แบรนด์ Blue Bangkok เป็นแบรนด์สินค้าที่ระลึกจากแรงบันดาลใจตึกเก่าในไทย โดยการทำงานของ ตู้ หรือ ฐปนัท แก้วปาน และ เนย หรือ สุภัสสรา เนตรบำรุงรัตน์
ตู้ จบการศึกษาจาก คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งปริญาตรีและปริญญาโท ทำงานเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา เนย จบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ สาขาศิลปศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็นผู้ดูแลแบรนด์ Blue Bangkok
แรงบัลดาลใจของทั้งสองคน เริ่มจากความชื่นชอบตึกเก่า และมีความสนใจเรื่องวิถีชีวิต ชุมชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงอาหาร จนถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เก่าๆ การที่เราได้ฟังเรื่องราวจากประสบการณ์ในอดีตของผู้คนที่ส่งมาถึงปัจจุบันทำให้เรารู้สึกสนุกและประทับใจ เราจึงอยากจะเก็บความทรงจำเอาไว้ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา โดยเลือกตัวแทนความทรงจำจากสถานที่หรือตึกเก่า เพราะที่สิ่งที่หลายๆ คนมีประสบการณ์และความทรงจำร่วมกันเยอะ และยังเป็นสถานที่ตั้งอยู่มายาวนาน ต่างกับสิ่งอื่นๆ ที่ไม่กี่ปีก็สลายไป เราจึงเลือกทำของที่ระลึกเป็นตึกจิ๋ว
“ในช่วงที่พวกเราเดินสำรวจตึกเก่าไปเรื่อยๆ ตู้จะเสก็ตภาพตึกจิ๋วเก็บไว้เสมอ จนกระทั่งทราบข่าวว่า บางกอกดีไซน์วีค 2021 (Bangkok Design Week 2021) จะเปิดรับสมัครผลงานเพื่อจัดแสดง ตู้เลยส่งภาพร่างโปรดักส์ “ตึกเก่าพระนคร” เป็นตึกย่านหน้าพระลาน สราญรมย์ เจริญกรุง นางเลิ้ง เพื่อส่งเข้าร่วมงาน โดยช่วงนั้นมีเพียงต้นแบบที่เป็นตัวโมเดล3มิติเท่านั้น ยังไม่มีแผนจะทำขายจริงจัง จนกระทั่งเนยมาเห็นว่าไหนๆ ก็ได้มีโอกาสแสดงงานแล้วเราก็ทำเป็นสินค้าขึ้นมาขายเลยดีกว่า เพราะหลังจากที่คุณตู้คุณเนยได้ลงภาพ ต้นแบบโมเดลตึกจิ๋ว ในโซเชียลไปก็เริ่มมีเพื่อนๆ และบุคคลอื่นๆ ชื่นชอบและส่งแรงเชียร์ให้ผลิตเลย เนยเลยคิดว่าน่าจะมีแรงสนับสนุน และด้วยสไตล์การออกแบบ ตึกจิ๋ว ของตู้ทำออกมาได้ไม่เหมือนใคร โดยตัวตึกมีความลดทอนจากตึกจริงให้ดู minimal แต่ก็มีรายละเอียดเล็กๆ ให้คนได้สังเกตด้วย ซึ่งแตกต่างกับแม็กเน็ตในท้องตลาดในไทยช่วงนั้นที่เน้นเรื่องราคาย่อมเยาว์ และมีแต่สถานที่เดิมๆ อย่างวัดต่างๆ อย่างเดียว”
หลังจากตัดสินใจว่าจะนำผลงานออกแบบของตู้มาผลิตเป็นสินค้าแล้ว เนยก็โชคดีที่เจอทีมช่างฝีมือที่สามารถผลิตงานของพวกเราได้เหมือนที่สุด และแล้วเราจึงมีสินค้าโมเดลเรซิ่นชุดแรกขึ้นมา คือชุดตึกเก่าพระนคร มี 4 แบบ คือ ตึกหน้าพระลาน ตึกสราญรมย์ ตึกถนนเจริญกรุง ตึกนางเลิ้ง หลังจากนั้นก็ได้รับโอกาสในการผลิตผลงานชุดอื่นๆ ตามมา เช่น ชุดตึกเก่าบางรัก (ร่วมงานกับTCDC) , ตึกเก่ามาริโอ ตามานโญ (ร่วมงานกับมิวเซียมสยาม) , ตึกเก่าทรงวาด (ร่วมกับ Made in songwat) , มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง , โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย , โรงเรียนเซนต์คาเบรียล , โรงเรียนเทพศิรินทร์ , การไฟฟ้านครหลวง , ร้านโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ , สน.พระราชวัง
วิธีเลือก ที่เราจะทำรูป ตึกหรืออาคารเก่า เราเลือกจากอะไร ความประทับใจอะไร?
สำหรับ collection ที่ Blue Bangkok ทำงานผู้เดียว เราจะเลือกจากย่านหรือตึกที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน หรือตึกที่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยแต่ละครั้งที่จะออก collection ขึ้นมาจะมีกำหนดที่ชุดละ 4 แบบ ก็จะเริ่มสำรวจตึกเก่าต่างๆ แต่คัดเลือกให้ครบ 4 ตัว โดย 1.ตึกเก่าที่เราเลือกต้องเป็นตึกที่อยู่ริมถนน เวลาคนเดินแล้วสามารถพบเห็นได้ 2.ต้องเป็นตึกเก่าจริงที่อายุ 90-100 ปีขึ้นไป 3.ต้องเป็นตึกที่มีเรื่องราวในตัวเอง เป็นสถานที่รวมความทรงจำของผู้คนไว้ 4.เป็นตึกที่รูปลักษณ์น่าสนใจ โดยตึกที่เราเลือกมาทั้งหมดจะเป็นตึกที่เราไปเห็นและสังเกตด้วยตาตัวเอง และมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมมาแล้ว
สำหรับงาน Collab จะเป็นการที่ผู้ร่วมงานส่งภาพถ่ายมาให้เรา หรือถ้าที่ไหนเราสามารถเดินทางไปชมเองได้เราก็จะเดินทางไป เพื่อเข้าไปดูรายละเอียดเล็กๆ ที่เราเห็นแล้วชอบและอยากจะดึงออกมาไว้ในโมเดล
สุดท้ายคือนอกจากงานที่ทำอยู่ตอนนี้อยากทำอะไรอีกในอนาคต?
นอกจากผลงานการออกแบบโมเดลชุดใหม่ล่าสุด “Land Mark of Thailand” ที่เตรียมจะปล่อยกลางปีนี้ในอนาคตอันใกล้ เรากำลังทำบ้านเป็นสูดิโอเวิร์คช็อปศิลปะ แถวซอยจรัญสนิทวงศ์ 35 โดยหวังว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเครือข่ายกับศิลปินต่างๆ ในย่าน และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ฝั่งธนเป็นศูนย์รวมศิลปะ
และหวังว่าจะได้พบเจอผู้สนับสนุนมาเยี่ยมชมสตูดิโอ ซึ่งจะมีคอร์สเล็กๆในการสอนงานฝีมือในแขนงต่างๆ หรือมาคุยกับเรา เพื่อสำรวจย่านที่อยู่ ย่านอื่นๆในรูปแบบการพาเดิน (ทดลองกับโครงการของกรุงเทพมหานครบางส่วนแล้ว https://www.blockdit.com/posts/65f5bac0dea21b17ee9afb5e
เคยมีน้องๆ หรือ คนรุ่นใหม่ที่ชอบงานศิลปะ feedback งานของเราว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ?
ในกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนที่อายุน้อย เป็นกลุ่มที่มักจะเห็นผลงานของเราแล้วเข้ามาส่งพลังบวกมากที่สุด ส่วนใหญ่จะเข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ และชื่นชมผลงานและช่างสังเกตในรายละเอียดต่างๆ ของผลงาน บางคนจะแนะนำให้ทำสินค้าที่หลากหลายขึ้น อย่างเช่น สติ๊กเกอร์ โปสการ์ด และของที่ราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้ แม้หลายคนที่กำลังซื้อจะน้อยแต่เขาก็บอกว่าเข้าใจว่าของคุณภาพขนาดนี้ต้องมีราคา แต่ทุกคนที่เข้ามาก็จะเข้ามาให้กำลังใจและติดตามผลงานเราต่อ