X

ใส่หน้ากาก ก่อพิษจากคาร์บอนไดออกไซด์จริงหรือ?

2 ส.ค. 2563
5060 views
ขนาดตัวอักษร

ตั้งแต่เริ่มเกิดภาวะระบาดของไวรัสโคโรนา ผู้คนทั่วโลกก็ได้รับคำแนะนำให้สวมหน้ากากหรือสิ่งปกคลุมใบหน้าเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อและช่วยป้องกันเชื้อไวรัสแพร่กระจาย โดยเฉพาะในสถานที่การรักษาระยะห่างทางสังคมทำได้ยากยิ่ง

อย่างไรก็ตาม กลับมีข่าวลือว่าการใส่หน้ากากเป็นเวลานานจะทำให้ผู้สวมใส่เกิดภาวะขาดออกซิเจน และอาจถึงกับได้รับพิษจากการรับคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป

ผู้เชี่ยวชาญได้ตอบคำถามในประเด็นนี้ว่า ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องกังวลกับการใส่หน้ากาก ไม่ว่าจะเป็นผ้าคลุมใบหน้า หน้ากากสำหรับการผ่าตัด หรือแม้แต่หน้ากากอนามัย N95 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ เพราะการกระทำนี้ไม่ส่งผลอันตรายใดๆ ต่อสุขภาพของผู้คน

“ผู้ใหญ่สุขภาพดีที่ใช้สิ่งปกปิดใบหน้า รวมถึงหน้ากากทางการแพทย์ หน้ากากผ้า และหน้ากาก N95 ล้วนไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะคาร์บอนไอออกไซด์คั่ง (Hypercapnia)” ดร. โรเบิร์ต แกลตเตอร์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลเลนนอกซ์ฮิลล์ ในมหานครนิวยอร์กให้สัมภาษณ์กับ ‘เฮลธ์ไลน์’ (Healthline) เว็บไซต์และผู้ให้บริการข้อมูลด้านสุขภาพที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย


(แฟ้มภาพซินหัว: ผู้คนสวมใส่หน้ากากเที่ยวเล่นอยู่ในสวนสนุกเพลย์แลนด์ เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2020)


“โมเลกุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กระจายตัวผ่านหน้ากากได้อย่างอิสระ เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซตามปกติระหว่างภายในกับภายนอกหน้ากากระหว่างที่ผู้สวมใส่หายใจ” แกลตเตอร์อธิบาย

ดาร์เรล สเปอร์ล็อก ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นผู้นำเพื่อการวิจัยพยาบาลศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยไวเดอเนอร์ ชี้ว่าการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากผ่าตัดไม่ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกกักเก็บไว้แต่อย่างใด

“ขณะที่เราใส่หน้ากาก ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราอาจหายใจกลับเข้าไปใหม่ จะถูกทำลายอย่างรวดเร็วและง่ายดายด้วยระบบทางเดินหายใจและระบบเผาผลาญในร่างกายของเรา” สเปอร์ล็อกให้สัมภาษณ์กับเฮลธ์ไลน์เช่นนี้

“คาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในชั้นบรรยากาศประมาณร้อยละ 0.04 มันจะเป็นอันตรายก็ต่อเมื่ออยู่ในชั้นบรรยากาศมากกว่าร้อยละ 10” บิลล์ คาร์โรลล์ ศาสตราจารย์วุฒิคุณด้านเคมีที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา เมืองบลูมมิงตัน กล่าวดังนี้กับนิตยสารสุขภาพของสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญต่างย้ำว่าผู้ที่ป่วยเป็นโรคปอดระดับรุนแรงหรือเผชิญภาวะหยุดหายใจขณะหลับ จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการใส่หน้ากาก และควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องนี้

ผู้ที่มีอาการของโรคปอดรุนแรง อีกทั้งประสบปัญหาการบรรจุออกซิเจนในเลือดแดง (oxygenation) และการรักษาสมดุลของคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากปอดได้รับความเสียหาย “อาจเป็นอันตรายหากได้รับคาร์บอนไดออกไซด์มากหรือน้อยเกินไป” สเปอร์ล็อกกล่าว

ที่มา : สำนักข่าวซินหัว

ดาวน์โหลด

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล