เจ็บแล้วเจ็บอีก ผู้เชี่ยวชาญบำบัด ย้ำการบำบัดด้วยพิษผึ้ง ระบุชัด ใช้พิษต้านพิษ ใจไม่ถึง(กลัว) ร่างกายไม่พร้อม ไม่รับบำบัดรักษา พร้อมเปิดเผยการวิจัย ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิต มาหลายสิบปี บำบัดมาหลายสิบโรค อาทิ โรคปวดเอว, ปวดเข่า, ปวดตามเนื้อตัว, ไขข้ออักเสบ, โรคเกาต์, ริดสีดวง, อัมพฤกษ์, อัมพาต, เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
พิษต้านพิษ ศาสตร์แห่งการใช้ผึ้งบำบัด ผู้เชี่ยวชาญ เผยว่า เป็นศาสตร์แบบเดียวกับ การฝังเข็มของประเทศจีน เพียงเปลี่ยนจากการฝังเข็ม เป็นการใช้เหล็กในของผึ้งพันธุ์ และการบำบัดด้วยวิธีนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการถ่ายทอดสด มาจากศูนย์ผึ้งเชียงใหม่ ร่วมกับ ศูนย์ผึ้งชุมพร โดยเป็นการพูดคุย ให้ความรู้ในเรื่อง “รู้แล้วต้องอึ้ง... เหล็กในผึ้งพิชิตโรค” กับ อาจารย์ประเสริฐ นพคุณขจร ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการใช้ผึ้ง, ผู้เขียนหนังสือ มหัศจรรย์การบำบัดโรค ด้วยเหล็กในผึ้ง, ผึ้งบำบัด Apitherapy, ผึ้งบำบัด พิษต้านพิษ เหล็กในพิชิตโรค และเป็นอดีตผู้อำนวยการ ศูนย์ผึ้งชุมพร ซึ่งดำเนินรายการโดย ว่าที่ร้อยตรีหญิงเกศนาฏ กลิ่นทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านแมลงเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้ Backbone MCOT ขอนำเนื้อหาบางช่วงบางตอน จากการถ่ายทอดสด Facebook Live EP.31 ตอน “รู้แล้วต้องอึ้ง... เหล็กในผึ้งพิชิตโรค” (มีลิงก์วิดีโอย้อนหลัง ด้านล่างบทความ) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ซึ่งมีความยาวกว่า 2 ชั่วโมง มาบอกเล่าโดยย่อ จากที่ผู้ดำเนินรายการ ว่าที่ร้อยตรีหญิงเกศนาฏ กลิ่นทอง กับ อาจารย์ประเสริฐ นพคุณขจร ได้พูดคุยให้ความรู้ เรื่องของการใช้พิษผึ้ง มาบำบัดรักษาโรค ดังนี้
องค์ความรู้ การบำบัดรักษา ในแบบการแพทย์ทางเลือก ครั้งนี้ จะพาไปทำความรู้จักกับ ศาสตร์การแพทย์ ในแบบพิษผึ้งบำบัด ซึ่งใช้ความมหัศจรรย์ของเหล็กในผึ้ง ในการรักษาโรค โดยอาจารย์ประเสริฐ นพคุณขจร เป็นการรักษาที่ผ่านการวิจัย ด้วยประสบการณ์ชีวิต มาแล้วหลายสิบปี และได้รับการศึกษาศาสตร์ จากประเทศจีน ว่า รักษาโรคหาย หรืออาการดีขึ้นมาแล้ว หลายสิบโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคปวดเอว, ปวดเข่า, ปวดตามเนื้อตัว, ปวดแสบปวดร้อน, ไขข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคเกาต์, ริดสีดวง, เส้นเลือดตีบ, อัมพฤกษ์, อัมพาต, เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
เหล็กในผึ้งนั้น จะช่วยรักษาโรคได้จริงหรือ ? แล้วจะปลอดภัย มีผลข้างเคียงหรือเปล่า มาร่วมหาคำตอบได้ใน EP.31 ตอน “รู้แล้วต้องอึ้ง... เหล็กในผึ้งพิชิตโรค” กับหัวข้อเหล่านี้
1. พิษผึ้งคืออะไร ? ประโยชน์ และโทษของพิษผึ้ง มีอะไรบ้าง ?
2. การปฏิบัติตัว และการปฐมพยาบาล เมื่อถูกผึ้งต่อย ทำอย่างไร ?
3. ศาสตร์ผึ้งบำบัด (Apitherapy) เป็นอย่างไร ?
4. การรักษาโรค โดยการใช้เหล็กในผึ้ง ทำอย่างไร มีข้อควรระวังหรือไม่ ?
5. ข่าวสารอื่น ๆ
ว่าที่ร้อยตรีหญิงเกศนาฏ กลิ่นทอง ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ และในฐานะเป็นผู้เลี้ยงผึ้ง ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับเรื่องของผึ้งว่า
พิษผึ้ง คืออะไร ?
พิษผึ้งถูกผลิตมาจากต่อมพิษ ในบริเวณช่องท้อง มีองค์ประกอบหลักเป็น น้ำ 88% และส่วนที่เหลืออีก 12% เมื่อแห้งมีลักษณะ เป็นผงสีขาว และสามารถละลายน้ำได้ ซึ่งประกอบด้วย สารสำคัญ ได้แก่
+ เอ็นไซม์เชิงซ้อน
+ ไขมัน
+ กรดอะมิโน
+ คาร์โบไฮเดรต
+ เปปไทด์ต่าง ๆ
จากการศึกษา พิษผึ้งของผึ้งพันธุ์ พบว่า มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และประโยชน์ทางการแพทย์ หลายด้าน ได้แก่
+ ต้านเชื้อจุลินทรีย์
+ ต้านการอักเสบของเซลล์
+ ต้านการแข็งตัวของเลือด
+ ยับยั้งการเจริญเติบโต ของเซลล์มะเร็งต่าง ๆ
สารออกฤทธิ์สำคัญหลายชนิด ที่ทำให้พิษผึ้ง มีคุณสมบัติทางการแพทย์ คือ
+ Melittin มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
+ Phospholipase A2 ลดความดันโลหิต และยับยั้งการแข็งตัวของเลือด
+ Hyaluronidase ทำให้เส้นเลือดฝอยขยายตัว และเกิดการแพร่กระจาย ของการอักเสบได้
+ Apamin เป็น neurotoxin แบบอ่อน ที่สามารถเลือกขัดขวางช่องทาง การส่งสัญญาณประสาทส่วนกลางได้
สำหรับประโยชน์ และโทษจากพิษผึ้ง มีดังนี้
พิษผึ้ง จัดเป็นหนึ่งในสาร ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะพิษผึ้งจากผึ้งพันธุ์ (Apis mellifera) มีการศึกษาอย่างกว้างขวาง พบว่า มีคุณสมบัติทางการแพทย์ และทางเภสัชศาสตร์ มีการนำพิษผึ้ง มาผสมทำเครื่องสำอาง, การใช้พิษผึ้ง ในการบำบัดรักษา (Apitherapy) เป็นต้น
ด้านที่เป็นโทษ คือ พิษผึ้ง สามารถก่ออันตรายกับมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้พิษผึ้ง (Allergic reaction) เมื่อได้รับพิษผึ้ง อาจมีอาการ ปวดบวม ผื่นแดง และคันบริเวณที่รับพิษผึ้ง และสามารถเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น หายใจติดขัด คลื่นไส้ และสามารถเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ที่แพ้พิษผึ้ง หรือมีอาการแพ้รุนแรง ควรระมัดระวัง หากเกิดอาการดังกล่าว ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
