X
ร่วมยินดี นร.อัสสัมชัญ แชมป์โลกดาวเทียมจิ๋ว พร้อมเบื้องหลังเด็กเก่ง

ร่วมยินดี นร.อัสสัมชัญ แชมป์โลกดาวเทียมจิ๋ว พร้อมเบื้องหลังเด็กเก่ง

20 มิ.ย. 2565
980 views
ขนาดตัวอักษร

กลับถึงไทยแล้ว เหล่าอาจารย์ เพื่อนพ้อง เฮ..ร่วมยินดีคึกคัก สำหรับทีม Descendere ทีมนักเรียนเก่ง จากโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่ชนะเลิศอันดับ 1 คว้าแชมป์โลก การแข่งขันดาวเทียมจิ๋ว (CanSat) 2022 ประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ ทีม Gravity ได้อันดับที่ 7 จากทีมแข่งขันทั้งหมด 23 ทีม ที่มาจาก 11 ประเทศทั่วโลก

โดยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 เฟซบุ๊ก โรงเรียนอัสสัมชัญ ได้โพสต์ข้อความ พร้อมภาพเหล่าอาจารย์ และเพื่อน ๆ เดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับ 2 ทีมนักเรียนเก่งของโรงเรียน ที่เพิ่งลงเครื่องฯ กลับมาถึงเมืองไทย จากที่ได้ไปคว้าชัยชนะ ในการแข่งขันดาวเทียมจิ๋ว (Cansat) 2022 โดยเปิดเผยว่า



ภราดา ดร.อาวุธ  ศิลาเกษ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญ, พลเรือเอกประพฤติพร  อักษรมัต นายกสมาคมอัสสัมชัญ, ดร.ธะนาชัย  ธีรพัฒนวงศ์ นายกสมาพันธ์ สมาคมศิษย์เก่า คณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย, พร้อมคณะครู ตัวแทนคณะกรรมการ สมาคมอัสสัมชัญ เดินทางไปรับ ทีม Descendere โรงเรียนอัสสัมชัญ ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 คว้าแชมป์โลก การแข่งขัน Annual CanSat Competition 2022 ณ เมือง Blacksburg รัฐ Virginia ประเทศสหรัฐอเมริกา และร่วมแสดงความยินดี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ส่วนทีม Gravity ได้อันดับ 7 จะบินกลับมาประเทศไทย ในวันอังคารที่จะถึงนี้

สำหรับการแข่งขัน Annual CanSat Competition 2022 เป็นการแข่งขันดาวเทียมจิ๋ว (Cansat) ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยมีทีมตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ทั้งสิ้น 23 ทีม ที่ได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ จาก 11 ประเทศทั่วโลก เพื่อคัดเลือกหาผู้ชนะเลิศ ซึ่ง ทีม Descendere โรงเรียนอัสสัมชัญ ได้แชมป์โลกมาครอง



นอกจาก ภาพความประทับใจ การต้อนรับกลับเมืองไทยของ ทีม Descendere ที่ชนะเลิศอันดับ 1 คว้าแชมป์โลก การแข่งขันดาวเทียมจิ๋ว (CanSat) 2022 ...Backbone MCOT มีข้อมูลเบื้องหลังความสำเร็จจาก สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก (สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ Defence Technology Institute) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ร่วมแสดงความยินดี และมีความภูมิใจ กับนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่ได้รางวัลชนะเลิศ คว้าแชมป์โลก การแข่งขันโครงการ Annual Cansat Competition 2022 ระบุว่า

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ขอแสดงความยินดี กับนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คว้าแชมป์โลก จากการแข่งขันโครงการ Annual Cansat Competition 2022 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการส่งนักเรียนเข้าร่วมแข่งขัน ณ เมือง Blacksburg รัฐ Virginia ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 - 12 มิถุนายน 2565

สทป. มีความภาคภูมิใจ ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการสนับสนุน และส่งเสริมเยาวชนของชาติ ในครั้งนี้ โดยที่ผ่านมา นักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขัน Thailand Cansat Rocket Competition 2022



ซึ่งจัดโดย สทป. และ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และล่าสุด สทป. ได้สนับสนุนบุคลากร เครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบ ที่มีอยู่ในการทดสอบ จำลองสภาพแวดล้อม (Environmental Test) ตามกติกาการแข่งขัน รวมถึงทดสอบการทำงานของ ดาวเทียมขนาดเล็ก (Cansat) โดยการปล่อยจากจรวดประดิษฐ์ของ สทป. เพื่อเตรียมความพร้อม ยืนยันผลการออกแบบ และการผลิต ก่อนส่งเข้าร่วมแข่งขันของนักเรียน โรงเรียนอัสสัมชัญ ในครั้งนี้อีกด้วย

และข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับการแข่งขันดาวเทียมขนาดเล็ก (Cansat) 2022 ของทีม Descendere ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 คว้าแชมป์โลก และทีม Gravity ซึ่งแข่งขันได้ติดอันดับที่ 7 จากทีมแข่งขันทั้งหมด 23 ทีม ที่มาจาก 11 ประเทศทั่วโลก Backbone MCOT ขอแนะนำผู้ที่สนใจ สามารถติดตามได้ในเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ โรงเรียนอัสสัมชัญ (คลิกดูได้ ที่ข้อมูลอ้างอิง ด้านล่างเพจ) ซึ่งมีข้อมูลในวันแข่งขัน และภาพกิจกรรมการแข่งขัน ของน้อง ๆ คนเก่ง ทั้ง 2 ทีม พร้อมบทสัมภาษณ์ตัวแทนทีม จากแอดมินเพจฯ ซึ่งขอนำบางช่วงบางตอน ในบทสัมภาษณ์ให้ความรู้ เกี่ยวกับการแข่งขัน มาบอกเล่า ดังนี้

นายบุญฤทธิ์ ปฐมนันทพงศ์ ทีม GRAVITY เล่าให้ฟังว่า ภารกิจ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ภารกิจ ได้แก่ ภารกิจหลัก คือ การส่งดาวเทียมขนาดจิ๋ว ที่เราประดิษฐ์ ไปที่ความสูงราว 700 เมตร และเมื่อตกลงมา ต้องมีร่มชูชีพ 2 อัน ร่มแรก ต้องกางออกเมื่อออกมาจากจรวด และมีความเร็ว 15 เมตร/วินาที ร่มที่ 2 ต้องกางที่ความสูง 400 เมตร และมีความเร็ว 5 เมตร/วินาที และเมื่อถึง 300 เมตร ต้องปล่อยตัว Payload ที่ถูกเกี่ยวด้วยเชือกยาว 10 เมตรออกมา โดยตัว Payload จะต้องมีกล้องถ่ายวิดีโอ หันไปทางทิศใต้ตลอดเวลา ส่วนภารกิจพิเศษ คือ มีกล้องใน Container เพื่อบันทึกวิดีโอ ขณะที่กำลังปล่อย Payload

นายธรรศวริทธิ์ เครือคล้าย ตัวแทนของ ทีม DESCENDERE เล่าให้ฟังว่า "การทำงานทีม DESCENDERE จะแบ่งเป็น 3 แผนกใหญ่ ๆ ประกอบด้วย ฝ่ายในการดูแลการทำโมเดล 3 มิติ, ฝ่ายอิเล็กทรอนิกส์ และฝ่ายโปรแกรมเมอร์ ซึ่งการเตรียมการก่อนเข้าแข่งขัน ใช้ระยะเวลาประมาณ 9 เดือน
ปัญหาและอุปสรรคที่พบ คือ การทำดาวเทียมจิ๋ว (Cansat)เป็นงานทำมือ การควบคุมคุณภาพอย่างละเอียด เป็นเรื่องยากมาก แต่ทีมเราก็พยายามทำให้แต่ละลูกใกล้เคียงกันที่สุด

นายกิตติภณ อมรประเสริฐกิจ ทีม DESCENDERE ได้เพิ่มเติมสิ่งที่พวกเขา ได้จากการแข่งขันว่า เรื่องแรก คือ เรื่องวิชาการ เพราะต้องใช้หลาย ๆ เครื่องมือที่ทีมไม่เคยใช้ อย่างโปรแกรม CAD ไว้ปั้นโมเดลสามมิติ ถ้าไม่มาทำงานนี้ ก็น่าจะยากที่เด็กมัธยมอย่างผม จะใช้เป็นครับ รวมไปถึงการศึกษางานวิจัย เพื่อนำมาข้อมูลในการทำงาน อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การได้รู้ว่าจริง ๆ รอบตัวเรา มีคนเก่งอยู่เยอะมาก และต้องพัฒนาตัวเองต่อไป



สำหรับดาวเทียมจิ๋ว (Cansat) คือ การย่อส่วนดาวเทียมจริง ลงมาให้เล็ก ๆ เพื่อให้ราคาถูกลง และคนทั่วไป ที่มีทุนไม่มาก แต่สนใจวิศวกรรม สามารถลองทำได้ ดาวเทียมจิ๋ว ต่างกับดาวเทียมจริง ตรงที่ดาวเทียมจิ๋ว จะไม่ถูกยิงขึ้นวงโคจร แต่จรวดจะส่งไปที่ความสูงเกือบ ๆ 1 กิโลเมตร แล้วปล่อยดาวเทียมจิ๋ว ออกมากลางอากาศ เพื่อออกมาเก็บข้อมูลข้างนอก และตกถึงพื้นด้วยร่มชูชีพ

สำหรับ Annual CanSat Competition เป็นการแข่งขันรายการใหญ่ รายการหนึ่ง ที่ให้คนที่มาแข่งขันในแต่ละปี Design Payload ตามโจทย์ที่กำหนด

ส่วน Payload คือ อุปกรณ์ที่ดาวเทียม ใช้ทำภารกิจ เช่น ถ้าภารกิจหลักของดาวเทียม คือ เพื่อถ่ายภาพ Payload จะเป็นกล้องที่ใช้เก็บภาพ โดยปีนี้ เค้าให้โจทย์มาเป็น Tethered Payload คือ Payload ที่ต้องใส่ไว้ใน ภาชนะทรงกระบอก และจะดีดตัวออกมา พร้อมเชือกยาว 10 เมตร ซึ่งการจะทำระบบปล่อยเชือก ความยาวขนาดนี้ ไว้ในดาวเทียมจิ๋ว ซึ่งพื้นที่มีจำกัดมาก ๆ เป็นเรื่องท้าทายสำหรับแข่งขัน


อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : Assumption College โรงเรียนอัสสัมชัญ
https://www.facebook.com/AssumptionCollege1885

เว็บไซต์ : โรงเรียนอัสสัมชัญ
https://www.assumption.ac.th

เฟซบุ๊ก : สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ Defence Technology Institute
https://www.facebook.com/dtithailand



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล