การอดอาหารมักเป็นตัวเลือกแรกๆในใช้ลดความอ้วน หรือแม้แต่บางเหตุการณ์ก็มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองใช้การอดอาหารเพื่อประท้วงในประเด็นต่างๆ ทาง BackboneMCOT เลยขอพาไปดูว่าการอดอาหารจะส่งผลอะไรต่อร่างกายบ้าง การอดอาหารระยะใดถึงเรียกได้ว่าเข้าขั้นอันตราย
ร่างกายของคนเรามีความต้องการได้รับพลังงานจากการรับประทานอาหาร แต่การที่เราอดอาหารเป็นเวลานานจะทำให้ไม่มีพลังงานเข้าไปในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายขาดพลังงานจากสารอาหาร และเริ่มดึงพลังงานจากส่วนอื่นแทน โดยปกติร่างกายเราใช้น้ำตาลกลูโคส (glucose) เป็นตัวเผาผลาญทำให้ร่างกายเรามีพลังงานกล้ามเนื้อขยับได้
ส่วนที่เกินจากที่ร่างกายใช้..จะมีการสะสมเอาไว้ เพื่อนำไปใช้ในตอนที่ขาดสารอาหาร เรียกว่า “ไกลโคเจน” (glycogen) โดยจะสะสมบริเวณตับและกล้ามเนื้อ ใช้สำหรับเป็นแหล่งของพลังงาน เมื่อปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือดลดลง หรือร่างกายขาดสารอาหาร ตับจะเปลี่ยนไกลโคเจนให้เป็น “น้ำตาลกลูโคส” (glucose)
หลังจากร่างกายมีการดึงมาใช้เรื่อยๆ จนหมด ร่างกายจะมีการสลายตัวไขมัน หรือการดึงไขมันในร่างกายของเราออกมาใช้ โดยเรียกสิ่งนี้ว่า “คีโตน” เปรียบเสมือนโมเลกุลของน้ำตาล ถ้ากระบวนขาดสารอาหารอย่างต่อเนื่องจนร่างกายดึงทุกส่วนมาใช้หมดแล้ว จึงจะเริ่มดึงเอากล้ามเนื้อ โปรตีน มาใช้ทดแทน
ถ้าคนเราขาดสารอาหารจะอยู่ได้ประมาณ 6-8 สัปดาห์ แต่ต้องแยกว่าเราขาดสารอาหาร..แล้วเราขาดน้ำด้วยไหม? เพราะการที่ร่างกายขาดน้ำโดยทั่วไปจะอยู่ได้ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ เท่านั้น เนื่องจากการที่ขาดน้ำเรื่อยๆ จะทำให้ขับปัสสาวะไม่ออก ของเสียภายในร่างกายเกิดการสะสมมากขึ้น อาจเกิดภาวะไตวาย ความดันต่ำลง หรืออาจถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิตได้ สำหรับการอดอาหารแต่ละระยะส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง มาดูกัน
12 ชม.
ใน 3-4 ชม. แรก ร่างกายจะดึงพลังงานจากอาหารมื้อล่าสุดที่กิน เพื่อเอามาใช้งานก่อน หลังจากนั้นถ้าพลังงานตรงนี้หมด จะไปดึงพลังงานส่วนไกลโคเจนมาใช้แทน ขั้นนี้ยังสบายๆ อยู่
24 ช.ม (1 วัน)
พอครบ 24 ชม. ร่างกายจะเริ่ม โหยๆ เพลียๆ นิดหน่อย ท้องจะเริ่มส่งเสียงร้องระงมว่าต้องการอาหาร ระดับโซเดียมในเลือดสูงขึ้น ความดันเพิ่มขึ้นเล็กน้อย พอไกลโคเจนในเลือดหมดแล้ว ร่างกายจะดึงพลังงานมาใช้ก็คือกลูโคสหรือน้ำตาลส่วนที่เล็กที่สุดในร่างกายนั่นเอง หลักๆ จะดึงกลูโคสไปใช้งานกับสมองก่อน เพราะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด
36 ชม.
ระดับคลอเรสเตอรอลในเลือดลดลง เพราะว่าไม่มีสารอาหารประเภทคาร์บหรือไขมันตกถึงท้อง ถ้ากลูโคสหมด ร่างกายจะดึงโปรตีนมาใช้ต่อ หรือถ้าไม่พอก็จะเริ่มดึงเริ่มดึงไขมันที่สะสมใต้ผิวหนังมาใช้แทน ผิวหนังจะเริ่มซีดลง ลิ้นแห้งและอาจมีตุ่มเล็กๆ ขึ้นบริเวณลิ้น เริ่มมีกลิ่นปากที่รุนแรงขึ้น เพราะของเสียจากการเผาไขมันจำพวกคีโตนทำให้มีกลิ่นที่รุนแรง
48 ชม. (2 วัน)
ครบสองวัน ดวงตาจะเริ่มอ่อนแรง อาจมีอาการแทรกเช่นการปวดหัว หรือรู้สึกไม่มีแรง ร่างกายจะขุดไขมันสะสมมาใช้อย่างจริงจัง ปกติไขมันสำรองของคนทั่วไป มักจะสามารถถูกเอามาเผาผลาญเป็นพลังงานต่อไปได้อีกอย่างน้อย 60-80 ชม. ใครที่มีน้ำหนักตัวเยอะ หรือมีไขมันสะสมเยอะก็จะอยู่ได้นานขึ้น
60 ชม.
เข้าวันที่สาม ความหิวเราจะลดลง ตอนนี้ร่างกายจะเริ่มดึงทั้งไขมันและดึงกล้ามเนื้อมาเผาผลาญพลังงานอย่างเต็มที่ เป็นจังหวะที่ร่างกายเราจะเริ่มปรับตัวได้แล้ว ถ้ายังมีน้ำกินอยู่ จะรู้สึกตัวเบา และค่อนข้าง Active เป็นพิเศษได้อีกหลายวัน ถือเป็นกลไกธรรมชาติเหมือนสั่งให้เราห้ามตาย และพยายามลุกออกไปไปหาอาหารมาเติมลงกระเพาะให้ได้
72 ชม. (3 วัน)
อย่างที่บอกว่าร่างกายเราจะยังค่อนข้างตัวเบาๆ โหวงๆ อาจจะมีวูบๆ บ้างเวลาลุกเร็วๆ เพราะน้ำตาลในเลือดเราลดลงอย่างฮวบฮาบ รวมถึงดึงไขมันและกล้ามเนื้อมาเป็นพลังงานแทน
90 ชม.
ตรงนี้เริ่มน่าเป็นห่วงเล็กน้อย เพราะปกติแล้วเราจะกินคาร์โบไฮเดรตจากอาหารต่างๆ แต่พอเราขาดคาร์บจากการกิน ร่างกายเราเลยไปทำปฎิกิริยากับโปรตีนและไขมันในเส้นเลือด ทำให้เลือดในร่างกายเริ่มค่อยๆ เสียไปเรื่อยๆ ทีละน้อยๆ ส่วนการดำรงชีพก็ยังคงดึงชั้นไขมันมาใช้ได้อยู่เหมือนเดิม
168 ชม. (1 สัปดาห์)
จุดวิกฤตคือประมาณ 7-10 วัน ร่างกายเคย Active หรือกระปรี้กระเปร่า จะเริ่มหมดเรี่ยวแรงไม่สามารถขยับไปไหนได้แล้ว อวัยวะภายในตับไตเริ่มพังทีละส่วน เนื่องจากเลือดเป็นพิษ ถ้าเลือดเป็นพิษถึงระดับ 30% ของเลือดในร่างกายทั้งหมดก็จะเป็นจุดที่อันตรายที่สุด เพราะทำให้มีสารพิษวิ่งเข้าสู่สมองได้ นับว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของจริง
ข้อควรปฏิบัติ...หลังอดอาหารมาหลายวัน
การที่เราจะเริ่มกลับมารับประทานอาหาร เราต้องเลือกรับประทานอาหารที่พร้อมจะดูดซึม อย่าง อาหารเจลที่พร้อมจะปรับลำไส้ เพื่อรับประทานไปแล้วสามารถดูดซึมได้เลย โดยรับประทานต่อเนื่องแบบนี้ประมาณ 4-7 วัน เพื่อทำให้ร่างกายมีการปรับตัวด้วยการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมา และกลับมาย่อยอาหารหรือดูดซึมเองได้ แต่ต้องจำกัดชนิดอาหารและปริมาณในแต่ละวันให้เหมาะสม โดยค่อยๆ เพิ่มการรับประทานอาหารขึ้นมาทีละขั้นตอน แต่ยังไม่ควรจะเป็นอาหารที่มีรสชาติจัดมากจนเกินไป ทั้งนี้เราควรมีการสังเกตอาการควบคู่กันว่าร่างกายมีการถ่ายเหลวอยู่หรือเปล่า ถ้ายังมีการถ่ายเหลวอยู่ก็แปลว่าร่างกายยังไม่พร้อมที่จะย่อยและดูดซึม
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารหลังจากที่อดอาหารมานานต้องพึงระวัง “ภาวะรีฟีดดิ้ง ซินโดรม” (Refeeding Syndrome) เนื่องจากร่างกายเราไม่ได้รับสารอาหารนั้นเลย เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารโดยทันที จะทำให้เซลล์ทุกอย่างในร่างกายเริ่มซ่อมแซมส่วนที่ขาดหายพร้อมๆ กัน และดึงพลังงานนำไปใช้พร้อมกันหมด ทำให้ร่างกายของเรานั้นปรับตัวไม่ทัน สามารถทำให้เกิดอาการชา ตะคริว ชัก หรือเกร็งได้ ในขณะเดียวกัน..การสร้างเซลล์ใหม่ๆ เราต้องใช้วิตามินบี 1 เข้าไปช่วยด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
สรุปการอดอาหารนั้น ส่งผลร้ายแรงกว่าที่คิดไว้มาก เพราะถึงแม้จะเลิกอดอาหารแล้วก็ยังคงมีผลกระทบตามมาในภายหลังทั้งในเรื่องของภูมิคุ้มกันร่างกาย และฮอร์โมนต่างๆ หรือซ้ำร้ายอาจกระต่อสุขภาพจิตได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท , เพจหมอเวร