คำขวัญวันครูปี 2567 โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี “ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์”
“ครู” คือผู้นำความรู้ทั้งจากทั้งในตำรา และจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาถ่ายทอดให้กับศิษย์ งานของครูในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ จึงไม่ใช่แค่การสอนหนังสือให้ความรู้ตามตำรา แต่ครูยังต้องใส่ใจสอนวิธีคิด และวิธีจัดการกับข้อมูลที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เพื่อให้ศิษย์สามารถจัดระเบียบความคิดได้ รวมถึงเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีความสามารถในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างมีคุณภาพ
คำว่าครูสำหรับผม คือ ผู้สร้าง และ ผู้ให้ ครับ “สร้าง” คือ สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับสังคม “ให้” คือ ให้หลักคิดแก่ผู้คนเพื่อนำไปต่อยอดได้
ประวัติวันครูแห่งชาติ มีความเป็นมาอย่างไร
คำว่า "ครู" มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต โดย คำว่า "คุรุ" และภาษาบาลี คำว่า "ครุ" , "คุรุ"
"ครู" หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ เป็นผู้ที่มีหน้าที่สอน อบรมเกี่ยวกับวิชาความรู้ การอ่านเขียน
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติครูในพระราชกิจจานุเบกษา โดยจัดตั้ง "คุรุสภา" ในกระทรวงศึกษาธิการ รวบรวมครูในสังกัดมาเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยสมาชิกจะมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อสถาบันวิชาชีพครู พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ
ต่อมาในการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี พ.ศ. 2499 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ได้กล่าวปราศรัย ต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศส่วนหนึ่งว่า
เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้ แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย
จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น "วันครู" และมีการประกาศจัดวันครูแห่งชาติ ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500
การจัดงานวันครู ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์สำคัญที่ได้กระทำมาแต่ต้น คือ "หนังสือประวัติวันครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ"