“พระอภัยมณี” หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของสุนทรภู่ กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางผจญภัยของตัวละครหลัก “พระอภัยมณี” ที่ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าให้เป็นยอดของวรรณคดีประเภทนิทานคำกลอนอีกด้วย เนื่องในโอกาสวันสุนทรภู่ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี ขอใช้โอกาสนี้พาทุกท่านไปทำความรู้จักกับวรรณคดีประเภทกลอนนิทานเรื่อง “พระอภัยมณี” กัน
พระอภัยมณี เป็นวรรณคดีประเภทนิทานคำกลอน ลักษณะคำประพันธ์เป็น กลอนสุภาพ ความยาว 94 เล่มสมุดไทย แต่งโดยพระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือ สุนทรภู่
สุนทรภู่เริ่มแต่งเรื่องพระอภัยมณีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อเลี้ยงชีวิตขณะต้องโทษจำคุกราว พ.ศ. 2364 จนเมื่อพ้นโทษกลับเข้ารับราชการก็ได้แต่งต่ออีกแล้วหยุดไป ต่อมาเมื่อสุนทรภู่ออกบวชในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้แต่งต่อตามรับสั่งของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณแล้วก็ได้หยุดไปอีกครั้ง ก่อนจะกลับมาแต่งต่อไปอีกตามรับสั่งของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 โดยแต่งต่อจนถึงตอนพระอภัยมณีออกบวช (เล่มที่ 49) ตอนต่อจากนั้นเข้าใจว่าเป็นสำนวนของกวีท่านอื่น
พระอภัยมณีเป็นเรื่องที่ยาวที่สุดของสุนทรภู่ หากนับเป็นตอนจะได้ 64 ตอน ถือเป็นนิทานคำกลอนที่สนุกสาน เต็มไปด้วยจินตนาการและความแปลกใหม่ มีสำนวนกลอนที่ไพเราะ ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2459 จึงได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ให้เป็นยอดของนิทานคำกลอน
เรื่องย่อพระอภัยมณี
เป็นเหตุการณ์ที่เริ่มต้นตอนพระอภัยมณี อายุ 15 ปี ได้ออกเดินทางไปศึกษาวิชาความรู้แต่วิชาที่พระอภัยมณีไปศึกษามาไม่ใช่วิทยาอาคมหรือความรู้เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมือง กลับเป็นวิชาดนตรีคือ “การเป่าปี่” ด้วยเหตุนี้ทำให้พระบิดากริ้วมากจนขับไล่ออกจากเมือง การผจญภัยของพระอภัยมณีจึงเริ่มขึ้นโดยพระอภัยมณีและ “ศรีสุวรรณ” พระอนุชาร่อนเร่ไปจนเจอกับสามพราหมณ์ และถูก “นางผีเสื้อสมุทร” จับตัวไป พระอภัยมณีอยู่กินกับผีเสื้อสมุทรจนมีบุตรชายชื่อ “สินสมุทร” ได้พ่อเงือกแม่เงือกช่วยพาหนีไปยัง “เกาะแก้วพิสดาร” จนได้เจอกับ “นางเงือก” จนกระทั่งมีบุตรชายชื่อสุดสาคร
ต่อมาพระอภัยมณีได้รับความช่วยเหลือจากเจ้ากรุงผลึกและรักกันกับลูกสาวของเจ้ากรุง คือ “นางสุวรรณมาลี” แต่นางมีคู่หมั้นแล้วกับชาวต่างชาติแห่งเกาะลังกา ความขัดแย้งนี้ทำให้เกิดสงครามใหญ่ระหว่างกรุงผลึกกับกรุงลังกาเป็นเวลานานหลายปี แต่ในที่สุดสงครามก็ยุติลงได้เมื่อ “นางละเวงวัณฬา” ลูกสาวเจ้ากรุงลังกาตกหลุมรักกับพระอภัยมณี หลังสงครามจบ พระอภัยมณีที่ปลงกับความไม่แน่นอนของโลกมนุษย์จึงออกบวช โดยมีภรรยามนุษย์ คือ นางสุวรรณมาลีกับนางละเวงวัณฬา ออกบวชด้วย เมื่อพระอภัยมณีออกบวช เรื่องราวในตอนหลังจึงเป็นการผจญภัยของรุ่นลูก ๆ ของพระอภัยมณี โดยมี “สุดสาคร” กับ “นางเสาวคนธ์” เป็นตัวละครหลัก
ในเรื่อง “พระอภัยมณี” มีวรรคทองมากมายที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างจึงขอยกตัวอย่างมาให้ได้อ่านกัน
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในนน้ำใจคน
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน บิดามารดารักมักเป็นผล
ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี
วรรคทองข้างต้นมาจากตอนที่พระฤาษีสอนสุดสาคร เป็นเหตุการณ์หลังจากสุดสาครถูกชีเปลือยผลักตกหน้าผา แย่งเอาม้านิลมังกรและไม้เท้ากายสิทธิ์ไป จนกระทั่งพระฤาษีก็ตามมาช่วยได้ทันจึงได้กล่าวสอน
ผู้ที่สนใจอยากอ่านวรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี” สามารถอ่านนิทานคำกลอนจากต้นฉบับ พระอภัยมณี ที่พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร ได้ทางเว็บไซต์ หอสมุดวชิรญาณ : คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก
- กวีวัจน์วรรณา วรรคทองในวรรณคดีไทยพร้อมประวัติและคำอธิบาย. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2557
- หอสมุดวชิรญาณ