7 มิ.ย.66 - เปิดเรื่องเล่าตามประวัติศาสตร์ “พระพุทธชินราช” มีพระพี่น้อง? ที่สร้างขึ้นพร้อมกันอีก 3 องค์ ปัจจุบันอยู่ที่ไหนบ้าง
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีอีกวันของชาวพิษณุโลก และผู้ที่เคารพนับถือองค์ “พระพุทธชินราช” วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก เนื่องในโอกาส “ครบรอบ 666 ปี พระพุทธชินราช” ตรงกับตัวเลขดี ๆ 6 / 6 /66 อีกด้วย
พระพุทธชินราช พระพุทธรูปทองคำ พระคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลก นั่นได้ชื่อว่ามีลักษณะงดงามที่สุดของไทย เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชน ที่หากใครผ่านเมืองพิษณุโลก ก็ต้องแวะสักการะบูชาเป็นศิริมงคลก่อนเดินทาง หรือทำกิจการใด ๆ อยู่เสมอ
•
“พระพุทธชินราช” ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านตะวันตก ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1900 ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย จนถึงปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามที่สุดในประเทศ และขึ้นชื่อในความศักดิ์สิทธิ์องค์สำคัญของไทย
ตามประวัติ พระพุทธชินราช สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธรูปอีก 2 องค์ คือ "พระพุทธชินสีห์" และ "พระศรีศาสดา" โดยมีตำนานการสร้างองค์พระรูปในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า
เมื่อพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (เชื่อว่าเป็นพญาลิไทย) ได้โปรดให้สร้างเมืองพิษณุโลกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็โปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุขึ้น โดยมีพระมหาธาตุรูปปรางค์ สูง 8 วา และพระวิหารทิศ กับระเบียงรอบพระมหาธาตุทั้ง 4 ทิศ พระองค์โปรดให้ช่างชาวเชลียง (สวรรคโลก) เชียงแสน และหริภุญชัย (ลำพูน) ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขึ้น 3 องค์ สำหรับประดิษฐานในพระวิหารทิศ โดยได้ทำพิธีเททองหล่อในวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 ปีเถาะ สัปตศกจุลศักราช 317 (พ.ศ.1498)
•
เมื่อกะเทาะหุ่นออกแล้ว ทองกลับแล่นติดเป็นองค์พระบริบูรณ์เพียง 2 องค์ คือพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ส่วนพระพุทธชินราชทอง ไม่แล่นติดเต็มพระองค์ ทำพิธีหล่อต่อมาอีก 3 ครั้งก็ยังไม่สำเร็จ ครั้งหลังสุด พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกตั้งสัจจาธิษฐานแล้วทำพิธีเททองหล่ออีกครั้ง ปรากฏว่าในครั้งนี้มีชีปะขาวผู้หนึ่ง มาแต่ใดไม่มีใครทราบ ได้มาช่วยปั้นหุ่นและเททองหล่อพระจนพระพุทธรูปออกมาสำเร็จสวยงามไม่มีที่ติ เล่าลือกันว่าชีปะขาวผู้นั้นคือเทวดาแปลงตัวมาช่วยหล่อพระ พระพุทธชินราชจึงได้มีพุทธลักษณะงดงามยิ่งนัก แต่เมื่อเสร็จพิธีหล่อพระแล้ว ชีปะขาวกลับหายตัวไปไม่มีผู้ใดพบเห็น หมู่บ้านที่ชีปะขาวหายตัวไปนั้นจึงได้ชื่อว่า “บ้านตาปะขาวหาย” มาจนปัจจุบัน
•
ซึ่งทองสัมฤทธิ์ที่เหลือจากการหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ยังสามารถนำมาหล่อเป็นพระพุทธรูปเล็ก ๆ อีกองค์หนึ่งมีชื่อว่า “พระเหลือ” ซึ่งก็ยังมีทองเหลือสามารถหล่อเป็นพระสาวกของพระเหลือได้อีกสององค์ อิฐที่ก่อเตาหลอมทองและใช้ในการหล่อพระนั้นก็ได้นำเอามารวมกันก่อเป็นชุกชีสูงสามศอก ตรงตำแหน่งที่หล่อพระพุทธชินราชและปลูกต้นมหาโพธิ์บนชุกชี 3 ต้น เรียกว่า "โพธิ์สามเส้า” และได้สร้างวิหารน้อยขึ้นระหว่างต้นโพธิ์ อัญเชิญพระเหลือพร้อมพระสาวกเข้าประดิษฐานในวิหารนั้น เรียกว่า "วิหารหลวงพ่อเหลือ" ตั้งอยู่ด้านหน้าพระวิหารพระพุทธชินราช
•
โดยพระพุทธรูปทั้ง 4 องค์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระเหลือ ได้ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นับแต่นั้นมา
•พระพุทธชินราช ประดิษฐาน ณ พระวิหารใหญ่ด้านทิศตะวันตก
•พระพุทธชินสีห์ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ
•พระศรีศาสดาประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศใต้
•พระเหลือ ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย
“กลายเป็นพระพุทธรูปพี่น้องที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกมาอย่างยาวนาน”
จนกระทั้งในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2372 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ได้เสด็จไปเยือนวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ทรงเห็นว่าวิหารมีความชำรุดทรุดโทรม จึงทรงโปรดเกล้าฯ “ให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ในพระนคร โดยได้อัญเชิญมาไว้ภายในมุขหลังพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร”
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์มีพระราชประสงค์จะสร้างเจดีย์ขึ้นด้านหลังพระอุโบสถวัดบวรฯ จึงต้องรื้อมุขด้านหลังออก “จึงได้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถคู่กับพระสุวรรณเขต พระประธานองค์เดิมในพระอุโบสถ ทำให้พระอุโบสถในวัดบวรนิเวศมีพระพุทธรูปสององค์มาจนถึงปัจจุบันนี้”
ขณะที่ “พระศรีศาสดา ก็ถูกอัญเชิญมาที่พระนครเช่นกัน โดยเจ้าอาวาสวัดบางอ้อยช้าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ได้อัญเชิญพระศรีศาสดาลงแพล่องไปที่วัด ต่อมาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติได้อัญเชิญพระศรีศาสดาไปประดิษฐานที่วัดประดู่ฉิมพลี แต่รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า พระศรีศาสดาเป็นพระพุทธรูปสำคัญ เคยอยู่ในพระอารามหลวง อีกทั้งเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันกับพระพุทธชินสีห์ พระองค์จึงทรงให้อัญเชิญพระศรีศาสดามาไว้ที่พระวิหารวัดบวรนิเวศฯ” อีก 1 องค์
•
ต่อมาในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธชินราชจำลองขึ้นใน พ.ศ.2444 ณ บริเวณโพธิ์ 3 เส้า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก และอัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองลงแพแล้วล่องลงมายังกรุงเทพมหานคร
ส่วนพระพุทธชินราช องค์จริงก็ยังคงประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองสองแคว ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสืบมาจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับ พระเหลือ ที่ยังคงประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อยเช่นเดิม ส่วนพระวิหารด้านทิศเหนือ พระวิหารด้านทิศใต้ที่เคยประดิษฐานพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดานั้น ปัจจุบันได้สร้างพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาองค์จำลองและนำไปประดิษฐานไว้แทน
ปัจจุบันพระพุทธชินราช หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อใหญ่” สร้างจากวัสดุหล่อด้วยทองสำริด ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง มีหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก มีพุทธลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีที่มีบัวคว่ำบัวหงาย มีซุ้มเรือนแก้วแกะสลักไม้ลงรักปิดทองที่มีความประณีตอ่อนช้อยงดงาม ส่วนด้านข้างซ้าย-ขวาจะมีท้าวเวสสุวรรณ และท้าวอาฬวกยักษ์ คอยพิทักษ์รักษา
•
“ซึ่งภายในพระวิหารจะมีข้อห้ามผู้ที่เข้าไป ห้ามยืนถ่ายรูป ที่เป็นสิ่งที่ผู้เข้าไปกราบไหว้จะต้องปฏิบัติตาม”
•
คาถาบูชาพระพุทธชินราช
ตั้งนะโม 3 จบ
•อิเมหิ นานา สักกาเรหิ อภิปูชิเตหิ ทีกายุโก โหมิ
•อะโรโค สุขิโต สิทธิกัจจัง สิทธิกัมมัง ปิยัง มะมะ
•ประสิทธิลาโภ ชะโย โหตุ สัพพัททา พุทธชินะราชา
•อภิปะเลตุ มัง นะโมพุทธายะ