X
1 ปีครั้ง Holi festival Pattaya เทศกาลสาดสี แห่งมิตรภาพ

1 ปีครั้ง Holi festival Pattaya เทศกาลสาดสี แห่งมิตรภาพ

23 มี.ค. 2567
7200 views
ขนาดตัวอักษร

23 มี.ค.67 - มาสาดสีที่พัทยา กับเทศกาล “Holi festival” เทศกาลสาดสี นิมิตรหมายที่ดีของการเริ่มต้นปีใหม่ และสวมกอดเพื่อแสดงออกซึ่งมิตรภาพต่อกัน อีก festival ในไทยที่ไม่ควรพลาด ร่วมเฉลิมฉลอง จัดเต็มวันที่ 22-24 มีนาคม 2567 ชายหาดพัทยากลาง


นักท่องเที่ยวสุดฟิน เริ่มแล้วเทศกาลสาดสี “Holi festival Pattaya 2024” ที่ 1 ปี มีครั้งเดียว เทศบาลเมืองพัทยา จับมือหน่วยงานพันธมิตร และ ททท. เปิดพื้นที่ชายหาดพัทยากลาง จัดงานเทศกาลสาดสี “Holi festival” เทศกาลที่ชาวอินเดียจะร่วมเฉลิมฉลองด้วยการสาดสีกัน เสมือนการปัดเปาสิ่งไม่ดี และมอบสิ่งดีๆ สวยงามให้กับผู้คน โดยปีนี้เทศบาลเมืองพัทยา จัดเต็มวันที่ 22-24 มีนาคม 2567


เต็มอิ่มกับกิจกรรมสุดสนุก และเต็มไปด้วยสีสันของการสาดสี พร้อมกับเสียงเพลงที่สร้างความมันให้กับบรรยากาศริมทะเลพัทยามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ยังมีกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวเต็มอิ่มได้ตลอด 3 วัน กะบอาหารตรีทฟู้ดสไตล์อินเดียแท้ ที่ร้านอาหารอินเดียนำเชฟอินเดียมาปรุงรสอาหารอินเดียให้ชิมถึงที่ หรือจะสักการะองค์เทพฮินดู ที่มาตั้งให้ผู้ศรัทธาได้สักการะตลอด 3 วัน


สำหรับบรรยากาศเทศกาลโฮลี เต็มไปด้วยความสนุกและสีสัน ทั้งจากชาวไทย อินเดีย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ต่างหยิบสีมาโปรยใส่กันอย่างสนุกสนาน สำหรับสีที่นำมาใช้จะเป็นสีที่นำมาจากพืชพันธุ์ธรรมชาติเท่านั้น เช่น ดอกทองกวาว, บีทรูท, ขมิ้น เป็นการบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งผู้คนจึงมักสวมชุดสีขาวออกไปเล่นสาดสี และเก็บชุดดังกล่าวไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพ ที่ไม่มีวันลบเลือน


ซึ่งต้องบอกเลยว่า ผงสีที่ใช้เล่นกันในเทศกาลโฮลี เป็นสีธรรมชาติที่ติดแน่นทนนาน หากติดเสื้อผ้าจะซักออกอยากมาก ส่วนที่ติดตามตัวต้องสระต้องล้างกันหลายวันๆ แนะนำควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่พร้อมสละให้เทศกาลโฮลี เท่านั้นนะ


เทศกาลสาดสี “Holi Festival” เป็นหนึ่งในเทศกาลแห่งสีสัน ที่สะท้อนความเชื่อศาสนา ที่มีต้นกำเนิดจากชาวฮินดู ในประเทศอินเดีย คำว่า Holi (โฮลี) หมายถึง การส่งท้ายปีเก่า เป็นเทศกาลฉลองรื่นเริงที่มีพื้นเพมาจากความเชื่อในศาสนาฮินดู จะจัดขึ้น 2 วันในช่วงเดือนมีนาคม (แรม 1 ค่ำ เดือน 4) โดยผู้คนจะออกมาเฉลิมฉลองด้วยการสาดสี หรือป้ายสี ซึ่งเป็นฝุ่นผงใส่กันอย่างสนุกสนาน สันนิษฐานว่า อาจเป็นอิทธิพลหนึ่งที่เข้ามาในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนปรับเปลี่ยนเป็นการสาดน้ำใส่กันแทน หรือก็คือ เทศกาลสงกรานต์ ของไทยในปัจจุบันนั่นเอง


สำหรับ “เทศกาลโฮลี” หรือ “Holi Festival” การสาดสีจะเล่นกันเฉพาะช่วงเช้าจนถึงเที่ยงวันเท่านั้น จากนั้นเมื่อตกเย็นจะออกมาพบปะสังสรรค์กัน แจกขนมหวาน โดยขนมที่ทำเพื่อรับประทานในเทศกาลนี้จะทำมาจากนมและนมเปรี้ยวเป็นหลัก  เชื่อกันว่าหากได้รับประทานขนมด้วยจิตใจเบิกบาน จะเป็นนิมิตรหมายที่ดีของการเริ่มต้นปีใหม่ 


จากนั้นผู้คนจะสวมกอดกันเพื่อแสดงออกซึ่งมิตรภาพต่อกัน นับได้ว่า “เทศกาลโฮลี” เป็นเทศกาลแห่งมิตรภาพ ที่มิตรสหายจะได้แสดงไมตรี อีกทั้งเป็นโอกาสดีที่คนที่เคยขัดแย้งกันจะได้ปรับความเข้าใจกันนั้นเอง


พิธีบูชาใน “เทศกาลโฮลี” มีความเชื่อว่า ในช่วงเย็นของวันแรกในเทศกาลโฮลี ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและมีลูกชาย จะมีการจัดซุ้มกองไฟเพื่อทำพิธีบูชา เพื่อเป็นการสร้างสิริมงคล และปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปจากลูกชาย ส่วนคู่แต่งงาน หากอยากได้ลูกชาย สามารถทำพิธีบูชาขอลูกชายในเทศกาลนี้ได้ด้วยเช่นกัน



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)