X
เปิดตำนานขนมมงคล ไหว้เจ้าตรุษจีน มีที่มาอย่างไร ทำไมกินแล้วเฮง

เปิดตำนานขนมมงคล ไหว้เจ้าตรุษจีน มีที่มาอย่างไร ทำไมกินแล้วเฮง

10 ก.พ. 2567
1740 views
ขนาดตัวอักษร

ถึงเทศกาลตรุษจีน สิ่งที่เราจะพลาดไม่ได้เลยคือของไหว้ ยิ่งถ้าใครเป็นลูกหลานคนไทยเชื้อสายจีนด้วยแล้วละก็ ขนมไหว้เจ้านับว่าเป็นขนมที่ได้รับประทานกันจนเอียนแน่ ๆ โดยเฉพาะขนมเทียน ขนมเข่ง อย่างไรก็ตาม ขนมไหว้เจ้าตรุษจีน ไม่ได้มีแค่สองอย่างนี้ แล้วแต่ละชนิดมีที่มาอย่างไร เรามาหาคำตอบกันได้เลย



อย่างแรกไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือขนมเทียน และ ขนมเข่ง ขนมเทียนและขนมเข่งมีที่มาหลากหลาย โดยมีเรื่องเล่าตำนานของขนมเข่ง เล่าไว้ว่า กาลครั้งหนึ่งมีเทพเจ้าจีนซึ่งคอยปกปักรักษามนุษย์ มีหน้าที่ต้องขึ้นไปรายงานความดีและความชั่วที่ของมนุษย์ให้กับองค์เง็กเซียนฮ่องเต้บนสวรรค์ พอในช่วงก่อนที่จะถึงวันตรุษจีน ก็มีมนุษย์ที่ไม่ค่อยได้ทำความดีก็หัวหมอ ได้คิดทำขนมเข่งขึ้นมาให้กับเทพเจ้าได้กิน เพื่อหวังให้ขนมเข่งช่วยปิดปากเทพเจ้าให้ไม่สามารถรายงานความชั่วได้ เพราะขนมเข่งมีลักษณะเหนียวหนืด เมื่อเคี้ยวในปากแล้วจะพูดไม่ถนัด เพราะขนมนี้ทำจากแป้งกวนกับน้ำตาลทรายแล้วนำไปนึ่งจนสุก แต่อีกตำนานก็เล่าไว้ว่า ในยุคที่ชาวจีนอพยพออกจากประเทศของตัวเองเพื่อหนีความยากลำบาก พวกเขาต้องหาเสบียงที่เก็บได้นานไว้ประทังชีวิต ซึ่งนั่นก็คือการเอาแป้งข้าวเหนียวมากวนกับน้ำตาล จากนั้นนำไปนึ่งให้สุก คนจีนจึงนิยมนำขนมเข่งมาไหว้ในเทศกาลตรุษจีนเพื่อรำลึกถึงวันที่ตัวเองเคยลำบากยากแค้น 



ขนมเทียนก็เช่นกัน คาดว่าก็มีต้นกำเนิดมาจากขนมเข่งโดยดัดแปลงขนมเข่งออกมาให้มีรสชาติแตกต่าง โดยใช้แป้งข้าวเหนียวมากวน และใส่ไส้ถั่วบด ผสมกับเครื่องปรุง กลายเป็นไส้เค็ม จากนั้นห่อด้วยใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ แล้วนำไปนึ่งจนสุก ขนมเทียนเนื่องด้วยดัดแปลงมาจากขนมเข่ง วิธีทำก็จะคล้ายกัน แต่แตกต่างกันที่การห่อทับด้วยใบตองเป็นรูปสามเหลี่ยม และมีไส้หวานที่ทำจากมะพร้าวขูดฝอยผัดเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บ และไส้เค็มที่ทำจากถั่วเหลืองบดแล้วนำมาผัดเกลือกับพริกไทยเพื่อให้ได้รสชาต

เนื่องด้วยขนมทั้งสองแบบนี้มีวิวัฒนาการมาจากขนมชนิดเดียวกันคือขนมเข่ง ความหมายของขนมทั้งสองชนิดจึงเหมือนกัน คือ มีสุขภาพที่ดี ชีวิตราบรื่น หวานชื่น และเป็นมงคลจากทรงเจดีย์ในขนมเทียน


นอดจากนั้นก็มีขนมอีกสามชนิดที่ใช้วัตถุดิบเดียวกัน นั่นคือแป้งข้าวเจ้า ขนมทั้งสามชนิดที่นิยมมาไหว้เจ้าเช่นกันก็คือ ขนมกุยช่าย ขนมผักกาด และขนมเผือก โดยทั้งสามชนิดนี้คาดว่าเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พร้อมกับคนจีนยุคแรก ๆ ที่อพยพมาไทย แต่นักวิชาการอีกส่วนก็คาดว่าอาจจะเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นที่นิยมในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากขนมทั้งสามอย่างมีการทำที่คล้าย ๆ กัน ต่างเพียงแค่ชื่อเรียกและวัตถุดิบที่ผสมลงไปและสามารถกินได้ทั้งนึ่งและนำไปทอดเพื่อเพิ่มรสชาต โดยสาเหตุที่นำกุยช่ายไปไหว้เจ้าช่วงตรุษจีนก็คือ กุยช่ายในภาษาจีนแต้จิ๋ว ออกเสียงว่า กุ่ย เป็นการพ้องเสียง แปลว่า ร่ำรวย มั่งคั่ง นั่นเอง ส่วนขนมผักกาดมีชื่อจีนคือ ไช่ เถ้า ก้วย ซึ่งเป็นอาหารติ่มซำแบบฉบับแต้จิ๋วดั้งเดิมที่มีอยู่ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงคาดการณ์กันว่าต้นฉบับดั้งเดิมมันคือเจ้า ไช่ เถ้า ก้วย หรือขนมผักกาดนั่นเอง ก่อนจะเปลี่ยนวัตถุดิบให้อร่อยและมงคลมากขึ้น 

สำหรับความหายของขนมทั้งสามชนิดนี้ก็คือ ความเจริญ ร่ำรวย มั่งคั่ง นั่นเอง


ต่อมาขนมชนิดนี้คือ ฮวกก้วย หรือ ขนมถ้วยฟู แบบคนจีนนั่นเอง ซึ่งเจ้าฮวกก้วย คือขนมเค้กจีนโบราณที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียวโดยไม่มีการใช้ยีสต์นั้น จะเป็นประเพณีของชาวจีนแต้จิ๋ว ที่ไหว้ส่งเทพเจ้าขึ้นสวรรค์ในช่วงปีใหม่ 

ฮวกก้วยทำจากแป้งสาลีและน้ำตาลเป็นหลัก โดยต้องทิ้งให้แป้งขนมขึ้นฟูก่อนนำไปนึ่ง ขนมชนิดนี้มีทั้งหน้าตาแบบกลม ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นที่รู้จักมากกว่า โดยคนไทยนิยมเรียกว่า ‘ขนมถ้วยฟู’ ที่เมื่อนึ่งแล้วหน้าขนมจะแตกเป็นกลีบดอกไม้ มีสีสันต่าง ๆ 

สำหรับความหมายก็คือตามภาษาจีน ฮวก จีนกลางออกเสียง ฟา แต้จิ๋วออกเสียง ฮวด หรือ ฮวก แปลว่า งอกงาม , เพิ่มพูน ก้วย จีนกลางออกเสียง เกา(กั่ว) แต้จิ๋วออกเสียง กอ(ก้วย) ความหมายคือ ขนมแห่งความเจริญงอกงามรุ่งเรืองนั้นเอง พร้อมกับชื่อไทยคือถ้วยฟู ไปพ้องกับความหมายว่าเฟื่องฟู เมื่อชื่อเป็นมงคลแบบนี้ จึงเป็นที่นิยมใช้ในแทบทุกโอกาสเลยทีเดียว 


และขนมอีกชนิดที่ขาดไม่ได้เลยคือ “อั่งถ่อก้วย” ที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่ามันคือ กุยช่าย สีชมพู ซึ่งไม่ใช่เลย สำหรับ “อั่งถ่อก้วย” มีตำนานมากกว่านั้น แม้ว่าทั้งสองอย่างจะทำมาจากวัตถุดิบแทบจะเหมือนฝาแฝดกันก็ตาม ในตำนานว่าไว้ว่า ซีหวังหมู่ เทพเจ้าสูงสุดในสมัยก่อนของลัทธิเต๋า ค้นพบครั้งแรกในบันทึกกระดูกสัตว์ที่มีอายุ 150 ปี ก่อนคริสตกาล ซีหวังหมู่ประทานท้อวิเศษให้แก่พระเจ้าฮั่นอู (ฮ่องเต้ราชวงศ์ฮั่น) จำนวน 4 ผล และบอกว่าหากท้อวิเศษนี้ 3,000 ปี จึงจะออกลูก แผ่นดินตงง้วนไม่ควรปลูก และถึงปลูกก็ไม่มีลูก ท่านบอกแก่พระเจ้าฮั่นอูตี้ว่าให้ชาวเมืองจงทำเป็นขนมเลียนแบบรูปผลท้อ สำหรับเป็นขนมไหว้เทพเจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ผู้ไหว้จะอายุยืน มีความสุข สุขภาพแข็งแรง โดยท้อที่กล่าวนั้นเป็นต้นท้อต้นเดียวกับในเรื่องไซอิ๋ว มีชื่อเต็มว่า ซิ่วท้อ มีคุณสมบัติเรื่องอายุวัฒนะ เมื่อครั้งซุนหงอคงบุกสวรรค์ได้ไปขโมยเก็บมากินจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต  


“อั่งถ่อก้วย” จึงนำเอาตำนานมาสร้างเป็นขนม โดยอั่ง แปลว่า สีแดง ถ่อ คือ ผลท้อ ก้วย คือ ขนม รวมกันคือขนมลูกท้อสีแดงนั่นเอง “อั่งถ่อก้วย” จึงแทบจะอยู่ในทุกสราทของคนจีน ไม่ว่าจะเป็น ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ วันเกิด แซยิด จนถึงวันออกทุกข์ของคนจีน ก็มักจะทำ “อั่งถ่อก้วย” รับประทานกัน 


แต่ “อั่งถ่อก้วย” ก็ใช่ว่าจะหาทานได้ง่าย สำหรับผู้เขียนที่เห็นบ่อย ๆ ก็คือแถวเยาวราชในหน้าเทศกาล เช่นวันสารท หรือ วันตรุษ นอกจากนั้นก็แถวบางรักตรงข้ามโรบินสันบางรักจะมีคนใส่รถเข็นมาขาย แต่หากอยู่ต่างจังหวัดคงต้องไปแถวชุมชนคนจีน แต่ถ้าเป็นที่นครสวรรค์มีที่ร้าน “บิ๊คสเต็ค” แน่นอน ร้านเก่าแก่ของนครสวรรค์ มี “อั่งถ่อก้วย” ให้ไปซื้อรับประทานได้ทั้งปี แต่หากเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีนทางร้านบิ๊คสเต็ค จะทำ “อั่งถ่อก้วย” แบบพิเศษคือมีรูปลักษณ์ลายเป็นมังกรคาบลูกแก้ว พร้อมกับตัวอีกษรจีน “ฮก” ที่แปลว่าเจริญรุ่งเรือง ทาด้วยสีผสมอาหารสีทองเพิ่มความสวยงามและน่ารับประทาน และที่สำคัญ “อั่งถ่อก้วย” ของร้านบิ๊คสเต็คเป็นสูตรดั้งเดิมของบรรพบุรุษเลยทีเดียว ใครอยู่นครสวรรค์ก็ไปแวะซื้อหารับประทานกันได้เพื่อความเป็นมงคล 



และนี่คือตำนานของขนมไหว้เจ้าช่วงตรุษจีน ที่มีวัฒนธรรมส่งผ่านมาจากรุ่นสู่รุ่น ที่เชื่อมต่อไทย - จีน ประหนึ่งวัฒนธรรมเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องอาหารที่จีนและไทยใช่อื่นไกลพี่น้องกันจริง ๆ 


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล