X

ระดับแผลไฟไหม้ ความยากในการรักษา

5 ส.ค. 2565
2800 views
ขนาดตัวอักษร


จากเหตุการณ์ไฟไหม้ ผับดังเมือง สัตหีบ เม้าส์เทน บี ผับ ( MOUNTAIN B ) ขณะที่มีนักท่องราตรีกำลังใช้บริการกว่าร้อยชีวิต ต้นเพลิงเริ่มไหม้บริเวณหลังคา ก่อนจะลุกลามอย่างรวดเร็วไป ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ได้รับบาดเจ็บ 41 ราย ซึ่งผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่มีแผลไฟไหม้ตามตัว เราจะพาทุกคนไปดูระดับของบาดแผลไฟไหม้กันว่ามีกี่ระดับและรักษาได้อย่างไรบ้าง


1. แผลไหม้ระดับแรก (First degree burn) 


การไหม้จะจำกัดอยู่ที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (epidermis) เท่านั้น โดยบาดแผลจะแดง (Erythema) แต่ไม่มีตุ่มพอง (Blister) มีความรู้สึกเจ็บปวดหรือแสบร้อน โดยแผลประเภทนี้จะใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน โดยไม่ทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้(ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้ออักเสบ) ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดได้แก่แผลไหม้จากแสงอาทิตย์ กลุ่มผู้ป่วยที่กลับจากการพักตากอากาศ ไปชายทะเลมา หรือเป็นพวก sun burn  การถูกน้ำร้อน ไอน้ำเดือดหรือวัตถุที่ร้อนเพียงเฉียดๆ และไม่นาน 


การรักษาที่เหมาะสมคือ การใช้ครีมยาทาแผลเฉพาะภายนอก (Topical antibiotic treatment) หรือ ปิดด้วยผลิตภัณฑ์ปิดแผลชนิดต่างๆ


 

2. แผลไหม้ระดับที่สอง (Second degree burn)   แบ่งย่อยออกเป็น 2 ชนิด

 

 - บาดแผลระดับที่สองชนิดตื้น (Superficial partial-thickness burn) จะเกิดการไหม้ขึ้นที่ชั้นหนังกำพร้าตลอดทั้งชั้น (ทั้งชั้นผิวนอกและชั้นในสุด) และหนังแท้ (dermis) ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ (ใต้หนังกำพร้า) แต่ยังมีเซลล์ที่สามารถเจริญทดแทนส่วนที่ตายได้ จึงหายได้เร็วและไม่เกิดเป็นแผลเป็นเช่นกัน (ยกเว้นถ้ามีการติดเชื้อ) มักเกิดจากถูกของเหลวลวก หรือถูกเปลวไฟ ลักษณะอาการและบาดแผลโดยรวมคือมีตุ่มพองใส ถ้าลอกเอาตุ่มพองออก พื้นแผลจะมีสีชมพู ชื้นๆ มีน้ำเหลืองซึม และคนไข้จะมีอาการปวดแสบมากเพราะ เส้นประสาทบริเวณผิวหนังยังเหลืออยู่ไม่ได้ถูกทำลายไปมากนัก  การหายของแผลใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ไม่เกิดแผลเป็น 

           


การรักษาที่เหมาะสมคือ การใช้ครีมยาทาแผลเฉพาะภายนอก (Topical antibiotic treatment) หรือ ปิดด้วยผลิตภัณฑ์ปิดแผลชนิดต่างๆ


 - ส่วนบาดแผลระดับที่สองชนิดลึก (Deep partial-thickness burns) จะเกิดการไหม้ขึ้นที่ชั้นของหนังแท้ส่วนลึก ลักษณะบาดแผลจะตรงกันข้ามกับบาดแผลระดับที่สองชนิดตื้น (superficial secondary degree burn) คือ จะไม่ค่อยมีตุ่มพอง, แผลสีเหลืองขาว, แห้ง และไม่ค่อยปวด บาดแผลชนิดนี้มีโอกาสเกิดแผลเป็นได้แต่ไม่มาก ถ้าไม่มีการติดเชื้อซ้ำเติม แผลมักจะหายได้ภายใน 3-6 สัปดาห์ การใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่จะช่วยให้แผลไม่ติดเชื้อ


 

3. แผลไหม้ระดับที่สาม(Third degree burn)


บาดแผลไหม้จะลึกลงไปจนทำลายหนังกำพร้าและหนังแท้ทั้งหมด รวมทั้งต่อมเหงื่อขุมขนและเซลล์ประสาท ผู้ป่วยมักไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดที่บาดแผล อาจกินลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อหรือกระดูก บาดแผลจะมีลักษณะขาว ซีด เหลือง น้ำตาลไหม้ หรือดำ หนาแข็งเหมือนแผ่นหนัง แห้งและกร้าน อาจเห็นรอยเส้นเลือดอยู่ใต้แผ่นหนานั้น และเนื่องจากเส้นประสาทที่อยู่บริเวณผิวหนังแท้ถูกทำลายไปหมดทำให้แผลนี้จะไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด บาดแผลประเภทนี้จะไม่หายเอง จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกผิวหนัง นอกจากนี้จะมีการดึงรั้งของแผลทำให้ข้อยึดติด เมื่อหายแล้วจะเป็นแผลเป็น บางรายจะพบแผลเป็นที่มีลักษณะนูนมาก (hypertrophic scar or keloid)  มักเกิดจากไฟไหม้หรือถูกของร้อนนาน ๆ หรือไฟฟ้าช็อต ถือเป็นบาดแผลที่ร้ายแรง 



ขอบคุณที่มา : https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=911


Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล