X
อาจารย์หมอ เตือน BA.5 ติดลงปอดง่าย หยุดยาว ก.ค.นี้ อยู่บ้านดีกว่า

อาจารย์หมอ เตือน BA.5 ติดลงปอดง่าย หยุดยาว ก.ค.นี้ อยู่บ้านดีกว่า

11 ก.ค. 2565
1320 views
ขนาดตัวอักษร

อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือน BA.5 มีแนวโน้มติดเชื้อ ในเซลล์ปอดได้มากขึ้น และแพร่ได้ไวกว่า สายพันธุ์ย่อยเดิม BA.1, BA.2 ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีอัตราการเข้ารับ การรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น วันหยุดยาวทั้ง 2 ช่วงในเดือนนี้ หากเป็นไปได้ พักผ่อนอยู่บ้านน่าจะดีกว่า

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat วันนี้ (11 กรกฎาคม 2565) กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดโรค โควิด 19 โดยระบุว่า



เมื่อวานทั่วโลก (10 ก.ค. 2565) พบการติดเพิ่ม 385,329 คน ตายเพิ่ม 484 คน รวมแล้วติดไป 560,585,603 คน เสียชีวิตรวม 6,372,845 คน และ ประเทศ 5 อันดับแรก ที่ติดเชื้อสูงสุด คือ อิตาลี, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, ออสเตรเลีย และไต้หวัน

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค. 2565) จำนวนติดเชื้อใหม่ มีประเทศจากยุโรป และเอเชีย ครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย และยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 68.5 ของทั้งโลกนขณะที่จำนวนการเสียชีวิต คิดเป็นร้อยละ 60.53

สำหรับสถานการณ์ การแพร่ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้ (11 ก.ค. 2565) พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทย จะปรับระบบรายงาน ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2565 จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้น ลดลงไปมากก็ตาม

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ได้เปิดเผยถึง ข้อมูลการอัปเดต สายพันธุ์ย่อย Omicron BA.5 ว่า

"BA.5 มีแนวโน้มติดเชื้อ ในเซลล์ปอดได้มากขึ้น และแพร่ได้ไวกว่า สายพันธุ์ย่อยเดิม (BA.1, BA.2)"

ทีมวิจัย จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการศึกษา ในห้องปฏิบัติการ ลงใน medRxiv เมื่อวานนี้ 10 กรกฎาคม 2565
สาระสำคัญ คือ Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 นั้น มีกลไกการเข้าสู่เซลล์ ที่ต่างไปจาก BA.1, BA.2 โดยผ่านตัวรับ TMPRSS2 คล้ายคลึงกับสายพันธุ์เดลต้า

การใช้กลไกตัวรับ TMPRSS2 นี้ สะท้อนแนวโน้ม ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ในทางเดินหายใจส่วนล่างได้มากขึ้น คล้ายกับสายพันธุ์เดลต้า ที่ระบาดมาก่อนหน้า Omicron



นี่อาจใช้เป็นอีกหนึ่งคำอธิบาย สำหรับปรากฏการณ์ ที่เราเห็นการติดเชื้อ BA.5 แล้ว ทำให้มีอัตราการเข้ารับ การดูแลรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

การระมัดระวังตัว ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ย่อมดีกว่าการใช้ชีวิต ด้วยความประมาท โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก... แม้ฉีดวัคซีน จะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรง และเสียชีวิต แต่หากไม่ป้องกันตัวให้ดี ก็ยังติดเชื้อได้ ยังป่วยรุนแรงได้ เสียชีวิตได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติ อย่าง Long COVID ตามมา

สถานะปัจจุบัน ความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับ Long COVID นั้น ยังไม่แจ่มชัด เรื่องธรรมชาติของโรค รวมถึงการรักษา และการป้องกัน แต่องค์การอนามัยโลก ก็ยังคอนเฟิร์มว่า Long COVID is real ซึ่งส่งผลทำให้ บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่าย ทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมในระยะยาวได้

ใช้ชีวิตได้ ทำมาหากิน ค้าขาย ศึกษาเล่าเรียนได้ แต่ต้องมีสติ ไม่ประมาท และป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรงมงายกับวาทกรรม แบบดราม่าว่า "ยอมติด ดีกว่ายอมอดตาย" เพราะปัจจุบัน รัฐเค้าเปิดให้ใช้ชีวิต ทำมาหากินได้ แต่ต้องคอยเตือนให้ป้องกัน เพื่อให้รักตัวเอง ป้องกันตัวเอง ขณะทำมาหากินด้วย จะได้อยู่รอดปลอดภัย ทำมาหากินไปได้นาน ๆ ไม่ต้องเจ็บป่วยจนเสียงาน เสียการ เสียเงิน และพาลนำเชื้อไปแพร่ ให้ครอบครัว ลูกหลาน และคนสูงอายุในบ้าน ควรระลึกไว้ว่า หากตัวเองติด ไม่ใช่แค่ตัวเองที่เป็น แต่คนใกล้ชิด และคนอื่นในสังคม ก็พลอยที่จะต้องรับผลกระทบไปด้วย การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้

อ้างอิง
Aggarwal A et al. SARS-CoV-2 Omicron BA.5: Evolving tropism and evasion of potent humoral responses and resistance to clinical immunotherapeutics relative to viral variants of concern. medRxiv. 10 July 2022.

นอกจากนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลที่ฝากเตือนถึง สายท่องเที่ยววันหยุด โดยเฉพาะในสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีวันหยุดยาวอยู่ 2 ช่วง รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ได้โพสต์เตือนไว้ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า

BA.5 ในแอฟริกาใต้ ใช้เวลาขึ้นถึงลงราว 9 สัปดาห์

หากไทยมีธรรมชาติ ของการระบาดเหมือนเค้า เราเห็นอัตราส่วนของ จำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1,000,000 คน ถีบตัวขึ้นราว 28 มิถุนายนเป็นต้นมา พอจะประเมินโดยคร่าวได้ว่า BA.5 ของเรา จะลากไปถึงปลายสิงหาคม ถึงต้นกันยายน (เพราะประเมินโดยตรง จากจำนวนติดเชื้อรายวัน ที่ทางการรายงานไม่ได้ เนื่องจากต่ำกว่าความเป็นจริงมาก)

ทั้งนี้ ระยะเวลา กับความหนักหนาของระลอกนี้ จะขึ้นกับหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมป้องกันตนเอง ของเราทุกคน ทั้งเรื่อง การใส่หน้ากากฯ, เว้นระยะห่าง, เลี่ยงกิจกรรม และสถานที่เสี่ยง รวมถึงการเดินทางตะลอนท่องเที่ยว วันหยุดยาวทั้ง 2 ช่วงในเดือนนี้ หากเป็นไปได้ พักผ่อนอยู่บ้านน่าจะดีกว่านะครับ แต่หากจะไปตะลอน ก็ขอให้ระมัดระวังมาก ๆ โดยเฉพาะตามพื้นที่ท่องเที่ยว และเขตเมือง ที่มีคนหนาแน่นแออัด


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : Thira Woratanarat (รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์)
https://www.facebook.com/thiraw



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล