สวัสดีวันศุกร์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ค่ะทุกคน วันนี้น้องบัวบานก็มาพร้อมกับคำศัพท์ที่เรามักเขียนผิดกันอีกแล้วค่ะ จะมีคำว่าอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำต่าง ๆ ไว้ดังนี้
1. ลำไย มักเขียนเป็น ลำใย
- เป็นคำนาม หมายถึง ชื่อไม้ต้นชนิด Dimocarpus longan Lour. ในวงศ์ Sapindaceae ผลกลม รสหวาน, พันธุ์ที่เป็นไม้เถาเรียก ลำไยเครือ [D. longan Lour. var. obtusus (Pierre) Leenh.].
- เป็นคำนาม ภาษาถิ่นปักษ์ใต้ หมายถึง ชื่อไม้ต้นขนาดใหญ่ชนิด Mangifera caesia Jack ในวงศ์ Anacardiaceae ดอกสีม่วงอ่อนผลสุกกินได้, บินยา หรือ ลำยา ก็เรียก.
2. ค้อน มักเขียนเป็น ฆ้อน
- เป็นคำนาม หมายถึง ชื่อเครื่องมือที่มีหัวและด้าม สำหรับเคาะ ตอก ตี ทุบ, ลักษณนามว่า เต้า หรือ อัน
- เป็นคำนาม หมายถึง เครื่องมือชนิดหนึ่งใช้ในการจับปลา
- เป็นคำกริยา หมายถึง แสดงความไม่พอใจด้วยการตวัดสายตา
3. เลิกรา มักเขียนเป็น เลิกลา
- เป็นคำกริยา หมายถึง ค่อย ๆ เลิกไป เช่น ร้านแถวนี้ขายไม่ดี จึงเลิกรากันไปเรื่อย ๆ บ้าน 2 หลังนี้ทะเลาะกันเรื่อย หนักเข้าก็เลิกรากันไปเอง
4. เต็นท์ มาจากภาษาอังกฤษ tent
- เป็นคำนาม หมายถึง ที่พักหรือที่อาศัยชั่วคราว ย้ายไปได้ โดยมากทำด้วยผ้าใบขึงกับเสาหรือหลัก
5. ทูต มักเขียนผิดเป็น ฑูต มาจากภาษาบาลี
- เป็นคำนาม หมายถึง ผู้นำข้อความไปแจ้งทั้ง 2 ฝ่าย, ผู้รับใช้ไปเจรจาแทน, ผู้สื่อสาร, ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนไปยังต่างประเทศ เพื่อเจรจาหรือเจริญสัมพันธไมตรีเป็นทางราชการ.
6. ชะลอ มักเขียนผิดเป็น ชลอ
- เป็นคำกริยา หมายถึง อาการที่ลากเลื่อนสิ่งของที่หนักให้ค่อย ๆ เคลื่อนไปจากที่, พยุงไว้, ประคองไว้, ค่อย ๆ ประคองไป, เช่น ชะลอต้นไม้ใหญ่มาปลูก, ค่อย ๆ พยุงขึ้นให้ตรง เช่น สุครีพชะลอเขาไกรลาศ หรือหมายถึง ทำให้ช้าลง, ทำให้ช้าลงเพื่อรอ เช่น ชะลอเวลา ชะลอการเกิด
7. ผัดไทย มักเขียนผิดเป็น ผัดไท
- เป็นคำนาม หมายถึง อาหารคาวอย่างหนึ่ง ใช้ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กผัดกับเครื่องปรุงมีน้ำมะขามเปียก เต้าหู้เหลือง หัวไช้โป๊ กุ้งแห้งหรือกุ้งสด ใบกุยช่าย ถั่วงอก เป็นต้น
8. อนุญาต มักเขียนผิดเป็น อนุญาติ มาจากภาษาบาลีคำว่า อนุญฺาต
- เป็นคำกริยา หมายถึง ยินยอม, ยอมให้, ตกลง
บทความอื่น ๆ ของน้องบัวบาน
- คำไทยรู้ไว้ ใช้ถูกต้อง : bit.ly/khamthai_BB
ป.ล. ก่อนจากกัน น้องบัวบานมีเว็บไซต์ดี ๆ มาฝากพี่ ๆ ทุกคนด้วยนะคะ
❤️คำทับศัพท์ใช้แบบไหน?
เช็กได้ที่ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา https://transliteration.orst.go.th/search
❤️คำนี้เขียนถูกไหม?
เช็กได้ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) https://dictionary.orst.go.th/