X
สธ. และศูนย์จีโนมฯ ข้อมูลตรงกัน BA.5 กำลังระบาดแทนทุกสายพันธุ์

สธ. และศูนย์จีโนมฯ ข้อมูลตรงกัน BA.5 กำลังระบาดแทนทุกสายพันธุ์

27 มิ.ย. 2565
490 views
ขนาดตัวอักษร

สธ. เผยข้อมูลการแพร่ระบาดโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 / BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งองค์การอนามัยโลก ให้ความเห็นว่า ต้องเฝ้าระวัง BA.5 อย่างใกล้ชิด พร้อมโต้ข้อมูลสื่อโซเชียล ที่อ้างจะมีความรุนแรงเพิ่มมากกว่า สายพันธุ์เดลตาถึง 5 เท่า ยังไม่มีหลักฐาน และแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ขณะที่ศูนย์จีโนมฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี สรุปข้อมูลปัจจุบันเบื้องต้น ที่ต้องระวังมีสายพันธุ์เดียว คือ BA.5 ที่กำลังระบาด เข้ามาแทนที่ทุกสายพันธุ์ พร้อมระบุ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ชี้ BA.4 / BA.5 สามารถระบาดได้รวดเร็วกว่า BA.2

สธ. แจง โอมิครอน BA.4 / BA.5 ยังไม่มีข้อมูลรุนแรงขึ้น ย้ำวัคซีนเข็มกระตุ้น ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

กระทรวงสาธารณสุข แจงเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 / BA.5 ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เรื่องความรุนแรงที่มากขึ้น ขอประชาชนอย่าเพิ่งวิตกกังวล ประเทศไทย มีระบบเฝ้าระวังผู้ป่วยหนัก และสายพันธุ์ย่อยต่อเนื่อง ย้ำฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันสู้เชื้อได้ และแม้จะมีการผ่อนคลาย มาตรการมากขึ้น แต่ยังต้องป้องกันตนเอง อย่างเหมาะสม



เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณี มีการเผยแพร่ข้อความทางสื่อโซเชียลว่า เชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 มีความรุนแรงกว่า สายพันธุ์เดลตา 5 เท่า และมีอัตราเสียชีวิตสูงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่มีหลักฐาน และแหล่งที่มาของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ขอให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล ต่อข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ เชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 และ BA.5 แม้องค์การอนามัยโลก จะจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล และต้องเฝ้าระวัง (VOC lineages under monitoring : VOC - LUM) เนื่องจากความสามารถ ในการแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น หลบภูมิคุ้มกันได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่า มีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์ของทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ องค์การอนามัยโลก ให้ความเห็นว่า ต้องเฝ้าระวัง BA.5 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแอนติบอดี ที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อย ยารักษาตอบสนองน้อยลง แต่ยังสรุปไม่ได้ว่า มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม ขณะที่ฐานข้อมูลโลก GISAID พบ

+ สายพันธุ์ BA.5 พบสะสม 31,577 ตัวอย่าง ใน 62 ประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 25

+ ส่วน BA.4 พบสะสม 14,655 ตัวอย่าง แนวโน้มลดลงจาก ร้อยละ 16 เหลือร้อยละ 9


นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย มีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังพบ BA.4 และ BA.5 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ ในสัดส่วนสูงกว่า ผู้ติดเชื้อในประเทศ และจะมีการศึกษา ในผู้ป่วยอาการหนักว่า มีความสัมพันธ์กับ 2 สายพันธุ์นี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงนี้ จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชน สามารถดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ขอให้ยังคงมาตรการ ป้องกันตนเองที่เหมาะสม เพื่อช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยง จากการติดเชื้อทุกสายพันธุ์

นอกจากนี้ การที่ประชาชน เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอ ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีความจำเป็น เพราะจะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และป้องกันอาการรุนแรงได้



ทั้งนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ การระบาดระลอกใหม่ของโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565 ระบุว่า

จากข้อมูลที่มีอยู่จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทย น่าจะมีการทยอยระบาดของ BA.5 มาแทนที่ทุกสายพันธุ์ แต่ความรุนแรงอาจไม่ต่างจาก BA.2 การป้องกัน และรักษา น่าจะใกล้เคียงกับ BA.2 ส่วนสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าติดตาม ในอนาคตมีสายพันธุ์เดียว คือ “BA.5” (ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด เมื่อ 26/6/2565 เวลา 12:00)

โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้ให้รายละเอียดข้อมูล ที่ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรม ไวรัสโคโรนา 2019 จากรหัสพันธุกรรมโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 พบการกลายพันธุ์ต่างไปจาก โอไมครอน สายพันธุ์ดั้งเดิม B.1.1.529, BA.1 และ BA.2

ปัจจุบัน พบแนวโน้มของสายพันธุ์ BA.4 / BA.5 กำลังระบาดเข้ามาแทนที่ โอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1.529) และสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.2, และ BA.2.12.1 ในหลายพื้นที่ของโลก



ในสหรัฐอเมริกา โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย ที่ระบาดส่วนใหญ่เป็น BA.2.12.1 แต่ปรากฏว่า กำลังถูกแทนที่ด้วย สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 และจากการคำนวณ โดยอาศัยการถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งจีโนม ในแต่ละช่วงเวลาของ BA.4 / BA.5 พบว่า มีอัตราการเจริญ (growth rate) หรือความฟิต ในการแพร่ระบาดมากกว่า BA.2.12.1 โดยพบว่า BA.5 มีความฟิตมากที่สุด

ในสหราชอาณาจักร อัตราการเจริญ (growth rate) ซึ่งคำนวณจากการถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งจีโนม ในแต่ละช่วงเวลา พบว่า

BA.5 เจริญรวดเร็วกว่า BA.2 ประมาณ 35.14 %

BA.4 เจริญรวดเร็วกว่า BA.2 ประมาณ 19.17%

BA.2.12.1 เจริญรวดเร็วกว่า BA.2 ประมาณ 9.16%


ดังนั้นสถานการณ์ในสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา คล้ายกัน คือ BA.5 มีการเจริญที่รวดเร็วที่สุด และน่าจะมาแทนที่ BA.4 และ BA.2.12.1 ในที่สุด (UK’s Technical briefing documents on novel SARS-CoV-2 variants #43

ดูข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม คลิกที่นี่ >> (SARS-CoV-2 variants of concern and variants under investigation in England Technical briefing 43 : 24 June 2022)

สรุปได้ว่า “สายพันธุ์ที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุด ในปัจจุบัน และอนาคต คือ BA.5”

หากพิจารณาดูจากรหัสพันธุกรรม ทั้งจีโนม พบว่า BA.4 / BA.5 บริเวณส่วนหนาม มีการกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.2 เพียง 3 ตำแหน่ง คือ 69-70del, L452R, F486V

+ โดย “L452R” กลายพันธุ์กลับไปเหมือนสายพันธุ์ “เดลตา”

+ ส่วน “F486V” เป็นการกลายพันธุ์ใหม่ คาดว่า ช่วยไวรัสมีความฟิตมากขึ้น ในการแพร่ระบาด


นอกจากนั้น บนจีโนมของ BA.4 / BA.5 ยังมีการกลายพันธุ์ กลับไปเหมือนสายพันธุ์ดั้งเดิม ที่เคยระบาดในอดีต ก่อนหน้าสายพันธุ์เดลตา เช่น อัลฟา, เบตา และ แกมมา ที่ตำแหน่ง Q493 การกลายพันธุ์ของ BA.4 / BA.5 มีการกลายพันธุ์ ต่างไปจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่อั๋น” ประมาณ 85 ตำแหน่ง

ในขณะที่ BA.2 การกลายพันธุ์ต่างไปจาก ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่อั๋น” ประมาณ 75 ตำแหน่ง

การที่ BA.4 / BA.5 มีกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง “L452R” เหมือนกับสายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ พบว่า สามารถเพาะเลี้ยงไวรัส BA.4/BA.5 ในเซลล์ปอดมนุษย์ ในหลอดทดลองได้ดี หนามของไวรัส ได้มีการเปลี่ยนแปลงไป สามารถเป็นตัวเชื่อมให้ผนังของหลายเซลล์ ในหลอดทดลองหลอมรวมเป็นเซลล์เดียว (cell fusion หรือ syncytia formation) อันอาจเป็นเหตุดึงดูดให้ ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ เข้ามาทำลายเซลล์ปอดของผู้ติดเชื้อ เกิดการอักเสบที่ปอด ส่วนในหนูทดลอง พบการติดเชื้อ BA.4 / BA.5 ในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่นที่เซลล์ปอดได้ดี



ข้อมูลทางคลินิกจากผู้ติดเชื้อ ที่แตกต่างจากข้อมูลที่ได้จากห้องทดลอง ขณะนี้มีการแพร่ระบาดของ BA.4 / BA.5 หลายประเทศในยุโรป จากการติดตามการดำเนินของ โรคโควิด-19 ในประเทศแอฟริกาใต้ และโปรตุเกส ซึ่งเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการระบาดของ BA.4 / BA.5 พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. เพิ่มสูงขึ้นบ้าง แต่ไม่สูงเท่ากับการติดเชื้อโอไมครอน BA.2 ในอดีต ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตคงที่ไม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศไทย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง

ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน มีความเห็นสอดคล้องกันว่า BA.4 / BA.5 สามารถระบาดได้รวดเร็วกว่า BA.2 แต่ความรุนแรง และอาการทางคลินิก น่าจะไม่แตกต่างจาก BA.2 อย่างไรก็ดี คงต้องรอข้อมูลทางคลินิก จากหลายประเทศในยุโรป อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ที่ BA.4 / BA.5 กำลังระบาดมาสรุปร่วมด้วย

ข้อมูลรหัสพันธุกรรม จากฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” มีการระบาดของ BA.4, BA.5, BA.2.12.1 ในประเทศไทย ซึ่งสามารถสืบค้นได้ บนฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” โดยข้อมูลส่วนใหญ่ มาจากทาง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้อัปโหลดขึ้นไปแบ่งปันข้อมูล กับนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก

+ ตรวจพบ BA.4 ร้อยละ 2
+ ตรวจพบ BA.5 ร้อยละ 2
+ ตรวจพบ BA.2.12.1 ร้อยละ 1
หรือ 32, 49, และ 25 ราย  ตามลำดับ


ข้อมูลรหัสพันธุกรรม ทั้งจีโนม ของไวรัสโคโรนา ที่ถอดรหัสโดยศูนย์จีโนมฯ

ตัวอย่างไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ได้สุ่มถอดรหัสพันธุกรรม มาจากสิ่งส่งตรวจที่ PCR เป็นผลบวก ระหว่าง เดือน ม.ค. - พ.ค. 2565  จำนวนประมาณ 300 ราย ในพื้นที่ กทม., ปทุมธานี, สมุทรสาคร และกรมราชทัณฑ์ พบว่า เป็นสายพันธุ์เดลตา และโอไมครอน BA.1 และ BA.2 เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่พบ BA.4. BA.5, และ BA.2.12.1 (กำลังรอผลการถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งจีโนม อีก 100 ราย ประจำเดือนมิถุนายน) อันแสดงว่า กรุงเทพ และจังหวัดเสี่ยงในภาคกลาง ยังไม่พบการแพร่ระบาด หรือระบาดน้อย จนสุ่มตรวจไม่พบ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 ในระดับท้องถิ่น ระหว่างเดือน ม.ค. - พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา (ภาพ11)

สรุปได้ว่า “จากข้อมูลที่มีในปัจจุบันเบื้องต้น บ่งชี้ว่า ไม่น่าจะมีการระบาดใหญ่ในไทย ความรุนแรงของการติดเชื้อ ไม่น่าจะต่างจาก BA.2 การป้องกัน และรักษาไม่ต่างจาก BA.2 ที่ต้องระวังมีสายพันธุ์เดียว คือ “BA.5” ที่กำลังระบาด เข้ามาแทนที่ทุกสายพันธุ์


อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th

เฟซบุ๊ก : Center for Medical Genomics (ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)
https://www.facebook.com/CMGrama



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล