ยอดเขาคิชฌกูฏมีรอยพระพุทธบาทซึ่งเป็นที่เรียกกันทั่วไปว่า พระบาทเขาคิชฌกูฏ หรือ พระบาทพลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลพลวง ตั้งอยู่ที่ตำบลพลวง กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ ห่างจากตัวจังหวัดทางทิศเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถือว่าสูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ "รอยพระพุทธบาท” มีลักษณะเป็นรอยบนหินแผ่นใหญ่ มีรอยลึกประมาณ 2 เมตรเศษ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ค้นพบที่ยอดเขาพระบาทจากที่ทำการอุทยานเขาคิชฌกูฏราว 4 กิโลเมตร
ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ
พระครูธรรมสรคุณ เจ้าอาวาสวัดกระทิง และเป็นเจ้าคณะอำเภอมะขาม ผู้สืบค้นประวัติเขาคิชฌกูฏ กล่าวไว้โดยย่อว่า เมื่อ พ.ศ. 2397 นายติ่งและคณะได้พากันขึ้นไปบนเขาหาไม้กฤษณา ไม้กะลำพักมาขาย ต้องขึ้นไปพักอยู่บนเขาเป็นเวลาหลายวัน และได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้างใหญ่ เพื่อนของนายติ่งคนหนึ่งได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพัก ก็พบแหวนใหญ่ขนาดสวมหัวแม่เท้าได้ และเมื่อช่วยกันตรวจดูก็พบหินแผ่นหนึ่ง มีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอยต่อมานายติ่งและเพื่อนได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี รุ่งขึ้นก็มีงานเทศกาลปิดรอยพระพุทธจำลอง นายติ่งจึงซื้อทองไปปิดรอยพระพุทธบาทนั้น เมื่อปิดแล้วจึงพูดขึ้นว่ารอยพระพุทธบาทเช่นนี้ทางบ้านผมก็มีเหมือนกัน พอดีมีพระได้ยินเข้าจึงไปเรียนให้เจ้าอาวาสวัดพลับ (หลวงพ่อเพชร) ทราบ ขณะนั้นหลวงพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี จึงเรียกนายติ่งมาสอบถาม แล้วพาคณะขึ้นไปพิสูจน์ดู ก็เป็นความจริง และตรวจดูตามบริเวณนั้นทั่วๆ ไปก็พบสิ่งแปลกประหลาดและสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง รอยพระพุทธบาทนั้นท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่ บรรจุคนนั่งได้เป็นร้อยกว่าคนบนยอดเขาสูงสุดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาทมีหินกลมก้อนหนึ่งใหญ่มาก เรียกกันว่า หินลูกพระบาท ตั้งขึ้นมาน่าแปลกมหัศจรรย์เป็นอย่างมากไม่น่าจะตั้งอยู่ได้ มองดูคล้ายลอยอยู่เฉยๆ มีคนกล่าวว่าเขาเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดมาได้
" เขาคิชฌกูฏ " ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะมีชื่อเขาในกรุงราชคฤห์ในประเทศอินเดียลูกหนึ่ง ชื่อว่าเขาคิชฌกูฏ ฟังแล้วคล้ายๆ กับว่าได้ไปยังนครราชคฤห์อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ครั้งปฐมโพธิกาลโน้นและการไปมาก็ไม่สู้ไกลนัก นึกไปว่าปีหนึ่งเรายังได้มีโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทหนึ่งครั้ง ในตำนานศาสนาพุทธกล่าวไว้ว่า เขาคิชฌกูฏอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ซึ่งเป็นเมืองหลวงสมัยก่อนนั้น (อินเดีย) แปลว่าภูเขาแร้งกระพือปีก มีคันธกุฎีอยู่บนยอดเขา และเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีต เป็นความดำริของพระครูธรรมสรคุณซึ่งเป็นกรรมการและเป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวงตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ได้เสนอใช้ชื่อพระบาทเขาคิชฌกูฏ (พลวง) เหตุผลเพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนาเจริญกว่าเมืองไหนๆ แม้กระทั่งประเทศอินเดีย จึงน่าจะใช้ชื่อนี้เป็นที่ระลึกถึงพระบรมศาสดา
พิธีบวงสรวงเปิดนมัสการพระบาทพลวง
ในทุกๆ ปีก่อนที่เริ่มเทศกาลแสวงบุญนมัสการพระบาทพลวง จังหวัดจันทบุรีจะมีพิธีกรรมอย่างหนึ่ง คือพิธีบวงสรวงเปิดนมัสการพระบาทพลวง นิยมทำในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 2 โดยมีรายการเครื่องบวงสรวงดังนี้
บายศรีห้าชั้น 1 คู่
บายศรีปากชาม 1 คู่
หัวหมูและน้ำพริกเกลือ 1 คู่
มะพร้าวอ่อน 1 คู่
ผลไม้ห้าอย่างๆ ละ 1 คู่
ขนมห้าอย่าง (เต้าเลี่ยว) 1 คู่
กล้วย ถั่ว งา อย่างละ 1 คู่
ขนมเปี๊ยะ 10 คู่
ผ้าขาว 1 ผืน
ผ้าแดง 1 ผืน
น้ำหวาน 2 คู่
หมากพลู
บุหรี่
ผักพล่าปลายำ (ข้าวผสมกับข้าว)
หลังจากเตรียมเครื่องบวงสรวงเสร็จแล้วจะมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีกรรมต่างๆ โดยการเริ่มต้นด้วยการชุมนุมเทวดา เชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สถิตอยู่บนเขาพระบาทเป็นสักขีพยานรับเครื่องสังเวยที่นำมาทำพิธีครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวถึงช่วยปกป้องอภิบาลรักษาผู้ที่มานมัสการให้พ้นจากอันตรายที่อาจจะเกิดจากสัตว์ร้าย การเดินทาง การปฏิบัติธรรม ตลอดจนช่วยดลจิตผู้ที่คิดไม่ดี ผู้กระทำชั่วไม่อยากขึ้นไป
พิธีปิด
เมื่อเปิดนมัสการไปได้ประมาณ 2 เดือนก็จะมีพิธีปิดพระบาทซึ่งเครื่องบวงสรวงจะเหมือนพิธีเปิด แต่จำนวนจะเพิ่มมากเป็นพิเศษ เพราะผู้แสวงบุญจะนำอาหารมาร่วมด้วย ส่วนคำกล่าวจะพูดในลักษณะขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย นอกจากนี้ยังเป็นการคืนป่าให้กับสัตว์ต่างๆ ที่เคยอยู่บริเวณพระบาท
ที่มา : เขาคิชฌกูฎ-พระบาทพลวง จันทบุรี