X
“ทุติยเพ็ญ” คืออะไร? | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

“ทุติยเพ็ญ” คืออะไร? | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

30 ส.ค. 2566
8500 views
ขนาดตัวอักษร

คืนนี้ (30 สิงหาคม) อย่าลืมแหงนหน้ามองฟ้าดูปรากฏการณ์ “ซูเปอร์บลูมูน” หรือ “ทุติยเพ็ญ” กันนะคะ วันนี้น้องบัวบานมีความหมายของคำว่า “ทุติยเพ็ญ” มาฝากทุกคนกันค่ะ ไปดูกันเลย


พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 จัดเก็บความหมายของคำว่า “ทุติย-” และคำว่า “เพ็ญ” เอาไว้ดังนี้

  • “ทุติย-” อ่านว่า ทุติยะ- มาจากภาษาบาลี เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง ที่ 2 มักใช้นำหน้าศัพท์อื่น เช่น ทุติยดิถี = วัน 2 คํ่า, ทุติยมาส = เดือนที่ 2, ทุติยวาร = ครั้งที่ 2, ทุติยสุรทิน = วันที่ 2
  • “เพ็ญ” มาจากภาษาเขมร เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง เต็ม
  • “ทุติยเพ็ญ” จึงหมายถึง ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน 

ส่วนคำว่า “Blue Moon” นั้น มาจากสำนวน once in a blue moon โดยในปี 2426 ได้เกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ที่อินโดนีเซียทำให้ฝุ่นละอองต่าง ๆ ลอยขึ้นไปในอากาศ เกิดการกระเจิงแสง ทำให้มองเห็นดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงิน จึงนำเอาคำว่า “Blue Moon” มาใช้เรียกดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ที่หมายถึงอะไรที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือนาน ๆ จะเกิดขึ้นที

ปรากฏการณ์ “ทุติยเพ็ญ” หรือ ภาษาอังกฤษ Blue Moon หมายถึงปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เนื่องจากปกติแล้วดวงจันทร์มีคาบการโคจรรอบโลกประมาณ 29.5 วัน ในขณะที่หนึ่งเดือนในปฏิทินที่เราใช้กันมี 30-31 วัน เท่านั้น ส่งผลให้เมื่อวันเวลาผ่านไป บางเดือนมีวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งในช่วงต้นเดือนและปลายเดือน ปรากฏการณ์นี้อาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงสำนวนภาษาอังกฤษอย่าง Once in a blue moon ที่หมายถึงอะไรที่เกิดขึ้นได้ยาก หรือนาน ๆ จะเกิดขึ้นที

ในคืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 สามารถสังเกตปรากฏการณ์ “ซูเปอร์บลูมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย ซึ่งดวงจันทร์เต็มดวงครั้งนี้จะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15% โดยดวงจันทร์จะมีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร 

ความพิเศษของบลูมูนครั้งนี้คือ จะเป็นปรากฏการณ์บลูมูนในรอบ 3 ปี นับจากครั้งล่าสุดที่เกิดบลูมูนคือวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งในครั้งนั้นนอกจากจะตรงกับวันฮาโลวีนแล้ว ยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) พอดีอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • - พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
  • - NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

น้องบัวบานขอฝากอ่านบทความอื่น ๆ ของน้องบัวบานไว้ด้วยนะคะ : bit.ly/khamthai_BB 

ป.ล. ก่อนจากกัน น้องบัวบานมีเว็บไซต์ดี ๆ มาฝากพี่ ๆ ทุกคนด้วยนะคะ

  • ❤️คำทับศัพท์ใช้แบบไหน? เช็กได้ที่ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา https://transliteration.orst.go.th/search 
  • ❤️คำนี้เขียนถูกไหม? เช็กได้ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) https://dictionary.orst.go.th/
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล