ย้อนกลับไปเมื่อ 120 ปีที่แล้ว วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 ได้มีประกาศใช้ “ธนบัตร” แบบแรกของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการนำเงินกระดาษออกมาใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยธนบัตรแบบแรกนี้มีทั้งหมด 5 ชนิดราคา ได้แก่ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1000 บาท
ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเงินกระดาษออกมาใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จนกระทั่งต่อมาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการดำเนินการเพื่อออกใช้ธนบัตร เมื่อ พ.ศ. 2444
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันต์มงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติขณะนั้น ได้ติดต่อไปยัง “บริษัทโทมัส เดอ ลา รู จำกัด” ประเทศอังกฤษ ให้ออกแบบและจัดพิมพ์ธนบัตร โดยมีกระบวนการพิจารณาแบบธนบัตรทั้งกระดาษพิมพ์ ขนาด สี ข้อความ ความปลอดภัยจากการปลอมแปลง พิจารณาแบบร่างสี และแบบทดลองพิมพ์ จนเป็นที่พอใจแลสั่งพิมพ์โดยธนบัตรแบบหนึ่งนี้มีทั้งหมด 5 ชนิดราคา ได้แก่ 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1000 บาท
ในที่สุด วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2445 ก็ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติธนบัตรสยาม ร.ศ.121 ว่าด้วยการออกใช้ธนบัตร และต่อมาวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2445 ได้เปิดรับจ่ายแลกธนบัตรเป็นครั้งแรก ได้มีการทูลเกล้าฯ ถวายธนบัตรใหม่ 1 สำรับ คือ ธนบัตรหมวดแรก เลขหมาย ๐๐๐๐๑ ทุกชนิดราคา รวมทั้งธนบัตรแบบหนึ่ง ชนิดราคา 5 บาท หมวด ก๑ เลขหมาย ๐๐๐๐๑ ซึ่งถือว่าเป็นธนบัตรฉบับแรกของประเทศ จากนั้นได้เปิดให้ผู้เข้าร่วมในพิธี ได้แก่ พระราชวงศ์ ผู้แทนคณะทูตต่างประเทศ และแขกผู้มีเกียรติ ได้แลกธนบัตรเป็นที่ระลึก
ธนบัตรชนิดราคา 5 บาท ปรากฏครั้งสุดท้ายในธนบัตรแบบสิบเอ็ด ที่ออกใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2512 จากนั้นมิได้พิมพ์ชนิดราคานี้ออกใช้อีก แต่ใช้เหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 5 บาทแทน
ที่มา : ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ขอบคุณภาพจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย