X
กัมพูชาเผยประชากร ‘โลมาอิรวดีแม่น้ำโขง’ คงตัวตลอด 4 ปี

กัมพูชาเผยประชากร ‘โลมาอิรวดีแม่น้ำโขง’ คงตัวตลอด 4 ปี

26 ต.ค. 2563
1010 views
ขนาดตัวอักษร

ผลการสำรวจประชากรโลมาอิรวดีโดยกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) และสำนักบริหารการประมงของกัมพูชา ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (22 ต.ค.) ระบุว่าจำนวนประชากรของโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขง ช่วงไหลผ่านกัมพูชา รักษาระดับคงตัวตลอด 4 ปีที่ผ่านมา


รายงานระบุว่าจำนวนประชากรโลมาอิรวดีอยู่ที่ราว 89 ตัวในปี 2020 โดยมีช่วงความเชื่อมั่น 95% อยู่ที่ 78-102 ส่วนจำนวนประชากรโลมาอิรวดีในปี 2017 อยู่ที่ราว 92 ตัว โดยมีช่วงความเชื่อมั่น 95% อยู่ที่ 80 -106




“โดยรวมแล้ว ผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ว่าประชากรโลมาอยู่ในระดับคงตัวหากเทียบจากจำนวนประชากรในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2017” แสงเตี๊ยก ผู้อำนวยการกองทุนฯ ของกัมพูชา แถลงข่าวเปิดตัวรายงานการสำรวจประชากรฉบับดังกล่าว


แสงเตี๊ยกกล่าวว่าการสำรวจประชากรครั้งใหม่เผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันและประชากรศาสตร์ของโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขงสำหรับการเฝ้าติดตามในระยะยาว ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างการป้องกันและการจัดการอย่างมีนัยสำคัญ


สรุน ลิมซง รองผู้อำนวยการสำนักบริหารการประมงของกัมพูชา ระบุว่าโลมาอิรวดีถือเป็นสมบัติประจำชาติที่มีชีวิตของกัมพูชา โดยสำนักฯ จะเสริมสร้างการลาดตระเวนตามแม่น้ำเพื่อลดภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของโลมาชนิดนี้


“ภัยคุกคามหลักๆ ของโลมาแม่น้ำโขงสายพันธุ์นี้ ได้แก่ การติดอวนล้อมจับ การทำประมงผิดกฎหมายอย่างการตกปลาด้วยไฟฟ้าและเหยื่อล่อมีพิษซึ่งมีสารเคมี และการตกปลาที่มากเกินไป สืบเนื่องจากการเติบโตของประชากรมนุษย์” สรุนกล่าว


รายงานระบุว่าผลการสำรวจประชากรอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 1997 คาดว่ามีโลมาอิรวดีในแม่น้ำโขงราว 200 ตัว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่องสืบเนื่องจากการจับสัตว์น้ำพลอยได้ (Bycatch) หรือการถูกจับไปโดยไม่ตั้งใจ และการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย จนกระทั่งเหลือเพียง 80 ตัวในปี 2015




รายงานเสริมว่าการสำรวจประชากรในครั้งนี้ครอบคลุมร่องน้ำหลักของแม่น้ำโขงในจังหวัดกระแจะและสตึงแตรงที่ยาวราว 180 กิโลเมตร และดำเนินการแบบสองทางโดยมีทีมบันทึกภาพโลมาและเปรียบเทียบจุดเด่นบนหลังและครีบหลังกับข้อมูลโลมาที่มีอยู่แล้ว


ทั้งนี้ โลมาอิรวดีแม่น้ำโขงถูกขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤตในบัญชีแดงของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ตั้งแต่ปี 2004




ที่มา : สำนักข่าวซินหัว

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล