X
สั่งทุกหน่วยร่วมป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา

สั่งทุกหน่วยร่วมป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา

11 มิ.ย. 2564
810 views
ขนาดตัวอักษร


(11 มิถุนายน 2565) เวลา 10.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่ 3/2564 ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม พร้อมประชุมผ่านระบบ VDO Conference ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักงบประมาณ เมืองพัทยา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ได้พิจารณาและติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญหลายโครงการ เพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2564 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 นี้ โดยมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและเมืองพัทยา เร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา ระยะที่ 1 จังหวัดชลบุรี ภายใต้แผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง พร้อมมอบหมายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเสนอมาตรการปลูกป่าทดแทน ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ และประสานการรถไฟแห่งประเทศไทยและเมืองพัทยา สำหรับการขออนุญาตการใช้พื้นที่ในการก่อสร้างและด้านการถ่ายโอนทรัพย์สินเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เป็นต้น โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมโครงการที่รับผิดชอบ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้ตามแผนที่ได้วางไว้ เพราะแต่ละโครงการอยู่ในเป้าหมายที่ช่วยให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศในภาพรวมเป็นไปอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาด้านน้ำตามบริบทของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับเมืองพัทยา ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่อง จำแนกพื้นที่พัทยาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยเมืองพัทยา (พื้นที่ชุมชนหนาแน่นมาก) 2.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยคลองนาเกลือ–ห้วยมาบประชัน และคลองกระทิงลาย (พื้นที่ชุมชนหนาแน่นปานกลางและชุมชนชานเมืองของเมืองพัทยา) และ 3.พื้นที่ลุ่มน้ำย่อยห้วยใหญ่ (พื้นที่ชุมชนหนาแน่นน้อยและชุมชนชานเมืองของเมืองพัทยา) โดยมีแผนงานรองรับแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตามความเร่งด่วน ดังนี้ ระยะเร่งด่วน (1-5 ปี) โดยดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำในพื้นที่กลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ระยะกลาง (6-10 ปี) ประกอบด้วย งานปรับปรุงคลอง ก่อสร้างท่อระบายน้ำสายหลักและสายรอง ซึ่งต่อเนื่องจากระยะเร่งด่วน และระยะยาว (11-20 ปี) ประกอบด้วย งานปรับปรุงคลอง ก่อสร้างท่อระบายน้ำในส่วนที่เหลือ


ทั้งนี้ ตามแผนหลักการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยาและพื้นที่ต่อเนื่องในระยะเร่งด่วน (1-5 ปี) แบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา ระยะที่ 1 จังหวัดชลบุรี ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นงานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ในพื้นที่พัทยาใต้ โดยเป็นระยะที่ต้องดำเนินการด่วนมากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่วิกฤตและมีปัญหาน้ำท่วมขังมากที่สุดเมื่อเกิดฝนตกหนัก ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด ระยะที่ 2 อุโมงค์ระบายน้ำซอยสุขุมวิท–พัทยา 34–พัทยา 6 และอุโมงค์ซอยสุขุมวิท-พัทยา 54–ซอยเทพประสิทธิ์ 9–ซอยจอมเทียน 7 ดำเนินการโดยเมืองพัทยาร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และระยะที่ 3 ท่อระบายน้ำหลักส่วนที่เหลือ ดำเนินการโดยเมืองพัทยาร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง 

“โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำท่วมหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา ระยะที่ 1 จังหวัดชลบุรี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับน้ำฝนได้ 80 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ 15.39 ตารางกิโลเมตร ประชาชนได้รับประโยชน์ 38,740 ครัวเรือน สามารถลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 600 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ น้ำหลากที่เร่งระบายยังสามารถสูบน้ำกลับเพื่อเก็บกักไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้งได้ ซึ่งมติกนช. เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ได้ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองและเมืองพัทยา ประสานกรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค ในการสูบน้ำกลับเพื่อกักเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ทั้งนี้ตามแผนหลักฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการสูบน้ำกลับเพื่อกักเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไว้ในแผนระยะยาว (ปี 2575 เป็นต้นไป) พื้นที่ดำเนินการอยู่นอกเขตเมืองพัทยา จำนวน 4 แห่ง นอกจากนี้ เมืองพัทยาได้อนุญาตให้การประปาส่วนภูมิภาค สูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำแก้มลิงห้วยใหญ่กลับไปยังห้วยซากนอกได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำและสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับมิติการสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป”


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล