X
เปิดตำนาน

เปิดตำนาน "พญานาค" เจ้าพญาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง

29 ต.ค. 2566
11250 views
ขนาดตัวอักษร

“วันออกพรรษา” ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 นับได้ว่าเป็นระยะเวลาสิ้นสุดการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ รวมระยะเวลา 3 เดือน Backbone MCOT จึงขอนำตำนาน เรื่องเล่าของ “พญานาค” หนึ่งในความเชื่อของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง มาเล่าให้ทุกคนฟังกัน

แม่น้ำโขง” เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับได้ว่าเป็น “มหานทีแห่งชีวิต” กล่าวคือ เป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง เปรียบเสมือนสายสัมพันธ์ ระหว่างประเทศบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงที่มีทั้ง วัฒนธรรม ความเชื่อ รวมไปถึงขนบธรรมเนียม และประเพณีต่าง  รวมไปถึงความเชื่อเกี่ยวกับ “พญานาค” ที่ร่วมกัน หล่อหลอมจนเกิดเป็น “อารยธรรมลุ่มน้ำโขง

พญานาค เจ้าพญาแห่งสายน้ำโขง

พญานาค” สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ “พญานาค” ตำนานความเชื่อของ “พญานาค” นั้นมีอย่างแพร่หลาย แต่ละภูมิภาคก็มีความแตกต่างกันไป โดยชาวบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักจะเชื่อกันว่า “พญานาค” นั้นอาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และยีงเชื่อกันว่ามีผู้คนเคยพบร่องรอยของพญานาคที่ขึ้นมายังโลกมนุษย์ รวมไปถึงปรากฏการณ์ “บั้งไฟพญานาค” ที่เกิดขึ้นใน “วันออกพรรษา” กล่าวกันว่า ลักษณะของพญานาคตามความเชื่อส่วนใหญนั้นจะมีลักษณะลำตัวเป็นงูตัวใหญ่ มีหงอนสีทองและตาสีแดง มีเกล็ดเหมือนปลาซึ่งมีสีแตกต่างกันไปตามบารมีของนาคตน

กำเนิดนาคา

เนื่องจากพญานาคมีหลายเผ่าพันธุ์ ดังนั้นการกำเนิดของพญานาคจึงมีหลายลักษณะแตกต่างกันไป แต่ในด้านพระพุทธศาสนา ได้แบ่งการกำเนิดของพญานาคเอาไว้ 4 ประเภท (โชติ ศรีสุวรรณ และเกริก ท่วมกลาง, 2560 : 21-24) คือ 

  • 1. กำเนิดแบบโอปปาติกะ คือ กำเนิดโดยผุดขึ้นเป็นตัวทันที ไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ มีอายุเท่ากับคนอายุ 16-17 ปี เป็นการกำเนิดขึ้นจากบุญบารมี มีลักษณะกำเนิดเหมือนเทวดา พรหม เปรต หรือสัตว์นรก พญานาคที่กำเนิดในลักษณะที่จะมีอิทธิฤทธิ์มากกว่าพญานาคที่กำเนิดในลักษณะอื่น  จัดอยู่ในพญานาคชั้นสูงในชั้นปกครองหรือตำแหน่งองค์นาคาธิบดี จะมีบารมีมาก มีบริวารคอยรับใช้ 
  • 2. กำเนิดแบบสังเสทชะ คือ กำเนิดในเหงื่อไคลหรือที่ชื้นแฉะ สิ่งสกปรกในน้ำสกปรกที่หมักหมม ในเปลืองตม กำเนิดโดยไม่อาศัยฟองหรือครรภ์มารดา แต่อาศัยเกิดจากต้นไม้ ผลไม้ ดอกไม้ ของโสโครก ที่ชุ่มชื้น เชื้อรา นาคที่เกิดในลักษณะที่จะมีลักษณะเป็นกึ่งเดรัจฉานกึ่งทิพย์ เมื่ออยู่ในบาดาลจะสามารถแปลงเป็นมนุษย์ได้ ทำหน้าที่เป็นบริวารรับใช้อยู่ในวิมาน  ภพบาดาลของพวกโอปปาติกะ
  • 3. กำเนิดแบบชลาพุทชะ คือ การกำเนิดจากครรภ์ของมารดา เป็นผู้ให้กำเนิดอย่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นาคที่เกิดในลักษณะนี้จะมีอิทธิฤทธิ์มากน้อยตามบุญกรรมที่ได้สั่งสมมา อยู่ในชั้นปกครอง รักษาศีลก็มี ไม่รักษาศีลก็มี แตกต่างกันไป จะเป็นพญางูหรือเทพเจ้าเสียส่วนใหญ่
  • 4. กำเนิดแบบอัณฑชะ คือ การกำเนิดจากฟองไข่ เหมือนงูทั่วไป ไข่ออกมาสักระยะหนึ่งจึงฟักเป็นตัว นาคประเภทนี้มีพิษร้ายกาจ แต่ส่วนใหญ่เป็นงูชั้นล่าง เช่น งูเห่า งูจงอาง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคที่เกี่ยวข้องกับ “วันออกพรรษา” อีกด้วย เช่น บั้งไฟพญานาค ที่จะขึ้นเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น มีความเชื่อกันว่าที่ .โพนพิสัย .หนองคาย มีเมืองบาดาลอยู่ใต้พื้นดินและเป็นทางออกสู่เมืองมนุษย์ เรียกว่า เป็นเมืองหน้าด่าน จึงมีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นเป็นประจำที่นี่

จะเห็นได้ว่า “พญานาค” นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราว ที่ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงมีร่วมกันมาอย่างยาวนาน ทั้งด้านความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่า รวมไปถึงประเพณีและวัฒนธรรมต่าง  หล่อหลอมรวมกันจนเกิดเป็น “อารยธรรมลุ่มน้ำโขง” นั่นเอง.

อ้างอิง

โชติ ศรีสุวรรณ และเกริก ท่วมกลาง. (2560). ตำนานพญานาคและคำชะโนด ปากทางสู่เมืองบาดาล

กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์.

ฤดีมน ปรีดีสนิท. (2544). มองตำนานอ่านอดีต : พิธีกรรมและความเชื่อของชุมชนสองฝั่งโขง.

กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น.

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2533). แอ่งอารยธรรมอีสานกรุงเทพฯ : มติชน.

.พลายน้อย. (2528). นิทานลาวกรุงเทพฯ : รวมสาส์น.

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)