ว่าที่ร้อยตรีหญิงเกศนาฏ กลิ่นทอง ได้แนะนำ วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อโดนผึ้งต่อย ให้จัดการดังนี้
1. เอาเหล็กในออกก่อน เนื่องจากผึ้ง เวลาต่อย จะมีการฝังเหล็กในไว้ เมื่อต่อยเหยื่อ และพิษผึ้งมีความเป็นกรด ซึ่งตรงเหล็กในนี้ จะมีถุงเก็บพิษ ที่สามารถทำงานฉีดพิษผึ้ง ได้ต่อเนื่องนานถึง 10 นาที ถ้ารีบนำเอาเหล็กใน ออกได้เร็วที่สุด จะทำให้ได้รับพิษ เข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง ที่สำคัญเวลาเอาเหล็กในผึ้งออก จะไม่ไปบีบ คีบ ดึง เพราะจะทำให้เกิดการบีบถุงพิษ จนทำให้พิษเข้าสู่ร่างกาย ในปริมาณมากขึ้น แต่ให้ใช้วัตถุแข็งมีขอบ เช่น บัตรต่าง ๆ สันมีด หรือ เล็บ ขูดออก สวนทางกับแนวเหล็กในที่ต่อยทิ้งไว้
2. ฟอกให้สะอาด ด้วยน้ำสบู่ บริเวณที่ถูกต่อย เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากผิวได้ และในการต่อยของผึ้งนั้น จะมีการทิ้งกลิ่น ที่ส่งไปบอกฝูงผึ้งว่า จุดนี้ คือ สิ่งที่เป็นศัตรูของผึ้ง ให้มาช่วยกันรุมต่อย ซึ่งคนที่เลี้ยงผึ้ง จะรู้ว่า ต้องรีบกลบกลิ่นที่ถูกต่อยทันที เพื่อไม่ให้ถูกฝูงผึ้งรุมต่อยซ้ำ โดยใช้วัสดุใกล้ตัว เช่น ใช้ดิน, ใช้ใบไม้ หรือใช้ควันพ่นกลบกลิ่นได้
3. ปาดสารต้านพิษ เนื่องจากพิษผึ้ง มีความเป็นกรด สารต้านพิษที่หาได้ตามบ้านทั่วไป คือ สารที่เป็นด่าง เช่น เบกิ้งโซดา ละลายน้ำแล้ว แช่ส่วนที่โดนต่อยประมาณ 3 นาที ด้วยกลไกกรด ผสมด่าง จะเป็นกลาง ทำให้ความรุนแรงของพิษผึ้งลดลง ส่วนพิษของต่อ แตน มีความเป็นด่าง สารต้านพิษ จึงควรใช้กรดอ่อน ๆ เพื่อทำให้พิษลดลง เช่น น้ำมะนาว, น้ำส้มสายชู โดยวิธีการ ทาทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที แล้วทาซ้ำอีกรอบ ก่อนล้างทำความสะอาดต่อไป
4. หัวหอมแดง มีการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ พบว่า เอ็นไซม์ในหัวหอมแดง สามารถทำให้พิษผึ้ง ต่อ แตน ลดความรุนแรงลงได้ โดยการย่อยสลายสารประกอบบางตัว วิธีการคือ หั่นหัวหอมแดง ถูรอบ ๆ รอยบวมแดงของแผลเบา ๆ และวางหัวหอมนั้นทิ้งไว้ 3 - 5 นาที
5. ชิดด้วยน้ำแข็ง คือ วิธีการประคบ บริเวณที่ถูกต่อย ด้วยน้ำแข็ง 10 - 15 นาที ความเย็น จะทำให้เส้นเลือดหดตัว ยับยั้งการไหลเวียนของเลือด รวมทั้ง สารการอักเสบ และสารก่อภูมิแพ้ ทำให้การอักเสบเฉพาะที่นั้นเบาลง ชะลอเวลาการกระจายของพิษผึ้ง ต่อ แตน ได้ และลดอาการเจ็บ ปวด คัน ได้ด้วย
6. แบ่งยาให้กิน ซึ่งการอักเสบเฉพาะที่ การกินยาที่ลดอาการเจ็บปวด เช่น พาราเซตามอล (Acetaminophen) และยาต้านการอักเสบ เช่น Ibuprofen, diclofenac ถ้าไม่มีข้อห้ามในการใช้ยา ในส่วนของยาทานั้น เช่น Local Steroid (ยาสเตียรอยด์เฉพาะจุด แบบทา) เช่น hydrocortisone cream, Triamcinolone cream
ยับยั้งระบบภูมิแพ้ ยาที่ช่วยได้ คือ กลุ่ม Antihiistamine ที่เราเรียกกันว่า ยาแก้แพ้ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ที่มักจะมีติดบ้าน คือ CPM (คลอเฟนิรามีน), Hydroxyzine, Cetirizine กินตามขนาด ที่แนะนำในฉลากยา
7. สังเกตอาการต่อเนื่อง เพราะผลของพิษผึ้ง ต่อ แตน นั้น สามารถส่งผลได้ ในระยะเวลาอันรวดเร็วระดับนาที คือ อาการแพ้รุนแรง จนทำให้เสียชีวิตได้ จึงควรเฝ้าระวังอยู่เสมอ หามีอาการแพ้รุนแรง ให้รีบปฐมพยาบาล และเร่งเดินทางไปสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และไม่ใช่ช่วงแรกเท่านั้น ที่ควรเฝ้าระวัง จากการศึกษา พบว่า พิษผึ้ง สามารถส่งผลให้เกิดไตวาย ได้ถึง 2 สัปดาห์หลังโดนต่อย จึงควรเฝ้าระวังความผิดปกติในร่างกาย เมื่อมีอะไรดูไม่ปกติ ให้เดินทางไปพบแพทย์ทันที (ข้อมูล นายแพทย์ธีรวัฒน์ สุวรรณี www.idoctorhouse.com)
อาจารย์ประเสริฐ นพคุณขจร ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการใช้ผึ้ง, ผู้เขียนหนังสือ มหัศจรรย์การบำบัดโรค ด้วยเหล็กในผึ้ง, ผึ้งบำบัด Apitherapy กล่าวถึง การบำบัด โดยใช้เหล็กในผึ้งว่า จะเลือกใช้ผึ้งพันธุ์ Apis mellifera L. ซึ่งเป็นผึ้งพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่มีการเลี้ยงอยู่ทั่วโลก และที่เลือกผึ้งพันธุ์นี้ เนื่องจากเหล็กในของผึ้ง มีความยาวประมาณ 0.3 มิลลิเมตร ซึ่งมีความพอเหมาะ กับการฝังในผิวหนัง และปริมาณน้ำพิษ ก็เหมาะสำหรับการรักษา
นอกจากนี้ อาจารย์ประเสริฐ นพคุณขจร เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้ ที่ประเทศจีน มีการศึกษาผึ้งโพรงไทย (Apis Cerana) เพื่อมารักษาในแบบผึ้งบำบัด โดยได้ทำการรักษาในเด็ก เนื่องจากผึ้งพันธุ์ตัวใหญ่ อาจมีพิษผึ้งมากไป แต่ผึ้งโพรงไทย ใช้รักษาได้ ทั้งนี้ อยากให้คนรุ่นหลัง ลองได้ศึกษาผึ้งโพรงไทย เพื่อการรักษา
ศาสตร์นี้ คือ ศาสตร์พิษต้านพิษ ศาสตร์ผึ้งบำบัด คือ ศาสตร์จุดเดียวกับการฝังเข็ม โดยเปลี่ยนจากเข็ม มาเป็นเหล็กในผึ้ง โดยจุดที่ฝังเหล็กใน จะอยู่บริเวณที่ปวด หรือมีอาการ และจุดประสาทลมปราณ สำหรับการฝังเหล็กใน จะมีการฝังไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอาการ แต่ทั้งนี้ ต้องมีการเรียน และการศึกษาก่อน
และข้อควรระวัง ในการฝังเข็มด้วยเหล็กในผึ้ง มีดังนี้
1. ทดสอบการแพ้พิษผึ้ง โดยการฝังเข็มก่อน 20 นาที หากไม่เกิดอาการแพ้ ก็สามารถทำต่อได้ และคนที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคไต ไม่สามารถมาบำบัดด้วยพิษผึ้งได้ เพราะเมื่อบำบัด พิษผึ้งจะวิ่งไปทั่วร่างกาย แล้วจะผ่านไปที่หัวใจ และไปจบที่ไต
2. ภาวะที่ไม่ควรฝังเข็มฯ ผู้ที่อยู่ในภาวะอาการ หิว, อิ่มเกินไป, กลัว, โกรธ, ตื่นเต้น, เหงื่อออกมาก หรือ อ่อนเพลีย ต้องทำการพักร่างกาย ให้อยู่ในสภาวะปกติ ที่พร้อมต่อการฝังเข็ม พักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนมาบำบัด ต้องร่างกายแข็งแรง ไม่อ่อนเพลีย หรือง่วงนอน เพราะถ้าร่างกายไม่พร้อม ไม่ควรทำการบำบัด อาจเกิดอาการแพ้พิษผึ้งได้ และสตรีที่มีประจำเดือน ไม่ควรมาบำบัด เนื่องจากร่างกาย อยู่ในช่วงอ่อนแอ ภูมิต้านทานน้อย ฉะนั้นควรจะเว้นไปก่อน
3. ผู้ดื่มแอลกอฮอล์มา ไม่ควรมาบำบัด เพราะจะมีความเสี่ยง แพ้พิษผึ้งสูงมาก
4. ถ้าจับมือผู้บำบัด แล้วรู้สึกมือเย็น สั่น จะหยุดทำทันที เพราะร่างกายไม่พร้อม ที่จะมารักษา
5. อาหาร ภายหลังรับการฝังเข็มฯ แล้ว ห้ามรับประทานอาหารทะเล และแอลกอฮอล์ ซึ่งผู้ที่ร่างกายไม่แข็งแรง จะเกิดอาการแพ้รุนแรงได้ ภายใน 10 - 15 นาที ซึ่งเจอคนแพ้แบบนี้น้อยมาก
และสำหรับการรักษา อาการป่วยด้วยโรคต่าง ๆ สามารถเข้าไปรับชมกันได้ทาง คลิปย้อนหลังรายการ EP.31 ตอน “รู้แล้วต้องอึ้ง... เหล็กในผึ้งพิชิตโรค” ของศูนย์ผึ้งเชียงใหม่
คลิกเข้าดูได้ที่นี่ >> (EP.31 ตอน “รู้แล้วต้องอึ้ง... เหล็กในผึ้งพิชิตโรค”)
Backbone MCOT *** การบำบัดด้วยวิธีการ ใช้เหล็กในผึ้ง ไม่แนะนำให้ทำเองโดยเด็ดขาด เนื่องจากศาสตร์การใช้พิษผึ้งบำบัด มีอันตรายอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญ ได้บอกกล่าวไว้ และนี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ของการบำบัด การรักษา ซึ่งต้องมีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ศึกษาเรียนรู้จนชำนาญในเรื่องนี้ เพื่อมาทำการบำบัด หรือรักษาผู้คน จึงจะมีความปลอดภัยเพียงพอ และในการใช้พิษผึ้งนี้ Backbone MCOT ขอย้ำว่า ไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะไปทำกันเอง ***
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : กรมส่งเสริมการเกษตร
https://www.facebook.com/pr.doae
เฟซบุ๊ก : ศูนย์ผึ้งเชียงใหม่
https://www.facebook.com/bee.centercm
8 ก.ย. 2565
2400 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย