X
เสน่ห์ตำนานเรื่องเล่าของไทย ยักษ์วัดโพธิ์ยักษ์วัดแจ้ง

เสน่ห์ตำนานเรื่องเล่าของไทย ยักษ์วัดโพธิ์ยักษ์วัดแจ้ง

1 พ.ย. 2567
1530 views
ขนาดตัวอักษร

ยักษ์วัดโพธิ์ยักษ์วัดแจ้ง อีกหนึ่งเรื่องเล่าของไทยที่มีการเล่าต่อกับมานานหลายชั่วอายุคน มาร่วมออกเดินทางไปตามรอยเรื่องเล่าเรื่องนี้กันที่ กันที่วัดพระเชตุพนฯ และวัดอรุณฯ 2 วัดสวยของไทยที่ดังไกลระดับโลก ที่ไปแล้วต้อง “หลงรักไทย Lost in Thai Mystery”


จะมีสักกี่ตำนานเรื่องเล่าในประเทศไทยที่โด่งดังจนกลายเป็นตำนาน ที่เราจะนึกถึง ซึ่งหนึ่งในนั้นคงต้องมีเรื่องราวของยักษ์วัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้ง ที่ดังถึงขั้นเคยถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์จนโด่งดังมาแล้วเมื่อครั้งอดีต “หลงรักไทย Lost in Thai Mystery” ในตอนนี้จึงขอพาทุกคนหลงเสน่ห์ในเรื่องราวของตำนานยักษ์วัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้งกัน พร้อมกับพาไปชมความงดงามของวัดดังของไทยอย่าง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)  และวัดอรุณราชวราราม วรมหาวิหาร ที่จะให้เราต้องหลงรักกับเรื่องราวเหล่านี้


การเดินทางครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นที่วัดพระเชตุพนฯ วัดประจำรัชกาลที่ 1 และยังเป็นวัดเก่าแก่ของไทยซึ่งเป็นศูนย์รวม ของความรู้ด้านการแพทย์โบราณ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ มีพุทธลักษณะงามจนได้รับการยกย่องว่า ราวกับเทวดาเป็นผู้สร้าง ที่คาดสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระนอนวัดโพธิ์ หรือ พระพุทธไสยาส พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู เป็นพระนอนที่มีขนาดยาวถึง 46 เมตร ยาวเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย ฝ่าพระบาทของพระพุทธไสยาสน์ ได้สลักลวดลายประดับมุกไว้ทั้ง 2 สื่อถึง “มงคล 108 ประการ” มีความเชื่อกันว่า หากได้ไปกราบไหว้ที่ฝ่าพระบาทพระนอนที่วัดโพธิ์จะทำให้ชีวิตร่มเย็นเป็นสุข


โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพน สถานที่ที่เป็นดังต้นตำรับการนวดแผนไทย จนดังไกลไปทั่วโลก ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวที่เดินเที่ยวจนเหนื่อยแล้วสามารถมาแวะพักนวดผ่อนคลายได้ ในวัดยังมีปะติมากรรมของตุ๊กตาอับเฉา ตุ๊กตาหินแกะสลักรูปเทพเจ้าชาวจีน ที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นยักษ์วัดโพธิ์ แต่จริงๆแล้วเป็นรูปปั้นหินที่ถูกนำมาใช้ถ่วงน้ำหนักเรือที่มาจากเมืองจีนเมื่อช่วงยุคสมัยรัชกาลที่3 เพื่อไม่ให้เรือมีน้ำหนักเบาจนเกินไป เมื่อถึงไทยจึงมักนำไปถวายวัดเพื่อใช้ตกแต่งสถานที่ 


ที่ขาดไม่ได้เลยก็คือยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์เฝ้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป ที่มีขนาดเท่ากับตัวคน ที่ปัจจุบันหลงเหลือไว้เพียง 4 ตนเท่านั้น ประกอบด้วย สัทธาสูร พญาขร มัยราพณ์ และ แสงอาทิตย์ ตั้งไว้ที่หอไตร ตรงซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 1 คู่ เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์รักษาหอไตรปิฎก


ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากวัดโพธิ์ไปวัดอรุณฯ วัดประจำรัชกาลที่2 และยังเป็นวัดเก่าแก่อีกหนึ่งของไทยที่ตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา วัดอรุณ ยังเป็นจุดหมายปลายทางยิดฮิตของนักท่องเที่ยว โดยกิจกรรมที่พลาดไม่ได้เลยก็คือการใส่ชุดไทย ถ่ายรูปคู่กับพระปรางค์วัดอรุณฯ  แลนมาร์กยอดฮิตของไทย ที่โดดเด่นอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีขนาดความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร


เมื่อมาถึงวัดอรุณฯ อีกหนึ่งไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้เลยก็คือการชิม ไอศกรีมลายกระเบื้อง ที่ได้แรงบันดาลใจจากการสอดแทรกความเป็นวัดอรุณฯ ด้วยลวดลายความสวยงามของกระเบื้องพระปรางค์ที่เป็นศิลปะแบบไทย-จีนที่เรียงต่อกันเป็นลวดลายของวัด


ส่วนยักษ์วัดอรุณ เป็นรูปปั้นพญายักษ์คู่แรกของเมืองไทย สร้างขึ้นตามพระราชดําริของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยักษ์กายสีขาวชื่อ “สหัสเดชะ” และยักษ์กายสีเขียวชื่อ “ทศกัณฐ์” มีความเชื่อว่ายักษ์ที่เฝ้าซุ้มประตูมีอิทธิฤทธิ์ในการขับไล่ภูติ ผี ปีศาจ จึงมีหน้าที่ปกปักรักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีค่าที่อยู่ด้านในวัด 


สำหรับตำนานยักษ์วัดโพธิ์ยักษ์วัดแจ้ง มีอยู่ว่า ยักษ์วัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้ง ทั้ง 2 ตน เป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงิน จึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง แต่เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืน ยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่าย ยักษ์วัดแจ้งจึงตัดสินใจข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืน จนเกิดการทะเลาะถึงขั้นต่อสู้กัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าด้วยว่าการต่อสู้กันของยักษ์ทั้ง 2 ตน ทำให้บริเวณที่ทั้ง 2 ประลองกำลังกันนั้น ราบเรียบจนเป็นสถานที่ที่โล่งเตียน กลายเป็นที่มาของชื่อ ท่าเตียน


การเดินทางออกมาตามหายักษ์วัดโพธิ์ และยักษ์วัดแจ้ง นับเป็นอีกหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจ เพราะไม่เพียงแต่จะได้พบกับยักษ์ตามตำนานเรื่องเล่าของเล่าของไทยแล้ว ยังให้เราได้สัมผัสความสวยงามของโบราณสถาน สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สวยงามของไทย ภูมิปัญญาของไทยแบบดั้งเดิมอย่างการนวด จนอดไม่ได้ที่จะต้อง หลงรักไทย...


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2024 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)