X
2565 พิษสุนัขบ้า ข่วนตายแล้ว 1 ราย (รวมจุดฉีดวัคซีน..ฟรี) ?

2565 พิษสุนัขบ้า ข่วนตายแล้ว 1 ราย (รวมจุดฉีดวัคซีน..ฟรี) ?

15 มี.ค. 2565
17570 views
ขนาดตัวอักษร

ห่วงเด็ก ๆ ที่ชอบเล่นกับน้องหมา.. น้องเหมียว.. สัตว์น่ารัก ๆ ซึ่งร้อนนี้ โรคพิษสุนัขบ้า เริ่มระบาดแล้ว ล่าสุด กรมควบคุมโรค เปิดเผยเพียงเข้าปี 2565 พบผู้เสียชีวิต จากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย ที่จังหวัดชลบุรี ถูกสุนัขของเพื่อนบ้านข่วน แพทย์เตือนไม่รักษา ปล่อยทิ้งไว้ เสียชีวิตทุกราย และโรคพิษสุนัขบ้า มีสัตว์อะไรเป็นโรคนี้ได้บ้าง ? ปีนี้ (2565) มีที่ไหน เปิดให้นำน้องสัตว์เลี้ยง ไปฉีดได้ฟรี... มีรวมจุดฉีดวัคซีนฯ มาแนะนำกันแล้ว


สำนักสื่อสารความเสี่ยง และพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ถึงการพยากรณ์โรคฯ ฉบับที่ 10/2565 เตือนประชาชนระวังถูกสุนัข และแมว กัดหรือข่วน เสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจากโรคนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับช่วงนี้ อากาศร้อน อาจทำให้สัตว์หงุดหงิดได้ง่าย



โดย กรมควบคุมโรค ได้เผยแพร่ การพยากรณ์โรค และภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ฉบับที่ 10/2565 ประจำสัปดาห์ที่ 11 (วันที่ 13 - 19 มี.ค. 65) จากการเฝ้าระวังของ กรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2564 ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิต 3 ราย ใน 2 จังหวัด

+ จังหวัดสุรินทร์ 2 ราย

+ จังหวัดบุรีรัมย์ 1 ราย

สำหรับในปี 2565 นี้ พบผู้เสียชีวิต จากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย ที่จังหวัดชลบุรี โดยได้รับรายงานเหตุการณ์ ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประวัติสัมผัสกับ สุนัขของเพื่อนบ้าน ที่นำมาฝากเลี้ยงข่วน

การพยากรณ์โรค และภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่า ในช่วงนี้ อาจมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้ เนื่องจากโรคนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี ประกอบกับช่วงนี้ อากาศร้อน อาจทำให้สัตว์หงุดหงิดได้ง่าย

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เชื้อจะเข้าทางบาดแผล ผ่านการกัด ข่วน เลีย หรือ สัมผัสกับน้ำลาย ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ทุกชนิดที่ติดเชื้อ

+ สัตว์ที่พบบ่อยที่สุด คือ สุนัข

+ รองลงมาคือ แมว และ วัว

จึงขอให้ประชาชน ระมัดระวังตนเอง และบุตรหลาน ไม่ให้ถูกสัตว์กัดข่วน และนำสุนัข และแมว ที่เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ตามกำหนดเป็นประจำทุกปี

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ประชาชน หมั่นสังเกตอาการ สุนัขและแมว และนำไปฉีดวัคซีน ตามกำหนดที่จุดบริการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (ในสัตว์)

สำหรับพื้นที่ กรุงเทพมหานคร มีบริการที่ศูนย์บริการฉีดวัคซีน 8 แห่ง ได้แก่

1. ศูนย์บริการสาธารณสุข 23 สี่พระยา

2. ศูนย์บริการสาธารณสุข 43 มีนบุรี

3. ศูนย์บริการสาธารณสุข 21 วัดธาตุทอง

4. ศูนย์บริการสาธารณสุข 24 บางเขน

5. ศูนย์บริการสาธารณสุข 33 วัดหงส์รัตนาราม

6. ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 ช่วงนุชเนตร

7. ศูนย์บริการสาธารณสุข 30 บางกอกน้อย

8. กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า ดินแดง

หรือ หน่วยบริการฉีดวัคซีนสุนัขบ้า ฟรี ในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ

รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัส สุนัขหรือแมว ที่ไม่ทราบประวัติ การฉีดวัคซีนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยง การรับเชื้อพิษสุนัขบ้า หากถูกสุนัข หรือแมวกัด ข่วน ให้รีบล้างแผล ทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่หลาย ๆ ครั้ง เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และรีบไปโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน เพื่อรับการฉีดวัคซีน ป้องกันพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด

โดยการฉีดวัคซีนให้ครบชุด และตรงตามนัด จึงจะได้ผล เพราะหากติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และปล่อยทิ้งไว้ จนเชื้อเข้าสู่ระบบประสาท และแสดงอาการป่วยแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค



Backbone MCOT ยังมีข้อมูลดี ๆ จากสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย มาแนะนำ โดยได้เปิดเผยไว้ในเว็บไซต์สมาคมฯ เกี่ยวกับความรู้โรคพิษสุนัขบ้า สำหรับประชาชน

ซึ่งในเว็บไซต์ ที่ให้ความรู้ดังกล่าว ระบุถึง นพ.ชัยศิริ ศรีเจริญวิจิตร และ รศ.พญ.วนันทปรียา พงษ์สามารถ พร้อมกับการให้ข้อมูลที่เปิดเผยว่า


โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร ??

โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นโรคที่สามารถติดเชื้อเข้าสู่สมอง ติดต่อจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากในปัจจุบัน ยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา แต่ทั้งนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

ในแต่ละปี องค์การอนามัยโลก รายงานผู้ป่วยเสียชีวิต จากโรคพิษสุนัขบ้า มากกว่า 60,000 รายทั่วโลก โดยพบมาก ในประเทศแถบเอเชีย และแอฟริกา และแม้ว่าทุกคน จะมีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า ***แต่ร้อยละ 40 ของผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี***

สำหรับในประเทศไทย มีรายงาน คนถูกสัตว์... กัด หรือ ข่วน มากกว่า 1 ล้านคนต่อปี และสถิติของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงปี พ.ศ. 2554 - 2558 มีรายงานผู้เสียชีวิต จากโรคพิษสุนัขบ้า 5 - 7 รายต่อปี

แต่ในปี พ.ศ. 2561 เพียงประมาณ 2 เดือน มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต จากโรคพิษสุนัขบ้าแล้วถึง 3 ราย ร่วมกับตรวจพบ สัตว์ติดเชื้อ โรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 251 ตัว ซึ่งสูงกว่าระยะเวลาเดียวกัน ของปีที่ผ่านมาถึง 1.5 เท่า

+ พบมากที่สุดในสุนัข กว่าร้อยละ 90

+ ตามมาด้วยแมว และโค หรือ วัว ตามลำดับ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 13 จังหวัด ซึ่งกรมปศุสัตว์ ได้ประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้า พื้นที่สีแดง คือ

1. สุรินทร์
2. ชลบุรี
3. สมุทรปราการ
4. ฉะเชิงเทรา
5. น่าน
6. บุรีรัมย์
7. อุบลราชธานี
8. เชียงราย
9. ร้อยเอ็ด
10. สงขลา
11. ระยอง
12. ตาก
13. ศรีสะเกษ

นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวัง โรคระบาดพิษสุนัขบ้า ในอีก 42 จังหวัด โรคนี้ จึงนับเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่มีความสำคัญยิ่ง



คนติดโรคพิษสุนัขบ้า จากสัตว์ชนิดใดบ้าง ??

โรคพิษสุนัขบ้า พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หลายชนิด เช่น สุนัข, แมว, ค้างคาว, วัว, ลิง, ชะนี, กระรอก, กระต่าย, รวมถึงหนู เป็นต้น แต่พบว่าสุนัขและแมว เป็นสัตว์ที่นำโรคพิษสุนัขบ้า มาสู่คนได้บ่อยที่สุด ในประเทศแถบเอเชีย และแอฟริกา


**สัตว์ที่เคยฉีดวัคซีน โรคพิษสุนัขบ้า จะกลับมาติดเชื้อได้ หรือไม่ ??**

แม้ว่ารายงานจาก สำนักควบคุมป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2556 พบว่า สัตว์ที่ตรวจยืนยัน พบเชื้อพิษสุนัขบ้า ส่วนใหญ่ ไม่เคยได้ฉีด หรือ ไม่ทราบประวัติการฉีด วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า **แต่ร้อยละ 9.2 ของสัตว์ที่ยืนยัน เป็นโรคพิษสุนัขบ้า มีประวัติเคยได้รับวัคซีน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มาก่อน** !!?


ควรปฏิบัติอย่างไร เมื่อถูกสัตว์กัด ??

1. รีบล้างแผลให้เร็วที่สุด ด้วยสบู่ และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้งนานอย่างน้อย 15 นาที ล้างทุกแผล และล้างให้ลึกถึงก้นแผล แล้วเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน เป็นต้น

2. จดจำลักษณะ และสังเกตอาการ สัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติ การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และสังเกตอาการสัตว์ ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน ถ้าสบายดี ไม่น่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตาย ให้นำซากมาตรวจ

3. ไปพบแพทย์ทันที พร้อมนำสมุดวัคซีน หรือประวัติการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และบาดทะยักไปด้วย เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง

ในกรณี ที่มีโอกาสติดโรคพิษสุนัขบ้าสูง แพทย์อาจพิจารณาให้ อิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งมีภูมิต้านทาน โรคพิษสุนัขบ้าร่วมด้วย โดยวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จะฉีดประมาณ 3 - 5 ครั้ง เป็นวัคซีนมีความปลอดภัยสูง สามารถฉีดได้ทุกวัย รวมทั้งในเด็ก และสตรีมีครรภ์ การฉีดวัคซีนฯ ต้องตรงตามแพทย์นัดทุกครั้ง


จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ได้อย่างไร ??

เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ไม่มียา ที่ใช้ในการรักษา และถ้าติดเชื้อ จะเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกัน ไม่ให้เกิดโรค จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีแนวทางในการป้องกันดังนี้

1. ควบคุมไม่ให้สัตว์ เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

- พาสัตว์เลี้ยง ไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ตามกำหนด และฉีดซ้ำทุกปี

- ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยง ไปในที่สาธารณะ ทุกครั้งที่จะนำสุนัขออกนอกบ้าน ควรอยู่ในสายจูง

- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

2. หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัด โดยไม่แหย่ หรือ รังแกให้สัตว์โมโห รวมทั้งไม่เข้าใกล้สัตว์ ที่ไม่รู้จัก หรือไม่มีเจ้าของ

3. พิจารณาการฉีดวัคซีน ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แบบป้องกันล่วงหน้า ในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบอาชีพ ที่มีความเสี่ยงในการสัมผัส โรคพิษสุนัขบ้า ได้แก่

+ สัตวแพทย์

+ ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยง และขายสัตว์

+ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่มีการระบาดของ โรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอาจเข้าถึงวัคซีน และมารับวัคซีนทำได้ยากลำบาก

+ เด็ก ที่เลี้ยงสุนัข และแมว

ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แบบป้องกันล่วงหน้า โดยฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน และเมื่อถูกสัตว์กัด จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1 - 2 ครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องฉีด อิมมูโนโกลบูลิน ซึ่งอาจเกิดปฏิกิริยาแพ้ และเจ็บปวด เวลาฉีดรอบแผลร่วมด้วย

ประเทศไทย ได้กำหนดเป้าหมายเป็น “พื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า” เพื่อกวาดล้างโรคพิษสุนัขบ้า ให้หมดไปจากประเทศไทย ให้ได้ภายในปี 2563 ตามข้อตกลงของ องค์การอนามัยโลก องค์กรโรคระบาดสัตว์ ระหว่างประเทศ และองค์กรอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หากปฏิบัติได้ตามนี้ เชื่อว่า ทุกคนน่าจะปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า

สำหรับข้อมูลฉบับเต็ม เรื่อง ความรู้โรคพิษสุนัขบ้า สำหรับประชาชน จากเว็บไซต์ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
คลิกอ่านต่อได้ที่นี่ : > https://www.pidst.or.th/A619.html




ทั้งนี้ จากที่มีผู้เสียชีวิต ที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ในจังหวัดชลบุรี Backbone MCOT ที่ได้ค้นข้อมูล พบว่า มีข่าวสารประชาสัมพันธ์จาก ชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ในสัปดาห์หน้า ของเดือนมีนาคมนี้ (25 - 27 มี.ค. 2565) ซึ่งได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กของชมรมฯ ชื่อ CURabies club ระบุว่า ทางชมรมฯ จะออกค่ายรณรงค์ป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า โดยจะให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า ให้สุนัขและแมว ฟรี... ในวันที่ 25 - 27 มีนาคม 2565 ที่ อำเภอพนัสนิคม จ.ชลบุรี และทางชมรมฯ ขอเชิญทุกท่าน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคม ด้วยการสมทบทุนบริจาค เพื่อเป็นค่าวัคซีน และอุปกรณ์ ซึ่งผู้บริจาค สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 200 %

และเมื่อเดือนที่ผ่านมา วันที่ 11 - 13 ก.พ. 2565 ทางชมรมฯ ได้ไปให้บริการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคพิษสุนัขบ้า กับสุนัขและแมว ฟรี... ที่ ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งสามารถตามข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมดูภาพกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ และหากสนใจจะบริจาค สมทบทุนในการนี้ ติดต่อไปได้ตามภาพ ที่ปรากฏในเพจของ ชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Backbone MCOT ขอร่วมเชิญชวนด้วยอีกแรง กับกิจกรรมดี ๆ ของเยาวชนไทย ที่สร้างสรรค์ หวังใจว่า ผู้ใหญ่ใจดี ที่ได้รับรู้ จะพร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในกิจกรรมดังกล่าว เพื่อสังคมของเรา...


อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
https://ddc.moph.go.th

เฟซบุ๊ก : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
https://www.facebook.com/profile.php?id=100068069971811

เว็บไซต์ : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
https://www.pidst.or.th/index.php

เฟซบุ๊ก : ชมรมต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://www.facebook.com/CURabies-club-310885946041459

เว็บไซต์ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://www.chula.ac.th


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล