X
การป้ายน้ำยาเร่งสุก (ทุเรียน) อันตรายหรือไม่ ?

การป้ายน้ำยาเร่งสุก (ทุเรียน) อันตรายหรือไม่ ?

25 เม.ย 2565
6760 views
ขนาดตัวอักษร

"อ.เจษฎ์"  ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์  มีคำถามจากทางบ้านมา ว่า "ทุเรียนที่ขายกันตามตลาดทุกวันนี้ มีการป้ายน้ำยาเร่งสุก จนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว น้ำยาที่ว่านี้ เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคมากแค่ไหนครับ

ยาป้ายขั้วทุเรียน ที่ใช้กันทั่วไปนั้น คือสารชื่อว่า “เอทิฟอน” (ethephon) ซึ่งจะปลดปล่อยก๊าซเอทิลีน (ethylene) ซึ่งเป็นฮอร์โมนพืชตามธรรมชาติ โดยนำมาป้ายที่ขั้วผลทุเรียน หรือผลไม้ชนิดอื่นๆ จะทำให้เกิดการสุกของผลไม้เร็วขึ้น ethephon เป็นสารเคมีอินทรีย์ ในสถานะบริสุทธิ์จะเป็นผลึกรูปเข็มสีขาว ใช้เป็นสารกระตุ้นและควบคุมการเจริญเติบโตของพืช และมีประสิทธิภาพต่อการส่งเสริมการสุกแก่ของผลไม้ได้ การสุกของผลไม้ จากก๊าซเอธิลีนที่ได้จากสารเอทิฟอนนั้น เป็นกระบวนการสังเคราะห์ทางสรีรวิทยาและทางชีวเคมีที่ซับซ้อนของพืช แต่ไม่ก่อให้เกิดสารที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์

การบ่มทุเรียนด้วยสารเอทิฟอนนี้ จะไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค โดยได้รับการวิจัยและศึกษาของภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน ว่าการใช้ยาป้ายขั้วทุเรียนนั้น จะไม่มีตกค้างอยู่ทั้งในเนื้อและเมล็ดทุเรียน เมื่อใช้แล้วจะมีตกค้างอยู่เฉพาะแค่ที่เปลือกของทุเรียน และจะสลายตัวไปในที่สุด ผู้ที่รับประทานผลทุเรียนที่ใช้ยาป้ายขั้วทุเรียนนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากสารเร่งสุกปลอดภัย แต่ในด้านรสชาติของทุเรียนที่บ่มด้วยสารเอทิฟอนนั้น แต่ละคนก็อาจจะชอบหรือไม่ชอบต่างกัน ตามความชอบในเรื่องความหวานหรือกลิ่นที่ต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม ถ้าได้รับสารเอทิฟอนเข้าไปโดยตรง เป็นปริมาณมาก ก็อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น ระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตา อาจจะมีอาการแสบร้อน, คลื่นไส้, และอาเจียนหลังจากรับประทานเข้าไปโดยไม่ตั้งใจ อาเจียนเป็นสีน้ำตาลและสีดำ และกิจกรรมของเอนไซม์ cholinesterase ลดลง


ข้อมูล จาก https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess และ https://www.kasetsanjorn.com/4377/ และ http://m.th.bestplanthormones.com/.../ethephon-a-ripening...



Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล