1 เม.ย.68 - เป็นไหม! “สมองเมาแผ่นดินไหว” และ “แผ่นดินไหวทิพย์” หมอโรคสมอง คณะแพทย์ มช.แนะนำวิธีเช็กอาการ
•
เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 นอกจากความเสียหายด้านทรัพย์สินแล้ว อีกสิ่งที่ทิ้งค้างไง้กับผู้ประสบเหตุ ก็อาการที่ร่างกายเกิดความผิดปก เรียกกันว่า “สมองเมาแผ่นดินไหว”
ผศ. นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวว่า มีผู้ประสบเหตุจำนวนไม่น้อย ที่มีอาการเวียนหัว โยกคลอน ใจสั่น แม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะสงบ หรือผ่านมาแล้ว สาเหตุหลักมาจาก “สมองและระบบการทรงตัวของร่างกาย” ยังปรับตัวไม่ทันกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติและฉับพลัน มีชื่อเรียกในทางการแพทย์ว่า “สมองเมาแผ่นดินไหว Earthquake Drunk หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome (PEDS)”
•
📍โดยอาการของ “สมองเมาแผ่นดินไหว” นั้นคล้ายกับอาการเมารถ หรือ เมาเรือ ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนโคลงเคลง แม้ยืนอยู่บนพื้นปกติ เกิดจากระบบทรงตัวในหูชั้นในสับสน และสมองประมวลผลข้อมูลขัดแย้งจากตาและหู
อีกอาการที่พบได้คือ อาการที่เรียกว่า “สมองหลอนแผ่นดินไหว”หรือ “แผ่นดินไหวทิพย์” จะรู้สึกว่าโลกยังสั่นทั้งที่เหตุการณ์จบไปแล้ว เป็นผลมาจากความตื่นตัวที่มากเกินของระบบประสาท บางคนอาจมีอาการคล้าย PTSD เช่น ใจนึกย้อนไปตอนเกิดเหตุการณ์ นอนไม่หลับ หรือกลัวอาคารสูง ซึ่งอาการดังกล่าวันมักเกิดขึ้นบ่อยในผู้ที่มีโรควิตกกังวล โรคไมเกรน หรือเคยมีอาการแพนิกมาก่อน
•
🚨 ข้อแนะนำวิธีปฏิบัติตัว สำหรับประชาชนที่ยังรู้สึกเวียนหัว จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
• ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก การรู้ว่าอาการนี้พบได้หลังแผ่นดินไหว ช่วยให้ใจเย็นลง
• พักผ่อนในที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการยืนบนที่สูงหรือพื้นที่ยังมีแรงสั่นสะเทือน
• หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า เช่น ข่าวสารหรือคลิปเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่กระตุ้นความเครียด
• ใช้เทคนิคช่วยลดอาการเวียนหัว
• มองไปที่จุดไกล ๆ เช่น เส้นขอบฟ้า
• จิบน้ำ
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
• หากจำเป็น สามารถใช้ยาแก้เวียนหัว เช่น dimenhydrinate ได้ 1-2 วัน
• หากมีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ หรือวิตกมาก อาจพิจารณายาคลายเครียดระยะสั้น ภายใต้คำแนะนำแพทย์
•
ผศ. นพ.สุรัตน์ กล่าวอีกว่า ยังมีกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางกลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดยเฉพาะผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือเสี่ยงสูง เช่น มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง ความเครียดเฉียบพลัน และแรงสั่นไหวอาจกระตุ้นความดันให้พุ่งสูงชั่วขณะ ซึ่งในบางรายอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำได้
•
ด้านผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ ภาวะหัวใจล้มเหลว ความตกใจฉับพลัน อาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ส่วนผู้ป่วยไมเกรน มีโอกาสกระตุ้นให้อาการปวดศีรษะกำเริบได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ และระบบประสาทรับรู้ รวมถึงผู้ที่มีความวิตกกังวล หรือ โรคทางจิตเวช เช่น โรคแพนิก โรค PTSD ซึ่งอาจถูกกระตุ้นให้เกิดอาการทางอารมณ์ หรือประสาทหลอนได้ง่ายขึ้น
•
ทั้งนี้อาการทางสมองและร่างกาย หลังแผ่นดินไหวถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่ธรรมดา และสามารถดูแลได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ สมอง ไมเกรน ควรใส่ใจตนเองเป็นพิเศษ หากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินและรักษาต่อไป
ขอบคุณที่มา : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่