ไฟเดือนห้า" ดอกไม้แห่งความงามที่ซ่อนสรรพคุณล้ำค่า

"ไฟเดือนห้า" พรรณไม้ล้มลุก ที่มีดอกสีสันสวยงาม เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเขตร้อน และถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยมานานแล้ว เป็นวัชพืชที่เป็นสมุนไพร
"ไฟเดือนห้า" 𝘈𝘴𝘤𝘭𝘦𝘱𝘪𝘢𝘴 𝘤𝘶𝘳𝘢𝘴𝘴𝘢𝘷𝘪𝘤𝘢 L. วงศ์ : APOCYNACEAE ชื่อสามัญ : Bastard Ipecacuanha, Blood flower, Mexican butterfly weed, Scarlet milkweed, Silkweed, Tropical milkweed
"ไฟเดือนห้า" หรือที่หลายท้องถิ่นเรียกขานต่างกันไป ค่าน้ำ (ลำปาง); คำแค่ (เงี้ยว- แม่ฮ่องสอน); ดอกไม้เมืองจีน (สุราษฎร์ธานี); เด็งจ้อน (ลำปาง); เทียนแดง (ภาคกลาง); เทียนใต้ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); เทียนทำ (เชียงใหม่); นางแย้ม (นครราชสีมา); บัวลาแดง, พริกนก (เชียงใหม่); พอตอซู (กะเหรี่ยง-ตาก); พอสู่เหนาะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ไฟเดือนห้า (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ไม้จีน (ประจวบคีรีขันธ์); ไม้เมืองจีน (สุราษฎร์ธานี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 ม. ใบเรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 6-15 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุกคล้ายช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายกิ่ง ก้านช่อยาว 3.5-6 ซม. มีขนสั้นนุ่ม ดอกสีแดงหรืออมเหลือง ยาวเกือบ 1 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดเล็ก มีต่อม กลีบดอกเวียนคล้ายกงล้อ มี 5 กลีบ แฉกลึก กลีบพับงอกลับ มีกะบังรอบสีเหลืองหรือส้ม ปลายเป็นตะขอ ก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด อับเรณูมีรยางค์โค้ง ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวย ผลแห้งแตกรูปกระสวย ยาว 5-10 ซม. เมล็ดรูปไข่ แบน ยาวประมาณ 6-7 มม. กระจุกขนยาว 2-4 ซม.
มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเขตร้อน เป็นวัชพืชทั่วไป รากและดอกมีสรรพคุณสมุนไพร ส่วนต่าง ๆ มีสาร asclepiadin เป็นพิษโดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงอาจถึงชีวิต
สกุล 𝘈𝘴𝘤𝘭𝘦𝘱𝘪𝘢𝘴 L. อยู่ภายใต้วงศ์ย่อย Asclepiadoideae มีประมาณ 100 ชนิด ส่วนใหญ่พบในอเมริกาเขตร้อน ในไทยขึ้นเป็นวัชพืชชนิดเดียว และอีกชนิดเป็นไม้ประดับ ดอกสีเหลือง อาจเป็นพันธุ์ผสม A. tuberosa ‘Hello Yellow’ ชื่อสกุลมาจากชื่อเทพเจ้ากรีกโบราณ Asclepius ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการรักษาโรค เนื่องจากพืชหลายชนิดในสกุลนี้มีสรรพคุณด้านสมุนไพร
สรรพคุณ :
1. เมล็ดมีรสขม เป็นยาเย็น ใช้เป็นยาบำรุงให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยแก้อาการเหงื่อออกมากไม่รู้ตัว
2. ต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุไฟ
3. ราก มีรสเผ็ด เป็นยาสุขุม มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาทำให้อาเจียน
4. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้บิด รักษาแผลในลำไส้ กระเพาะอาหาร รวมถึงแผลในมดลูก
5. ต้นและเมล็ด ใช้เป็นยาขับประจำเดือนของสตรี
6. ใบสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาขับพยาธิ พยาธิไส้เดือน
7. เมล็ดใช้เป็นยาแก้ปวด แก้อักเสบ ห้ามเลือด
ประโยชน์ :
1. นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเป็นกลุ่มหลาย ๆ ต้น ตามบ้าน ตามสำนักงาน และตามสวนสาธารณะทั่วไป เพราะดอกมีสีสันสวยงามเจิดจ้าน่าชม
2. ขนที่หุ้มเมล็ดสามารถนำไปใช้ยัดหมอนแทนการใช้นุ่น ทำให้หมอนนุ่มหนุนนอนได้สบายไม่แพ้การยัดนุ่นแม้แต่น้อย
ข้อควรระวัง :
รากและดอกหากใช้มากเกินไปจะเกิดพิษ โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งเกิดจากสาร Asclepiadin ถ้ากินมากเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเป็นอัมพาตและอาจทำให้เสียชีวิตได้
บรรณานุกรม :
1. หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557
2. หนังสือสารานุกรมพืชในประเทศไทย (ฉบับย่อ)
3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย
4. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย www.saiyathai.com
5. ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา “พืชมีพิษในประเทศไทย"
6. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช www.dnp.go.th/botany/