X
ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล  นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี65

ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล  นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี65

12 ก.ค. 2565
1700 views
ขนาดตัวอักษร

วช. เปิดตัว ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ เจ้าของผลงานวิจัยด้านรังสีคอสมิกและฟิสิกส์อวกาศในประเทศไทย 

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  กล่าวว่า วช. ได้มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ให้กับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะนักวิจัยที่อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการเกี่ยวกับงานวิจัยด้านรังสีคอสมิกและฟิสิกส์อวกาศในประเทศไทย รวมถึงสร้างสถานีตรวจวัด นิวตรอนสิรินธร ที่ศูนย์ควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ จากความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อสังคมและประเทศ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล จึงคู่ควรกับการได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจําปี 2565 

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่สนใจเรื่องฟิสิกส์อวกาศนั้น ก็คงเหมือนเด็กทุกคนที่ชื่นชอบการดูดาว ชอบเรียนฟิสิกส์ อยากรู้เรื่องอวกาศ เมื่อเรียนจบปริญญาเอก เราก็อยากทําอะไรเพื่อสังคมไทย เพราะอดีตตอนมาอยู่เมืองไทยได้เห็นว่ามีนักวิจัยด้านฟิสิกส์ อวกาศ ระบบสุริยะน้อยมาก อยากมีส่วนร่วมทำให้นักเรียน นักศึกษาไทยก้าวสู่การเป็นนักวิจัยนักวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์อวกาศของประเทศไทย ขณะนี้ก็มีจํานวนเพิ่มมากขึ้น แต่ต้องเพิ่มนักวิทยาศาสตร์ และต้องทําให้คนไทยรู้และเข้าใจเรื่องของพายุสุริยะรอบด้าน 

 

ส่วนงานวิจัย “ฟิสิกส์ อวกาศกัมมันตรังสีรอบโลก พายุสุริยะ รังสีคอสมิก และการขนส่งในพลาสมาปั่นป่วนในอวกาศ” เป็นการศึกษาเกี่ยวกับรังสีคอสมิกซึ่งเป็นอนุภาคพลังงานสูงที่เกิดจากพายุสุริยะในอวกาศ เพราะต่อให้พายุสุริยะไม่เคยฆ่ามนุษย์ และไม่เคยทําให้สิ่งปลูกสร้างถล่ม แต่เคยทําให้ไฟฟ้าดับและเคยทําลายดาวเทียมและยานอวกาศที่ใช้สําหรับการสื่อสารหรือภารกิจอื่น ๆ ซึ่งถือว่างานวิจัยนี้ มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องศึกษารังสีคอสมิกและพายุสุริยะ เพราะเมื่อมนุษย์ขึ้นเครื่องบินหรือขึ้นไปในอวกาศ รังสีคอสมิกอาจเป็นภัยต่อสุขภาพ ดาวเทียมและยานอวกาศได้รับผลกระทบโดยกัมมันตรังสีในอวกาศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งขององค์ประกอบสภาพอวกาศที่แปรปรวนอย่างมากจากลมสุริยะและพายุสุริยะ นอกจากนั้นได้มีการพัฒนาโปรแกรมจำลองของรังสีคอสมิกเพื่อใช้ในการพยากรณ์ล่วงหน้าก่อนคลื่นกระแทกพายุสุริยะจะกระทบโลก 

 
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล กล่าวต่อว่า มีความฝันอยากติดตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนเพื่อวัดรังสีคอสมิกในประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีค่าพลังงานขั้นต่ำที่รังสีคอสมิกผ่านสนามแม่เหล็กโลกได้สูงที่สุดในโลก โดยอนุภาคโปรตอนต้องมีพลังงานถึง 17 GCRs จึงจะมาถึงประเทศไทยได้ ซึ่งผ่านไป 18 ปี ความฝันก็เป็นจริง เมื่อประเทศญี่ปุ่นได้บริจาคเครื่องตรวจวัดนิวตรอนให้ และที่น่าปลาบปลื้มที่สุด เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามว่า สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร และกองทัพอากาศได้อนุญาตให้ติดตั้งสถานีฯ ที่ศูนย์ควบคุมและรายงานดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทย" ตอนนี้มีสถานีตรวจวัคนิวตรอน มี 40 แห่งทั่วโลก แต่ “สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธรถือเป็นสถานีแรกของโลกที่สามารถวัดจํานวนรังสีคอสมิกต่อเวลาในประเทศไทย หลังจากนี้ จะมีการศึกษารังสีคอสมิกต่อยอดเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศโลก สร้างระบบการเตือนภัยทั่วโลก รวมถึงก่อให้เกิดองค์ความรู้ การศึกษาวิจัยเรื่องใหม่ๆ เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยและทั่วโลก 

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)