอังกฤษก็เข้าไปยึดครองเองในปี 1858

จักรพรรดิกวังซี่นับว่าเป็นจักรพรรดิที่สายพระเนตรยาวไกล พระองค์มองเห็นถึงภัยคุกคามจากประเทศจักรวรรดินิยม ทั้งบริติชอังกฤษ ฝรั่งเศส และเพื่อนบ้านที่กำลังเติบโตมาคุกคามอย่างจักรวรรดิญี่ปุ่น รวมทั้งการกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วที่ผ่านมา ทำให้พระองค์เริ่มแนวคิดการปฎิรูป พระองค์ทรงริเริ่มการปฏิรูป การเมือง สังคมและกฎหมาย พระจักรพรรดิทรงออกพระบรมราชโองการหลายฉบับในการปฏิรูปครั้งใหญ่นี้ โดยมีขุนนางหลักที่คอยช่วยเหลือกิจการในครั้งนี้ของพระองค์ของคนคือข้าราชการรุ่นใหม่อย่าง คัง โหย่วเหวย และเหลียง ฉี่เชา โดยการเปลี่ยนแปลงนี้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศจากเกษตรกรรมไปเป็นอุตสาหกรรม และมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการสอบรับราชการ โดยพระองค์ทรงออกพระราชกฤษฎีกาในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ทันสมัยในขณะนั้นของจีน มีการก่อสร้างทางรถไฟลู่หาน และระบบท้องพระคลังให้มีระบบเช่นเดียวกับทางตะวันตก โดยมีเป้าหมายทำให้จีนเป็นประเทศที่ทันสมัย มีพระมหาจักรพรรดิภายใต้รัฐธรรมนูญแต่ยังคงความเป็นจีนเอาไว้อยู่ โดยมีต้นแบบคือการปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตามสภาพสังคมจีนในขณะนั้นยังเป็นแบบนับถือลัทธิขงจื้ออยู่และการปฏิรูปครั้งนี้ยังมีความขัดแย้งไปถึงพระนางซูสีไทเฮาด้วย ผู้ซึ่งว่าราชการหลังม่านอยู่ในขณะนั้น สุดท้ายพระนางซูสีไทเฮาก็ยึดอำนาจจักรพรรดิกวังซี่ พร้อมเนรเทศพระองค์ไปตำหนักกลางน้ำในวังต้องห้าม และพระองค์ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จนสวรรคต คนทั่วไปรู้จักการปฎิรูปในครั้งนี้ว่า “การปฏิรูป 100 วัน”

หลังจากจำกัดพระอำนาจของจักพรรดิกวังซี่แล้ว พระนางว่าราชการแทนพระองค์ เกิดเหตุการณ์สำคัญเช่นการที่พระนางสนับสนุนกลุ่มกบฏนักมวย กลุ่มกบฏชาตินิยม ที่คอยทำร้ายชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองจีน ทำให้กลุ่มพันธมิตร ประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น ออสเตรีย รัสเซีย อิตาลี และสหรัฐฯ นำกองกำลังผสมบุกเข้าปล้นสะดมทั้งกรุงปักกิ่งและวังต้องห้าม ได้วัตถุโบราณออกไปมากมายจนปัจจุบันและสุดท้ายพระนางต้องประกาศจับกบฏนักมวยและประหารทั้งหมด



กลุ่มพันธมิตรแปดชาติ ถ่ายรูปร่วมกัยภายในพระราชวังต้องห้าม

เมื่อพ่ายแพ้แก่พันธมิตร 8 ชาติ พระนางจึงหันมาเป็นมิตรกับชาวต่างชาติมากขึ้นโดยโอนอ่นผ่อนตาม และเริ่มปฏิรูปนโยบายเพื่อนำประเทศไปสู่ระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ก่อนจะทำสำเร็จพระนางก็สิ้นพระชนน์เสียก่อน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ปี 1908 หลังการสิ้นพระชนน์ของจักรพรรดิกวังซี่เพียง 1 วัน และมีเรื่องเล่ากันว่าการสิ้นพระชนน์ของจักรพพรดิกวังซี่นั้นมีเงื่อนงำ ก่อนจะสิ้นพระชนน์ พระนางซูสีไทเฮาได้แต่งตั้งจักรพรรดิอีกพระองค์หนึ่ง นั่นคือจักรพรรดิผู๋อี๋ หรือ ปูยี จักรพรรดิองค์สุดท้ายของจีนก่อนพระนางเสียชีวิตเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยจักรพรรดิปูยีเป็นหลานของพระนางเอง



จักรพรรดิปูยี


พระนางซูสีไทเฮานับว่าเป็นสตรีที่ทรงอำนาจมากที่สุดของจีน โดยไม่ต้องตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดินีแบบจักรพรรดิบูเช็คเทียน แต่ว่าราชการหลังบ้านจักรพรรดิสามคน และแต่งตั้งอีก 1 คน มีการกล่าวกันว่าการปกครองของพระนางเป็นการเร่งให้ราชวงศ์ชิงล่มสลายเร็วขึ้น จากการไม่พยายามปฏิรูปใด ๆ และยังขวางการปฏิรูป 100 วันของจักรพรรดิกวังซี่อีกด้วย เมื่อคิดจะปฏิรูปก็สายไปเสียแล้ว แต่ที่ไม่ลืมไม่ได้เลยว่าการที่พระนางถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุให้ราชวงศ์ชิงสูญสิ้นนั้นเป็นผลงานของฝ่ายปฏิรูปและฝ่ายปฏิวัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระนาง เป็นการกล่าวโทษพระนางในปัญหาที่เรื้อรั้งมายาวนานนับร้อย ๆ ปี ของราชวงศ์ชิง นอกจากนั้นพระนางยังพยายามปกป้องประเทศจากความวุ่นวายทางการเมือง นอกจากนี้ พระนางยังเป็นนักปฏิรูปที่มีประสิทธิภาพสำหรับการปฏิรูปที่ทรงริเริ่มในช่วงบั้นปลายพระชนม์แต่เวลาก็ไม่พอเสียก่อน



พระนางซูสีไทเฮาในวัยชรา


มีเกร็ดเรื่องเล่าว่าหลังพระนางสวรรคตไปแล้วหลายปี มีการเปิดสุสานของพระนางขึ้นมาโดยขุนศึกนายหนึ่งที่เป็นอดีตขุนโจรที่ชื่อ ซุนเตี่ยนอิง โดยตัวของซุนเตี่ยนอิง เป็นลูกน้องของเจียงไคเช็คผู้นำของจีนในยุคนั้น โดยซุนเตี่ยนอิง นำกองกำลังบุกเข้าไปในสุสานของพระนางและทำลายสุสาน พร้อมปล้นสะดมของมีค่าออกไปทั้งหมด รวมทั้งทำลายพระศพของพระนางเพื่อเอาไข่มุกพันปีที่อยู่ในพระโอษฐ์ของพระนางออกมา มีเรื่องเล่าอีกว่าพระศพของพระนางเมื่อเปิดโลงแรก ๆ ยังมีสภาพที่ดูดีแต่หลังจากต้องอากาศเข้าไป สภาพศพก็เปลี่ยนสภาพลงอย่างรวดเร็ว เล่ากันว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดคือไข่มุกพันปี ซุนเตี้ยนอิงได้ไข่มุกพันปีที่ใส่ไว้ในพระโอษฐ์ของพระศพซูสีไทเฮามาครอบครอง แล้วมอบให้กับเจียงไคเช็ก ซึ่งต่อมามอบให้กับภริยาของเขาคือซ่งเหม่ยหลิง เพื่อนำไปประดับรองเท้าของนาง แต่นี่เป็นเพียงเรื่องเล่าลือเท่านั้น

หลังจากกองทัพของเจียงไคเช็คพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุงในปี 1949 สิ่งของมีค่าทางประวัติศาสตร์จึงตกไปอยู่ไต้หวันพร้อมเจียงไคเช็คด้วย สำหรับซุนเตี้ยนอิง หลังถูกจับกุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกคุมขังที่เมืองอู่อัน มณฑลเหอเป่ย และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)