7 พ.ย.66 - หลังจากรูปปั้น
“ครูกายแก้ว” เป็นกระแสกันมาเมื่อไม่นานมานี้ ตอนนี้เจ้าของครูกายแก้วเจ้าเดิม นำรูปปั้น
“จิ้งจอกเก้าหาง” มาเสริมสำหรับสายมูที่ต้องการเน้นด้านมหาเสน่ห์ แต่จริง ๆ
แล้วจิ้งจอกเก้าหางคือใคร? มาจากไหน? ทำไมถึงมากลายเป็นเครื่องรางของขลัง? เรามาคำตอบได้ในบทความนี้
หลังจากเป็นกระแสจาก”ครูกายแก้ว”
ไม่เท่าไหร่ เจ้าของเจ้าเดิมนำเอารูปปั้น “จิ้งจอกเก้าหาง” มาเสริมให้สำหรับชาวสายมูได้มาเสริมพลังจากจิ้งจอกเก้าหางกันอีก
โดยเฉพาะพลังด้านสายเสน่ห์เมตตามหานิยม ตามความเชื่อของสายมูแต่ละคน แต่สำหรับ “จิ้งจอกเก้าหาง”
นั้นคือใคร? เรามาหาคำตอบกัน
สำหรับตำนาน “จิ้งจอกเก้าหาง” นั้น แรกเริ่มปรากฎอยู่ในตำนานของพื้นที่ต่าง ๆ ในเอเชีย เช่นใน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดีย การปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรแรกเลยในตำราชื่อ “ซาน ไห่ จิง” โดยเป็นตำราที่เกี่ยวกับ เทพ และ สัตว์ในตำนานต่าง ๆ ถูกเขียนขึ้นเมื่อ 400 ปี ก่อนคริสต์ศักราช แต่ก็กระจัดกระจายไป ก่อนจะมีการรวบรวมอีกครั้ง ในสมัยราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 220 )
โดยในตำรา ซาน ไห่ จิง กล่าวว่า ปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง อาศัยอยู่ในภูเขาชิงชิว จิ้งจอกเก้าหางมีรูปลักษณ์เหมือนจิ้งจอกแต่มีหาง 9 หาง มีเสียงร้องเหมือนทารกร้องไห้ และจิ้งจอกเก้าหางนี้กินมนุษย์ และมีเรื่องเล่าต่อมาว่าผู้ที่พบจิ้งจอกเก้าหางนี้ มีโอกาสได้เป็นเจ้าของแผ่นดิน นอกจากจะปรากฎตัวในตำราโบราณแล้วนั้นจิ้งจอกเก้าหางยังปรากฎอยู่ใน ภาพเขียน ภาพวาดต่าง ๆ และลวดลายเครื่องปั้นดินเผาของจีนโบราณอีกด้วย รวมทั้งชาวแคว้นจ้วงในตอนใต้ของประเทศจีนยังเชื่อว่าจิ้งจอกเก้าหางคือเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ โดยมักจะมีภาพฝาผนังรูปจิ้งจอกเก้าหางในพื้นที่ของชาวจ้วง
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง
(ค.ศ.618 - ค.ศ.605) ภาพลักษณ์ของจิ้งจอกเก้าเปลี่ยนกลายเป็นเลวร้าย หลังจากที่กวีไป๋จวีอี้ตีพิมพ์บทกวีเล็ก
ๆ ชื่อ “สุนัขจิ้งจอกแห่งสุสานโบราณ” ซึ่งวาดภาพเป็นวิญญาณจิ้งจอกที่เปลี่ยนร่างเป็นหญิงสาวสวยที่มีจุดประสงค์เพียงเพื่อล่อลวงผู้ชายให้หลงไหลและทำผิดศีลธรรม
เรื่องของจิ้งจอกเก้าหางที่โด่งดังที่สุดอยู่ในพงศาวดารเรื่อง
“ห้องสิน” ที่แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 - ค.ศ. 1644) ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของจิ้งจอกเก้าหางว่าเป็นปีศาจแสนสวยที่คอยชักนำบุรุษให้หลงไหล
โดยเริ่มจากจักรพรรดิโจ้วหวาง
แห่งราชวงศ์ซาง ได้เสด็จไปถวายสักการะพระแม่หนี่วาพระแม่แห่งสรรพสิ่งทั้งปวง แต่แล้วเมื่อจักรพรรดิเห็นงดงามประดุจมีชีวิต
จึงแต่งเป็นบทกวีชมพระแม่หนี่วาด้วยถ้อยคำที่หยาบโลน การกระทำของจักรพรรดิโจ้วหวาง
ทำให้พระแม่หนี่วาโกรธมาก จึงส่งปีศาจจิ้งจอก ปีศาจผีผา และปิศาจไก่ มาทำลายจักรพรรดิโจ้วหวาง
ขณะเดียวกัน จักรพรรดิโจ้วหวาง ก็สั่งให้ตามหาสาวงามที่มีใบหน้าสวยงามดั่งเช่นพระแม่หนี่วา
จนกระทั่งพบ ซูต๋าจี ธิดาของมหาเศรษฐีผู้หนึ่ง สาวงามที่มีใบหน้าคล้ายพระแม่
แต่เคราะห์ร้ายที่ ซูต๋าจี ถูกปีศาจจิ้งจอกสังหารแล้วสิงร่างของนางก่อนถวายตัวเป็นสนม
หลังจากนั้น ซูต๋าจีที่ถูกนางปีศาจจิ้งจอกเข้าสิง ก็ใช้มารยายุยงให้จักรพรรดิโจ้วหวางหลงผิด ไม่เป็นอันว่าราชการ มัวเมาในสตรี จัดงานเลี้ยงหรูหราในวัง ก่อสร้างหอคอยสอยสอยดาว สร้างสระสุราดงเนื้อ เกณฑ์แรงงานมาก่อสร้างจนล้มตายไปมาก ใครขัดหรือโต้แย้งก็ถูกประหารหมด
เมื่อบ้านเมืองตกอยู่ในความวุ่นวาย ร้อนถึงสวรรค์ต้องส่ง
“เจียงจื่อหยา” ฝึกวิชาบำเพ็ญตนบนเขาคุนหลุนลงไปปราบเจ้าปิศาจร้ายตนนี้ เจียงจื่อหยา
พร้อมทั้งศิษย์เอกคือ "นาจา" ก็ได้รวบรวมพวกพ้องที่เป็นนักพรต เหล่าขุนนางที่หลบหนีจากราชสำนัก
โดยมี "จี้ซาง" อดีตเจ้าเมืองที่ต้องเสียตำแหน่งเพราะซูต๋าจี นำทัพเพื่อบุกโจมตีและโค่นล้มจักรพรรดิโจ้วหวาง
สุดท้ายปีศาจทั้งสามถูกคุมตัวไปตัดสินโทษ ส่วนพระเจ้าโจ้วหวางได้สูญเสียอำนาจ
รวมถึงรู้สึกสำนึกผิดต่อการกระทำที่ผ่านมาก่อนจะทำการเผาตัวตายที่หอคอยสอยดาว ราชวงศ์ซางจึงได้ถึงคราวสิ้นสุดลง ก่อนที่จะมีการสถาปนา “ราชวงศ์โจว” ในรัชสมัยถัดมา
ส่วนจิ้งจอกเก้าหางของญี่ปุ่น ว่ากันว่าคือปีศาจตัวเดียวกันจากเมืองจีนที่หลบหนีไปจากสงครามในเรื่องห้องสิน ว่ากันว่าปีศาจจิ้งจอกเก้าหางได้หลบหนีมาจากทางประเทศจีนเข้ามาในช่วงสมัยเฮอัน ซึ่งตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิโทบะ ปิศาจจิ้งจอกได้จำแลงร่างเป็นสาวงามเหมือนเช่นที่เคยกระทำมา โดยได้ใช้ชื่อว่า “ทามาโมะ โนะ มาเอะ” แน่นอนว่าความงดงามได้ไปต้องตาต้องใจของจักรพรรดิโทบะ จนได้พามาเข้าวังหลวงและแต่งตั้งให้เป็นนางสนมเอก ว่ากันว่าปิศาจจิ้งจอกในชื่อทามาโมะ โนะ มาเอะตนนี้งดงามราวกับมิใช่มนุษย์ มีกลิ่นหอมหวานราวกับกลีบดอกซากุระรอบตัว ทำให้จักรพรรดิโทบะลุ่มหลงจนไม่เป็นอันว่าราชการกิจแผ่นดิน ทั้งยังทำให้ร่างกายของจักรพรรดิโทบะทรุดโทรมจากการถูกสูบพลังวิญญาณไป ความผิดปรกตินี้ทำให้เหล่านักพรตต้องเข้ามาหาสืบสวน จนพบว่ามีปิศาจสิงสู่อยู่ในวังหลวง สุดท้ายนางปีศาจจิ้งจอกได้กลายร่างแท้จริงและหลบหนีไป จนท้ายที่สุดแล้ว ปีศาจจิ้งจอกก็ถูกเหล่านักพรตสยบลงจนในที่สุด ร่างของปิศาจจิ้งจอกเก้าหางได้กลายเป็นก้อนหินที่ชื่อ “เซ็ตโชเซกิ” ซึ่งได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของสำคัญญี่ปุ่นตั้งอยู่บนเนินเขานาสุ จังหวัดโทชิกิ เกาะฮอนชู
สำหรับเกาหลี
มีเรื่องของจิ้งจอกเก้าหางอยู่ในตำนานโบราณของเกาหลี กล่าวถึง ปีศาจจิ้งจอกชื่อ “กูมิโฮ”
ที่สามารถแปลงร่างเป็นอะไรก็ได้ และมักแปลงเป็นหญิงงามเพื่อหลอกล่อผู้ชาย
เนื่องจากนางต้องการบำเพ็ญเพียรเพื่อกลายเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์
แต่นอกจากบำเพ็ญเพียรแล้ว ปีศาจจิ้งจอกยังต้องกินหัวใจและตับของมนุษย์หนึ่งร้อยคนเพื่อที่จะกลายเป็นมนุษย์จริง
ๆ แต่เมื่อผ่านการกินหัวใจและตับของมนุษย์มาเก้าสิบเก้าคน ผู้ชายคนที่หนึ่งร้อยนั้นกลับกลายเป็นรักแรกของกูมิโฮที่ได้มอบ “หัวใจอันบริสุทธิ์” ของตนเองแก่ผู้ชายคนนั้น จนรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อ กูมิโฮเลือกที่จะ “รัก” มากกว่าการจะกลายมาเป็นมนุษย์ แม้ว่าจะไม่สมหวังใจความรักนั้นก็ตามที
ทำให้ตำนานของเกาหลีกลายเป็นเรื่องความรักที่บริสุทธิ์ต่างจากตำนานของประเทศอื่น
จากเหตุการในห้องสิน
ทำให้จิ้งจอกเก้าหางกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเสน่ห์หาและราคะเป็นที่สุด ในปัจจุบันทั้งจีนญี่ปุ่น
และเกาหลี ยังมีนำเสนอรูปเรื่องราวตำนานเกี่ยวกับปีศาจจิ้งจอกเก้าหางอยู่เรื่อย ๆ
ในรูปแบบของซีรี่ย์ หรือ ภาพยนต์ ต่าง ๆ
สำหรับประเทศไทย ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกับปีศาจจิ้งจอกเก้าหาง แต่ในปัจจุบัน มีทั้งวัด และสำนักสักยันต์ต่าง ๆ ออกวัตถุมงคลประเภทจิ้งจอกเก้าหางออกมามากมาย ทั้งล็อกเก็ต เหรียญ และยิ่งล่าสุดยังมีการทำรูปเคารพเลยทีเดียว โดยหากเข้าไปศึกษาดูแล้วจะพบว่าวัตถุมงคลและรูปเคารพจิ้งจอกเก้าหางโดยส่วนใหญ่ จะทำออกมาเพื่อตีตลาดวัตถุมงคลของคนจีนที่เข้ามาทั้งท่องเที่ยวและทำธุรกิจในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ และมีบางส่วนที่ใช้ตีตลาดคนไทยสายมูที่อยากบูชาวัตถุมงคลในด้านเมตตามหาเสน่ห์
อย่างไรก็ตามจิ้งจอกเก้าหางไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา
หรือ วัฒนธรรมไทย ใด ๆ เลย
การบูชาจิ้งจอกเก้าหางนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ควรมีวิจารณญาณในการตัดสินใจของแต่ละคน
และควรยืนอยู่บนพื้นฐานความจริงก่อนจะมีความเชื่อหรือเคารพบูชาสิ่งใด ๆ และไม่ควรงมงายในสิ่งต่าง
ๆ เกินควรแม้จะเป็น “สายมู” ก็ตาม
ขอขอบคุณที่มาและรูปภาพ https://tvislove.wordpress.com/2021/06/24/chinese-mythical-creature-nine-tailed-fox/
เฟซบุ๊คแฟนเพจ หมื่นเทพเทวะ , ศิษย์มีครู