X
สธ. ห่วงกระแส “กินเนื้อวัวสด ๆ ดิบ ๆ” เสี่ยงพยาธิตัวตืด และโรคติดเชื้อ

สธ. ห่วงกระแส “กินเนื้อวัวสด ๆ ดิบ ๆ” เสี่ยงพยาธิตัวตืด และโรคติดเชื้อ

5 ส.ค. 2565
900 views
ขนาดตัวอักษร

ห่วงกระแสโซเชียลฯ อ้างเปิบของดิบ เป็นวัฒนธรรมการกิน ติดระดับโลก ที่..ตกทอด จากรุ่นสู่รุ่น จะก่อโรคร้ายแรง กรมควบคุมโรค สธ. เตือนกินเนื้อวัว เนื้อควาย สด ๆ ดิบ ๆ เสี่ยงโรคพยาธิ เช่น ตืดวัวควาย โรคโปรโตซัว ในลำไส้ ซาร์โคซิสติส นอกจากนี้ มีโรคแบคทีเรียอื่น ๆ เช่น โรคแอนแทรกซ์, ซาลโมเนลลา, แคมไพโลแบคเตอร์, อีโคไล ฯลฯ แถมโรคพิษสุนัขบ้า ได้ด้วย



เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกระแสสังคม บนโลกโซเชียลมีเดีย ได้รีวิวการกิน และวิธีการทำ ที่ชวนให้น่าลิ้มลอง เมนูนิยม ในการรับประทานอาหาร ประเภทเนื้อวัว เนื้อควาย สด ๆ อาทิเช่น เนื้อวัวดิบ จิ้มแจ่ว, ซอยจุ๊, ลาบดิบ, ก้อย, ซอยห่าง, แหนมดิบ (อาหารอีสาน), ลาบดิบ, ส้า, จิ้นส้ม (อาหารเหนือ) มีการกล่าวอ้างว่า เป็นมรดกถ่ายทอด จากรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็น... วัฒนธรรมการกิน อันยิ่งใหญ่ ระดับโลก

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูล เพื่อการเตือนภัยโรค สำหรับคนที่คิดอยากลอง หรือ คนที่ชอบความหวานของ การกินลาบวัว - ควายดิบ ข้อมูลเตือนภัย โรคพยาธิ ที่พบบ่อย โรคพยาธิตัวตืดวัว - ควาย เกิดจากการกินตัวอ่อนพยาธิ เรียกว่า เม็ดสาคูในเนื้อ ตัวอ่อนเจริญเป็นตัวเต็มวัย ในลำไส้ รูปร่างคล้าย ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ ยาว 5 - 10 เมตร อาจยาว 25 เมตร มี 1,000 - 2,000 ปล้อง ปล้องสุกจะหลุดออกมา 3 - 4 ปล้อง กับอุจจาระ หรือ คืบคลานออกจากทวารหนัก ในแต่ละวัน อายุอยู่ในลำไส้คน 10 - 25 ปี พยาธิจะแย่งอาหารในลำไส้ คนติดโรค จะมีอาการหิวบ่อย ปวดบริเวณลิ้นปี่ ไม่สบายท้อง อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งท้องร่วง ท้องผูก น้ำหนักตัวลดลง ปล้องสุกที่หลุดออกมา อาจเข้าไปไส้ติ่ง ทำให้ไส้ติ่งอักเสบได้

นายแพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการ กองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคซาร์โคซิสติส มีลักษณะคล้ายเม็ดข้าวสาร ในวัว - ควาย มีอัตราการเป็นโรคสูงมาก สำหรับในคน มีรายงานโดย พบซีสต์ในกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อกล่องเสียง และกล้ามเนื้ออื่น ๆ ผู้ที่เป็นโรคนี้ ส่วนมาก มีอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย บวมใต้ผิวหนัง ข้ออักเสบ และเม็ดโลหิตขาวอีโอซิโนฟิลสูง



สำหรับ เชื้อแบคทีเรีย อื่น ๆ เช่น

+ โรคแอนแทรกซ์ เกิดอาการในระบบทางเดินอาหาร คือ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายท้องอย่างรุนแรง อาจพัฒนาไปถึง การติดเชื้อในกระแสเลือด ก็ย่อมรุนแรง จนถึงแก่ความตายได้

+ เชื้อซาลโมเนลลา เป็นแบคทีเรีย ที่มักมีการปนเปื้อน มากับอาหาร เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมักจะมีอาการ อาเจียน ท้องร่วง

+ เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์ เป็นเชื้อที่สามารถพบได้ ในทางเดินอาหารของ วัว และสัตว์อื่น ๆ เชื้อนี้อาจทำให้เกิด โรคลำไส้อักเสบ มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ บางครั้งอาจมีอาการ ถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย

+ เชื้ออีโคไล เป็นเชื้อที่สร้างสารพิษ ทำให้เกิดโรค ในระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไป ประมาณ 1 - 2 วัน จะมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริว และมีอาการท้องร่วง บางครั้ง อาจมีเลือดปน

+ ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า หากนำเนื้อวัว - ควาย ที่ตายแบบไม่ทราบสาเหตุ มากิน แล้วไปเจอวัว - ควาย ที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งคนแล่เนื้อ คนทำอาหาร ไปจนถึงคนกินดิบ ๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้ ซึ่งถ้าเป็น และมีอาการ ตายอย่างเดียว ไม่มียารักษา



ข้อแนะนำประชาชน ให้ใช้หลักมาตรฐาน อาหารปลอดภัย ควรจะเลือกซื้อ เนื้อวัว เนื้อควาย ที่ผ่านการตรวจจาก โรงฆ่าสัตว์แล้วเท่านั้น รับประทานอาหารต้ม ปิ้ง ย่าง เนื้อสัตว์ ให้สุกอย่างทั่วถึง โดยยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สุกด้วยความร้อน หรือผ่านการทำลายตัวอ่อนพยาธิ เช่น ฉายรังสี หรือเก็บเนื้อไว้ในตู้เย็น -20 ˚c นานเกิน 12 ชั่วโมง สำหรับผู้ปรุง ประกอบอาหาร ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ก่อนปรุง / รับประทานอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล