X

มาดูกันเถอะว่า แสงเหนือ แสงใต้เกิดจากอะไร

13 พ.ค. 2567
51240 views
ขนาดตัวอักษร

ปรากฎการณ์พายุสุริยะใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี ที่อาจสร้างปัญหากับระบบอินเตอร์เน็ต - โทรศัพท์ ทั่วโลก แต่คาดว่าไม่เป็นอันตราย และในยุโรป - สหรัฐฯ ต่างแห่กันแชร์ภาพแสงเหนือสุดสวยงาม วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จัก

แสงเหนือและแสงใต้กันว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรจากอะไร

ออโรรา (Aurora) เป็นปรากฏการณ์การเกิดแนวแสงสว่างสีต่าง ๆ บนท้องฟ้ายามค่ำคืน มักเกิดขึ้นในแถบประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตละติจูดสูง ซึ่งก็คือ บริเวณขั้วโลกที่มีอุณหภูมิต่ำ อากาศหนาวเย็น ซึ่งหากเกิดบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ จะเรียกว่า แสงเหนือ (Aurora borealis) และบริเวณใกล้ขั้วโลกใต้ เรียกว่า แสงใต้ (Aurora australis)

แสงเหนือ-แสงใต้ เกิดจากอนุภาคอิเล็กตรอน โปรตอน หรือไอออนอื่น ๆ ที่มีพลังงานสูงถูกปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์ขณะกำลังโคจร ซึ่งอนุภาคเหล่านี้จะเคลื่อนที่มากับลมสุริยะและเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก เมื่ออนุภาคเคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศในระดับความสูงประมาณ 80 – 1,000 กิโลเมตร จากพื้นดินจะชนเข้ากับโมเลกุลของก๊าซที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ และปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงที่เรามองเห็นเป็นสีต่าง ๆ ซึ่งสีของแสงที่ปรากฏให้เห็นบนท้องฟ้าจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าอนุภาคดังกล่าวชนกับโมเลกุลของก๊าซในช่วงระดับความสูงใด รวมถึงชนิดของก๊าซที่พบในชั้นบรรยากาศนั้น ๆ ด้วย โดยก๊าซออกซิเจนจะให้แสงสีเขียวหรือสีแดง ไนโตรเจนให้แสงสีน้ำเงินหรือสีม่วง ส่วนฮีเลียมให้แสงสีฟ้าหรือสีชมพู

แสงเหนือ – แสงใต้ พบได้ช่วงใด

ความจริงแล้วแสงเหนือ – แสงใต้ เกิดขึ้นตลอดทั้งปี หากแต่ว่าบริเวณขั้วโลกมีช่วงเวลากลางวันกลางคืนที่สั้น-ยาว ไม่เท่ากัน บางเดือนไม่มีกลางคืน บางเดือนมีกลางคืนยาวนาน จึงไม่สามารถสังเกตเห็นได้ ดังนั้นการล่าแสงเหนือ-แสงใต้ ที่ดีจึงต้องมีช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสการพบมากที่สุด นั้นคือ ช่วงปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนเมษายน หรือในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีระยะเวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน ทำให้เรามีเวลาในการออกตามล่าหาเเสงเหล่านั้น แต่หากกลางคืนยาวนานมากเกินไป เช่น ในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม แม้จะมีเวลาให้ตามล่าแสงเหนือ-แสงใต้ได้ยาวนานขึ้น แต่สำหรับผู้ที่ต้องการมาท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ด้วย อาจจะต้องจัดตารางเวลาให้ดี เพราะสภาพอากาศจะมืดเร็วมาก นอกจากช่วงเดือนที่มีความสำคัญต่อการพบแสงเหนือ – แสงใต้ แล้วปัจจัยอื่น ๆ เช่น ช่วงเวลาและสภาพอากาศก็มีส่วนสำคัญ คือ ต้องเป็นวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ไร้เมฆ บรรยากาศมืดสนิท และช่วงเวลาประมาณ 22.00-24.00 น. จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการเห็นแสงเหนือ – แสงใต้ มากขึ้นด้วย


ขอบคุณข้อมูล : https://sciplanet.org/content/9817

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล