X
12 กุมภาพันธ์ 1912 สิ้นสุดการปฏิวัติซินไฮ่ สงครามกลางเมืองจีนเปลี่ยนจีนกลายเป็นสาธารณรัฐ ก่อนจะล้มเหลวกลายเป็นยุคขุนศึก

12 กุมภาพันธ์ 1912 สิ้นสุดการปฏิวัติซินไฮ่ สงครามกลางเมืองจีนเปลี่ยนจีนกลายเป็นสาธารณรัฐ ก่อนจะล้มเหลวกลายเป็นยุคขุนศึก

12 ก.พ. 2567
10710 views
ขนาดตัวอักษร

การปฏิวัติซินไฮ่ หรืออีกชื่อว่า การปฏิวัติ ค.ศ. 1911 หรือการปฏิวัติจีน เป็นการปฏิวัติซึ่งโค่นล้มราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองจีน การปฏิวัติได้เปลี่ยนการปกครองของประเทศไปสู่ประชาธิปไตยและสถาปนาสาธารณรัฐจีน การปฏิวัตินี้ได้ชื่อว่าซินไฮ่เพราะมีขึ้นใน ค.ศ. 1911 ซึ่งตรงกับอักษรซินไฮ่ในแผนภูมิสวรรค์ในปฏิทินจีน


การปฏิวัติซินไฮ่ถือได้ว่ามีความสำคัญในประวัติศาสตร์จีน เพราะนอกจากจะปิดฉากการปกครอง 267 ปีของราชวงศ์ชิงที่สถาปนาโดยชนชาติแมนจูแล้ว ยังเป็นการปิดฉากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีนที่ยาวนานกว่า 2,000 ปีอีกด้วย 

การปฏิวัติประกอบด้วยการกบฏและการก่อการกำเริบหลายครั้ง จุดเปลี่ยนคือ การก่อการกำเริบวูชางเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดการกับขบวนการคุ้มครองทางรถไฟที่ผิด การปฏิวัติสิ้นสุดลงด้วยการสละราชสมบัติของจักรพรรดิผู่อี๋ หรือ ปูยี ที่คนไทยได้ยินบ่อย ๆ  จักรพรรดิองค์สุดท้าย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 อันเป็นจุดสิ้นสุดของจักรวรรดิจีน

โดยการนำของปฎิวัติซินไฮ่ นำโดยซุนยัดเซ็น เป็นนักประชาธิปไตยและนักปฏิวัติ ผู้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "บิดาของชาติ" ในสาธารณรัฐจีน และ "ผู้บุกเบิกการปฏิวัติประชาธิปไตย" ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยความเป็นผู้ริเริ่มจีนชาตินิยมคนสำคัญ ซุนมีบทบาทสำคัญในจุดประกายการโค่นล้มราชวงศ์ชิง กระทั่งกลายเป็นกระแสต่อต้านราชวงศ์และนำไปสู่การปฏิวัติซินไฮ่ ซึ่งเปลี่ยนประเทศจีนเป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ซุนเป็นประธานาธิบดีเฉพาะกาลคนแรกเมื่อสาธารณรัฐจีนก่อตั้งขึ้นในแม้ซุนถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนสมัยใหม่ ชีวิตการเมืองของเขากลับต้องต่อสู้ไม่หยุดหย่อนและต้องลี้ภัยบ่อยครั้ง หลังประสบความสำเร็จในการปฏิวัติ เขากลับสูญเสียอำนาจอย่างรวดเร็วในสาธารณรัฐจีนที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น และนำรัฐบาลปฏิวัติสืบต่อมาเป็นการท้าทายขุนศึกที่ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ  ค.ศ. 1912 และภายหลังร่วมก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าพรรคคนแรก 


โดยหลักคิดสำคัญของซุนยัดเซ็นคือ ลัทธิไตรราษฎร์ ซานหมินจู่อี้  อันได้แก่เอกราชแห่งชาติ (หมินจู่) อำนาจอธิปไตยของประชาชน (หมินฉวน) และหลักในการครองชีพ (หมินเซิง) ภาษาอังกฤษนิยมแปลเป็นหรือ socialism ซึ่งสามารถสรุปได้โดยย่อคือ

1) ชาตินิยม (หมินจู่) หรือหลักการถือความเป็นเอกราชของชาติ เนื่องมหาอำนาจจักรวรรดินิยมยังคงคุกคามตามหัวเมืองต่าง ๆ ผืนแผ่นดินของจีน ซุนได้ใช้หลักการต่อต้านจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมมาสอดแทรกเป็นข้อย่อยของหลักการข้อแรก ส่วนข้อย่อยข้อสองคือหลักการปกครองตนเองที่ควรจะได้แก่ชนกลุ่มน้อยภายในประเทศจีน ซุนถือว่าทุกชนชาติในจีนทุกชนชาติควรมีความเสมอภาคเท่าทียมกันและล้วนเป็นชาวจีนด้วยกัน

(ประเทศจีนประกอบด้วยเชื้อชาติกลุ่มใหญ่ 5 เผ่า คือ ชาวฮั่น ชาวแมนจู ชาวมองโกล ชาวทิเบต ชาวอุยกูร์ ซุนถือว่าราชวงศ์ชิงในขณะนั้นปกครองโดยอภิสิทธิ์ชนชาวแมนจูจึงขัดกับหลักการจึงต้องทำการโค่นล้มราชวงศ์ชิงและให้ชาวแมนจูลงมามีฐานะเท่ากับเชื้อชาติอื่น ๆ

2) ประชาธิปไตย (หมินฉวน) หรือหลักการถืออำนาจอธิปไตยของปวงชน รัฐบาลในอุดมการณ์ของซุน จะต้องเป็นรัฐที่แบ่งแยกองค์การที่ใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 สาขา คือนอกจากมีอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตามหลักของมองเตสกิเออ (Montesquieu) ซุนยังมีเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในขณะเดียวกันต้องถือว่าประชาชนจะเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุด การเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของประชาชนอาจแสดงออกได้ 4 ทาง อำนาจการออกเสียงเลือกตั้ง (Election) อำนาจถอดถอน (Recall) และอำนาจการลงประชามติ (Referendum)

3) ความเป็นอยู่ของประชาชน (หมิงเซิง) หรือหลักการในการครองชีพ เป็นหลักการที่ซุนได้ยืมเอาลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์มาใช้ มีการแบ่งสรรปันส่วนที่ดินใช้สอย

แนวคิดทั้งสามดังกล่าวต่อมาได้กลายเป็นหลักการพื้นฐานที่ยึดถือในการปฏิวัติของจีนตลอดระยะเวลาหลายสิบปี

ระหว่างที่ดร.ซุนเคลื่อนไหวเพื่อสร้างกระแสการปฏิวัติจีนนั้น ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศจีนก็มีความเคลื่อนไหวจากคนกลุ่มต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน เพียงแต่กลุ่มอื่นนั้นเป็นเป็นเพียงกลุ่มที่กระจุกแต่เพียงในพื้นที่นั้น ๆ มิได้มีการคิดการใหญ่ซึ่งครอบคลุมไปทั่วประเทศ และที่สำคัญไม่มีหลักการพื้นฐานของการปฏิวัติที่แน่ชัด ดังเช่น ลัทธิไตรราษฎร์ ของ ซุน ยัตเซ็น


จนในเดือน สิงหาคม ปี ค.ศ. 1905 ก็มีการประกาศรวมกลุ่มผู้สนับสนุนการปฏิวัติจีนที่ชื่อ สมาคมพันธมิตรปฏิวัติจีน (จงกั๋วถงเหมิงฮุ่ย:中国同盟会) ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย "ถงเหมิงฮุ่ย" นี้มีจุดมุ่งหมายในการปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิง โดยยึดหลักการของลัทธิไตรราษฎร์ โดยศูนย์กลางของถงเหมิงฮุ่ยนั้น อยู่ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ช่วงก่อนหน้าที่ "ถงเหมิงฮุ่ย" จะเกิดขึ้นนั้น ทางฝั่งราชสำนักจีนที่ประกาศสงครามกับญี่ปุ่น-ชาติตะวันตก และปล่อยให้กบฏนักมวยออกมาสร้างความวุ่นวายในปักกิ่ง กำลังตกอยู่ในสถานะแพ้สงครามให้กับกองทัพมหาอำนาจพันธมิตร 8 ประเทศ จนต้องมีการลงนามในสนธิสัญญาที่เรียกว่า Boxer Protocol เพื่อยืนยันว่า จีนยินยอมชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล จักรพรรดิกวังซฺวี่ก็กำลังพยายามทำการปฏิรูปทางการปกครองประเทศ การทหาร อยู่เช่นกัน โดยมีการส่งคนไปศึกษายังต่างประเทศเพื่อเตรียมประกาศรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งหมดก็สิ้นสุดลงเพราะการขัดขวางของพระนางซูสีไทเฮา


อย่างไรก็ตาม ดังเช่น ที่ ซุนกล่าวไว้ถึง ความสิ้นหวังต่อระบอบจักรพรรดิ การปฏิรูปที่ราชสำนักชิงพยายามทำนั้น ในสายตาของประชาชนกลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และยิ่งเป็นการเหยียบย่ำซ้ำเติมให้ทุกข์ยากยิ่งขึ้นไปอีก จากกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อราชสำนักชิงที่พุ่งขึ้นสูง ส่งผลให้ภายในระยะเวลาแค่หนึ่งปี ถงเหมิงฮุ่ย รวบรวมสมาชิกได้มากกว่าหมื่นคน มีการเปิดหนังสือพิมพ์เพื่อ ปลุกระดม และเผยแพร่ ลัทธิไตรราษฎร์ และที่สำคัญพยายามลงมือกระทำการปฏิวัติต่อเนื่อง จนการปฎิวัติซินไฮ่เกิดขึ้นจริง


ในฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1895 ขบวนการซิ่งจงฮุ่ย, ซึ่งมีฐานที่มั่นตั้งอยู่ที่ฮ่องกงวางแผนการก่อการลุกฮือขึ้นที่เมืองกวางโจวครั้งแรกขบวนการดังกล่าวได้มีแกนนำคือ ลู่ เฮาตง ผู้ซึ่งได้เกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบธงที่ใช้ในการลุกฮือ หรือ ธงท้องฟ้าสีครามกับดวงตะวันสาดส่อง (ต่อมาภายหลังคือธงชาติของสาธารณรัฐจีน) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1895 ขบวนการซิ่งจงฮุ่ยนำโดย เหยิงกวานและดร.ซุนยัตเซ็นนำเจิ้งเหอเหลียงและลู่เฮาตงเดินทางไปยังเมืองกวางโจวเพื่อเตรียมยึดเมืองเป็นฐานที่มั่น อย่างไรก็ตามแผนการของพวกเขารั่วไหลรู้ไปถึงทางราชสำนักชิงเข้า

ทางราชสำนักจึงเริ่มจับกุมกลุ่มนักเคลื่อนไหวปฏิวัติรวมถึงลู่เฮาตงซึ่งถูกประหารชีวิตโดยการตัดหัวในเวลาต่อมาการพยายามยึดเมืองกวางโจวครั้งแรกจึงจบลงด้วยความล้มเหลว ภายใต้แรงกดดันจากราชสำนักชิงทำให้รัฐบาลของฮ่องกงภายใต้อาณานิคมอังกฤษสั่งห้ามกลุ่มนักเคลื่อนไหวเหล่านี้เข้าสู่ดินแดนเป็นเวลาห้าปี ดร.ซุนยัตเซ็นต้องหลบลี้ภัยและได้ทำการเคลื่อนไหวปฏิวัติใต้ดินและระดมทุนในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, แคนาดาและสหราชอาณาจักร


ในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1907 สฺวี ซีหลิน ได้ก่อตั้งขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิง กวงฝูฮุ่ย นำการจลาจลในเมืองอันชิ่ง, มณฑลอานฮุย ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "การลุกฮือที่อันชิ่ง" สฺวี ซีหลินในขณะนั้นได้เป็นข้าราชการตำรวจและหัวหน้ากรมของราชสำนักชิง เขาได้ตัดสินใจแปรพักต์มาเข้าร่วมสมทบกับฝ่ายปฏิวัติขบวนการถงเหมิงฮุ่ยในภายหลัง เขานำการจลาจลที่ลอบสังหารผู้ว่าราชการมณฑลอานฮุย, เอิงหมิง (恩銘) ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ผู้หนึ่งในราชสำนักชิงการก่อการจบลงด้วบความพ่ายแพ้ของสฺวีซีหลินหลังจากการต่อสู้สี่ชั่วโมง สฺวีซีหลินและกลุ่มผู้ก่อการทั้งหมดถูกจับและทหารองครักษ์ของเอิงหมิงได้ทำการประหารชีวิตพวกเขา

ญาติของสฺวีซีหลิน ชิว จิ่น นักสตรีนิยมและสตรีนักปฏิวัติได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกถงเหมิงฮุ่ย ชิวจิ่นได้ออกตีพิมพ์สตรีรายเดือน มีชื่อว่า “วารสารสตรีรายเดือน” สนับสนุนนโยบายการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิงของดร.ซุนยัตเซ็นและยังมีนโนบายสนับสนุนสิทธิสตรีขึ้นเป็นครั้งแรกในจีน ทำให้เธอเป็นนักสตรีนิยมคนแรกที่บุกเบิกความเสมอภาคเท่าเทียมของสิทธิสตรีในจีน เมื่อสฺวีซีหลินถูกประหารอย่างโหดร้าย เธอจึงได้เตรียมกำลังเพื่อทำการลุกฮือปฏิวัติต่อ แต่เธอกลับถูกราชสำนักชิงจับกุมเสียก่อนและถูกประหารชีวิตในไม่กี่วันต่อมา

เหล่าชนชั้นปกครองต้าชิงรู้สึกว่าการจะรักษาระบบการเมืองให้คงสภาพเดิมต่อไปนั้นเป็นเรื่องยาก จึงประกาศรัฐธรรมนูญชั่วคราวในปี ค.ศ. 1908 ในปีเดียวกันฮ่องเต้กวังซี่ และพระนางซูสีไทเฮา สิ้นพระชนม์ ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองอันวุ่นวายพระนางซุสีไทเฮาก่อนสวรรคตก็ได้สถาปนาฮ่องเต้น้อยผู่อี๋ (ปูยี) ขึ้นครองราชย์


วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1911 ดร.ซุน และ หวงซิง นำมวลชนลุกฮือขึ้นก่อการปฏิวัติที่เมืองกว่างโจว ปฏิบัติการครั้งนั้นล้มเหลว มีผู้ก่อการเสียชีวิตจำนวนมาก ต่อมามีการนำร่างผู้เสียชีวิต 72 คนไปฝังไว้ที่เนินหวงฮัว ในประวัติศาสตร์เรียกว่า '72 วีรบุรุษเนินหวงฮัว'

เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1911 ราชสำนักชิงได้ขายสิทธิอำนาจการเดินรถไฟให้กับชาติมหาอำนาจ ทำให้ราชวงศ์ถูกตราหน้าว่าเป็นทรราชยอมขายชาติ ยังเหตุให้เกิดความไม่พอใจขึ้นในหมู่ชาวจีนผู้รักชาติ นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านขึ้นใน 4 มณฑลคือ หูหนาน หูเป่ย เสฉวนและกวางตุ้ง ราชสำนักชิงจึงนำกองทัพเข้าปราบปรามทันที

ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วประเทศเกิดกระแสทวงคืนเส้นทางรถไฟไม่หยุดหย่อนนั้น ได้เกิดกลุ่มปฏิวัติจากสมาชิกของสมาคมถงเหมิงฮุ่ยทั้งสิ้นและแฝงตัวอยู่ในกองทัพซินจวินแห่งหูเป่ย ทหารจำนวน 1 ใน 3 และนายทหารระดับล่างล้วนแล้วแต่เป็นคนของทั้งสองกลุ่มนี้รวม ๆ แล้วมีจำนวนคนกว่า 5,000–6,000 คน

วันที่ 9 ตุลาคม ขณะที่ซุนอู่ผลิตระเบิดอยู่ที่กลุ่มก้งจิ้นฮุ่ยที่ตั้งอยู่ที่เมืองฮั่นโข่วเขตเช่าของรัสเซีย ได้เกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้น ซุนอู่ได้รับบาดเจ็บและหลบหนีไป ทางการเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุพบเอกสาร ตราทางราชการและธงของขบวนการปฏิวัติถงเหมิงฮุ่ย

รุ่ยเฉิง  ข้าหลวงใหญ่ในราชสำนักชิงประจำมณฑลหูเป่ยและหูหนาน รู้สึกถึงสถานการณ์รุนแรง จึงประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วเมืองทันทีและมีการกวาดจับผู้ต้องสงสัย รวมถึงผู้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับคณะปฏิวัติ


เจี่ยงอี้อู่และหลิวฟู่จี ผู้บัญชาการสูงสุดรู้ว่าที่ฮั่นโข่วเกิดเรื่อง แผนการปฏิวัติอาจถูกเปิดโปง ในสภาวการณ์อันล่อแหลมพวกเขาจึงตัดสินใจอย่างเฉียบขาดว่าจะเริ่มปฏิบัติการก่อนกำหนด จึงยิงปืนใหญ่ขึ้นที่ประตูจงเหอเพื่อเป็นสัญญาณ และส่งประกาศคณะปฏิวัติอย่างลับ ๆ ตามค่ายทหารต่าง ๆ ของกองทัพซินจวิน

ในคืนนั้นกองบัญชาการของกลุ่มปฏิวัติถูกปิดล้อม หลิวฟู่จีและเผิงฉู่ฟานถูกจับกุม เจี่ยงอี้อู่หนีไปได้ เช้ารุ่งขึ้นของวันที่ 10 ตุลาคม หลิวฟู่จี เผิงฉู่ฟาน และอีกหลายคนถูกยิงเป้า กลุ่มปฏิวัติขาดผู้บัญชาการพวกเขาจึงเชื่อมสัมพันธ์กันเองและชูธงปฏิวัติอย่างเด็ดเดี่ยว

สงปิ่งคุน  คนของกลุ่มปฏิวัติที่แฝงตัวในฐานที่มั่นที่ 8 ค่าย 8 ของกองทัพซินจวินที่เมืองอู่ชาง จึงฉวยโอกาสดำเนินการอย่างฉับพลัน และเรียกแกนนำขบวนการปฏิวัติมาประชุมหารือ กำหนดก่อการปฏิวัติในเวลา 1 ทุ่มตรงของคืนวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 

สงปิ่งคุนนำกองทัพปฏิวัติสังหารนายทหารที่ทำการต่อต้าน 9 นาย และนำทหาร 40 นายเข้ายึดครองคลังเก็บอาวุธที่ฉู่ว่างไถ หลังจากยึดคลังอาวุธได้จึงส่งจดหมายไปยังกลุ่มปฏิวัติกลุ่มอื่น ๆ ให้มาชุมนุมกันที่ฉู่ว่างไถ ส่วนสงปิ่งคุนและอู๋จ้าวหลินนำกองทัพบุกโจมตีจงตูสู่ ของมณฑลหูเป่ยและหูหนาน

รุ่ยเฉิงอาศัยทหาร 3,000 นายที่อยู่เฝ้ารักษาการณ์จงตูสู่ อิงชัยภูมิที่ได้เปรียบทำการต่อต้านอย่างเหนียวแน่น กองทัพปฏิวัติแบ่งกำลังทหารออกเป็น 3 สาย ออกโจมตีอย่างดุเดือด 3 ด้าน กองทหารปืนใหญ่เดินทางมาสนับสนุน จงตูสู่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก รุ่ยเฉิงสั่งให้คนเจาะกำแพงที่อยู่ล้อมรอบออก แล้วขึ้นเรือรบหนีไปยังฮั่นโข่ว

หลังจากการต่อสู้อันดุเดือดเป็นเวลาหนึ่งคืน กองทัพปฏิวัติก็เข้าควบคุมเมืองอู่ชาง จากค่ำคืนของวันที่ 11 จนถึงเช้าตรู่วันที่ 12 กองทัพซินจวินในเมืองฮั่นโข่ว และฮั่นหยางได้ทยอยกันลุกฮือขึ้นก่อการปฏิวัติ 3 อำเภอในอู่ฮั่นถูกกองทัพปฏิวัติครอบครองทั้งหมด การปฏิวัติที่อู่ชางได้รับชัยชนะ

หลังเกิดการปฏิวัติที่อู่ชาง มณฑลต่าง ๆ ทั่วประเทศจีนจำนวนมากต่างทยอยกันประกาศตนเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อราชสำนักชิง 

ภายหลังจากคณะปฏิวัติที่นำโดยกองทัพซวินจินยึดเมืองอู่ชางได้ ขณะนั้นคณะปฏิวัติเห็นควรที่จะมีผู้นำทางทหารที่มีบารมีมาควบคุมสถานการณ์เบื้องต้น จึงได้เห็นพ้องต้องกันว่าควรผลักดันให้ 'หลีหยวนหง' ขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่รักษาเมืองอู่ชาง หลีหยวนหง เกิดที่มณฑลหูเป่ย ในครอบครัวผู้ดีมีฐานะ เมื่ออายุ 14 ปี ได้ติดตามบิดามาค้าขายที่มณฑลจื๋อลี่ ครั้นอายุ 19 ปี เขามีความสนใจด้านการทหารจึงเข้าเรียนวิชาทหารเรือ เมื่อจบการศึกษาจึงเข้าประจำการณ์ที่เรือรบกว่างเจี่ย

ระหว่างสงครามจีน - ญี่ปุ่นครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1894–1895) เรือรบกว่างเจี่ยถูกทัพเรือญี่ปุ่นยิงจนล่มลงที่ทะเลเหลือง แต่หลีหยวนหงรอดมาได้ ภายหลังได้รับทุนให้ไปศึกษาวิชาทหารต่อที่ญี่ปุ่น เมื่อจบแล้วจึงกลับมาใช้ความรู้พัฒนากองทัพเรือจีนจนก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ต่อมาจึงเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บังคับการทหารนครอู่ชาง จากชื่อเสียงอันโด่งดังจึงทำให้เขาถูกยกย่องให้เป็นผู้กุมอำนาจทางทหารในช่วงนาทีสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในช่วงเวลานั้น ดร.ซุนติดภาระกิจสำคัญที่ต่างประเทศ เพื่อระดมทุนจากชาวจีนโพ้นทะเลเป็นทุนในการปฏิวัติ ดร.ซุนได้ทราบข่าวการปฏิวัติที่อู่ชางขณะที่โดยสารรถไฟในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าจะมีความปลาบปลื้มยินดี แต่ท่านกังวลเรื่องท่าทีของชาติมหาอำนาจจึงไม่เดินทางกลับประเทศจีนทันที

ดร.ซุนมีภารกิจสำคัญที่จะต้องเจรจาหยั่งท่าทีของชาติมหาอำนาจในการรับรองสาธารณรัฐจีน โดยเฉพาะอังกฤษที่มีแหล่งข่าวน่าเชื่อถือว่า อังกฤษให้การสนับสนุนขุนศึกภาคเหนือผู้หนึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ขุนศึกผู้นั้นมีนามว่า 'หยวนซื่อข่าย'

วันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.1911 ราชสำนักชิงในสภาพจนตรอกได้แต่งตั้ง หยวน ซื่อข่าย เป็นผู้แทนพระองค์มีอำนาจเต็มที่ในการสั่งการปราบปรามกบฏ หยวน ซื่อข่าย แต่งตั้ง เฝิง กั๋วจาง เป็นแม่ทัพกองทัพที่ 1 บุกถล่มภาคใต้ แต่ขณะเดียวกันก็ส่งคนแอบเจรจาต่อรองอย่างลับ ๆ กับคณะปฏิวัติ

กองทัพภาคเหนือใช้แสนยานุภาพทางการทหารที่เหนือกว่าปิดล้อมเมืองฮั่นโข่ว ฮั่นหยาง และหยุดทัพไว้เพื่อทำการเจรจาต่อรอง แต่ทว่าคณะปฏิวัติปฏิเสธข้อเสนอของ หยวน ซื่อข่าย

วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1911 กองทัพหยวนซื่อข่ายเผด็จศึกกองทัพปฏิวัติด้วยการระดมยิงปืนใหญ่ จนทัพปฏิวัติต้องล่าถอย กองทัพหยวนซื่อข่ายสามารถยึดเมืองฮั่นโข่วอย่างง่ายดาย หลังจากความพ่ายแพ้ทางการทหาร คณะปฏิวัติเรียกประชุมฉุกเฉินและมีมติให้ หลี หยวนหง รับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่เป็นการชั่วคราว โดยมีหวงซิงเป็นรองฯ เพื่อช่วยกันกู้สถานการณ์อันย่ำแย่


วันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1911 ดร.ซุนเดินทางกลับถึงประเทศจีนที่นครเซี่ยงไฮ้ เพื่อหารือถึงการจัดตั้งระบอบสาธารณรัฐ ในที่ประชุมได้เสนอให้ ดร.ซุนรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลใหม่ในฐานะจอมพลเป็นการชั่วคราว

และในที่ประชุมได้กล่าวถึงกรณีขุนศึกหยวนซื่อข่าย ผู้กุมอำนาจทหารที่ปักกิ่งแสดงเจตนาแน่ชัดว่าอยากเป็นประธานาธิบดี หากให้เขารับตำแหน่งนี้ เขาจะร่วมมือกับการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ ผลจากการประชุมมีมติเบื้องต้นให้ดร.ซุน รับเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว

วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 ดร.ซุนรับตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว ณ นครหนานจิง หลี หยวนหง เป็นรองประธานาธิบดี ควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารมณฑลหูเป่ย ตั้งกองบัญชาการที่เมืองอู่ชาง พร้อมกำหนดให้ใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามระบบสุริยคติ แทนระบบจันทรคติซึ่งใช้มาอย่างยาวนานตามปฏิทินเดิม นับเป็นการเริ่มต้นยุคสาธารณรัฐตามกฎหมายภายใต้สถานการณ์อึมครึม

วันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1912 ขุนศึกต้วนฉีรุ่ย คนสนิทของหยวนซื่อข่าย รวบรวมรายชื่อคณะบุคคลจำนวน 47 คนยื่นฎีกาให้ฮ่องเต้สละราชสมบัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยสันติ

ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง หยวนซื่อข่ายยังไม่ให้การยอมรับรัฐบาลหนานจิง อีกทั้งชาติมหาอำนาจหลายชาติก็ไม่ยอมรับเช่นกัน และแสดงท่าทีหนุนหลังรัฐบาลของขุนศึก หยวน ซื่อข่าย มากกว่า

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1912 หลงยวี่ไทเฮา พระราชมารดาเลี้ยงในฮ่องเต้เสวียนถ่ง (ปูยี) ประกาศการสละราชสมบัติของฮ่องเต้อย่างเป็นทางการ แต่มีเงื่อนไขขอให้พำนักอยู่ต่อไปในพระราชวังกู้กงหรือพระราชวังต้องห้ามและมีบรรดาศักดิ์นำหน้าเช่นเดิม เท่ากับว่าการปกครองกว่า 268 ปี ของราชวงศ์ชิงได้จบสิ้นลง

ภายหลังจากฮ่องเต้สละราชสมบัติ 1 วัน ดร.ซุนขอลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราวและยินยอมให้หยวนซื่อข่ายรับตำแหน่งตามความต้องการ ซึ่งซุนยัตเซ็นตระหนักดีถึงกองทัพที่เข้มแข็งของหยวนซื่อไข่ จึงยอมสละตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับหยวนซื่อข่าย จนกระทั่งต่อมาหยวนซื่อข่ายก็ค่อย ๆ กำจัดกลุ่มถงเหมิงฮุย และ พรรคก๊กมินตั๋ง รวมทั้งประกาศรัฐธรรมนูญใหม่เพิ่มอำนาจให้กับเขาเอง ก่อนที่ปี 1916 เขาจะประกาศตั้งตัวเองเป็นจักพรรดิ ทำให้เหล่าขุนศึกที่เคยปฎิวัติซินไฮ่ก่อกบฎไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลหยวนซื่อข่าย กลายเป็นยุคขุนศึกที่ขุนศึกแต่ละคนนั้นมีอำนาจและกองกำลังปกครองแต่ละพื้นที่ของตนเอง ก่อนที่หยวนซื่อข่ายจะเสียชีวิตด้วยโลหิตเป็นพิษในปี 1916 นั้นเอง จบยุคปฎิวัติซินไฮ่เข้าสู่ยุคขุนศึกที่สร้างความเดือดร้อนจนเกิดการอพยพของคนจีนจำนวนมากในยุคนี้นี่เอง


สำหรับการปฎิวัติซินไฮ่ โดยทั่วไปแล้ว การปฏิวัติครั้งนี้เป็นปฏิกิริยาต่อสามปัจจัยหลัก หนึ่งความเสื่อมของรัฐบาลชิงในช่วงก่อนหน้านี้และความไม่สามารถปฏิรูปและนำพาจีนสู่ความทันสมัยเพื่อเผชิญหน้ากับการท้าทายของต่างชาติได้ ซึ่งความอ่อนแอทำให้ก่อนหน้านี้จีนแพ้สงครามฝิ่นกับอังกฤษ และถูกชาติตะวันตกเข้ามามีอิทธพลมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความอ่อนแอของรัฐบาลชิง สองความเสื่อมโทรมและอดอยากจากภายใน และ สามความไม่พอใจของชาวจีนฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ต่อชนกลุ่มน้อยแมนจูที่เป็นชนชั้นปกครอง กลุ่มต่อต้านชิงใต้ดินหลายกลุ่มและด้วยการสนับสนุนจากนักปฏิวัติจีนพลัดถิ่น ได้พยายามโค่นล้มราชวงศ์ชิง สงครามกลางเมืองระยะสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมายุติลงด้วยการประนีประนอมทางการเมืองระหว่างหยวนซื่อไข่ อดีตนายทหารผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐบาลชิง และซุนยัตเซ็น ผู้นำกลุ่มถงเหมิงฮุย หรือ สหสันนิบาท หลังราชสำนักจีนโอนอำนาจไปยังสาธารณรัฐที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ การสถาปนารัฐบาลผสมเฉพาะกาลได้มีขึ้นร่วมกับรัฐสภา อย่างไรก็ดีอำนาจทางการเมืองในรัฐบาลแห่งชาติใหม่ในกรุงปักกิ่งนั้น ไม่นานได้ถูกผูกขาดโดยหยวนซื่อข่ายและนำไปสู่การแบ่งแยกทางการเมืองและยุคขุนศึกนานอีกหลายทศวรรษ รวมทั้งความพยายามฟื้นฟูจักรวรรดิหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่สำคัญที่สุดคือการพยายามตั้งตนเป็นจักรพรรดิของหยวนซื่อข่ายก่อนเขาจะเสียชีวิต รวมทั้งการก่อตั้งรัฐแมนจูกัวโดยรัฐบาลทหารญี่ปุ่น ที่เชิดอดีตจักรพรรดิปูยีขึ้นเป้นจักรพรรดิแมนจูกัว และพยายามฟื้นฟูราชวงศ์ชิง โดยยุคขุนศึกจบลงด้วยชัยชนะของเหมาเจ๋อตุงและพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1949 


ปัจจุบัน ทั้งสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันและสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่มองว่าตนเป็นผู้สืบทอดการปฏิวัติซินไฮ่และยังคงเคารพอุดมการณ์ของการปฏิวัติ รวมทั้งชาตินิยม สาธารณรัฐนิยม การทำให้จีนทันสมัยและความสามัคคีแห่งชาติ 

อย่างไรก็ตามการปฎิวัติซินไฮ่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการปฎิวัติที่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ล้มเหลวในการต่อมา เช่นเดียวกับการปฎิวัติฝรั่งเศส เพราะสุดท้ายการปฎิวัติเปลี่ยนระบอบทั้งสอง แค่เพียงเปลี่ยนตัวผู้นำของอำนาจไปสู่ผู้นำอีกกลุ่มเพียงเท่านั้น


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)