X
พระโอวาทวันอาสาฬหบูชา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

พระโอวาทวันอาสาฬหบูชา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

13 ก.ค. 2565
1250 views
ขนาดตัวอักษร

วัดบวรนิเวศวิหาร ได้โพสต์เผยแพร่ธรรมะ เนื่องในวันนี้ (13 ก.ค. 2565) ตรงกับ วันอาสาฬหบูชา พร้อมยกบทความ พระโอวาท สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เนื่องในวันอาสาฬหบูชา เมื่อครั้งปีพุทธศักราช 2501 มาฝากถึงพุทธศาสนิกชน ให้ได้เรียนรู้หลักธรรมที่สำคัญ ๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องนำทางชีวิต ให้บรรลุผล ทั้งทางคดีโลก ทั้งทางคติธรรม ซึ่งเมื่อได้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ถือเป็นการบูชา ด้วยการปฏิบัติ อันเป็นการบูชาอย่างสูงสุด ในพระพุทธศาสนา

วัดบวรนิเวศวิหาร โพสต์เผยแพร่ธรรมะ ฝากถึงพุทธศาสนิกชน ผ่านเฟซบุ๊ก วัดบวรนิเวศวิหาร @WatBovoranivesVihara กล่าวถึง พระโอวาท สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เนื่องในวันอาสาฬหบูชา เมื่อครั้งปีพุทธศักราช 2501 โดยระบุว่า



วันนี้ เป็นวันอาสาฬหบุรณมี ดิถีพระจันทร์เต็มดวง เดือนอาสาฬหะ ตามจันทรคติทางราชการ ซึ่งตรงกับวันที่พระบรมศาสดา ได้ทรงแสดงพระปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ประกาศสัจจธรรม ธรรมที่เป็นจริง แก่ชาวโลกเป็นวาระแรก และท่านแสดงว่า ท่านพระโกณฑัญญะ เมื่อฟังเทศนานี้ ได้เกิดธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรม ได้ขอประทานอุปสมบท พระบรมศาสดา ได้ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ การบวชเป็นภิกษุ ด้วยพระวาจาว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด” แก่ท่าน จึงเกิดพระปฐมสังฆรัตนะปฐมภิกขุ ขึ้นในโลก นับได้ว่า เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ทางคณะสงฆ์ และทางราชการ จึงได้จัดให้เป็นวันบูชาที่สำคัญ อีกวันหนึ่งของพุทธศาสนิกชน ผู้นับถือพระพุทธศาสนา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงมีพระมหากรุณา แก่เวไนยสัตว์ ไม่ทรงหยุด อยู่เสวยวิมุตติสุข สุขที่เกิดแก่ความหลุดพ้นลำพังพระองค์เดียว ได้ทรงเทศนาสั่งสอน และได้ทรงแสดง พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร พระสูตรที่ยังล้อ คือ พระธรรมให้หมุนไป เป็นครั้งแรกอันเรียกว่า ปฐมเทศนา

อรรถโดยย่อแห่งพระสูตรนี้ ทรงสั่งสอน มิให้เสพส่วนสุด 2 อย่าง คือ การประกอบตน ให้พัวพันอยู่ด้วยความสุขในกาม อันเรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค 1 การทำตนให้ลำบาก อันเรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค 1 ทั้ง 2 อย่างนี้ เป็นสิ่งที่บุคคล ไม่ควรประพฤติ แลทรงแสดงชี้ทางดำเนิน คือ ข้อปฏิบัติ อันเป็นสายกลาง ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ให้บุคคลประพฤติปฏิบัติ อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น อันเป็นทางปฏิบัติ เพื่อวิชาความรู้จริง ในอริยสัจจธรรม และเพื่อวิมุตติ ความหลุดพ้นจากกิเลส และกองทุกข์

บุคคล ผู้มุ่งที่จะบรรลุผล ทั้งทางคดีโลก ทั้งทางคติธรรม จักบรรลุถึงผลนั้น ๆ ได้ ต้องดำเนินถูกทาง ไม่ข้องติดอยู่ใน กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตน ให้หนักอยู่ในความสุขทางกาม คือ หมกมุ่นอยู่แต่ความสุข หรือที่เรียกว่า ติดสุขทางกามคุณ เพราะเมื่อติดอยู่ในความสุขเช่นนั้น ก็ต้องแสวงหา เพื่อบำรุงบำเรอตน ให้ได้มาเพื่อปรนปรือ สมกับความอยาก ความต้องการของตน เมื่อไม่ได้ในทางที่ชอบ ก็แสวงหาในทางที่ไม่ชอบ ตกเป็นทาสของความอยาก ความต้องการ อันความอยาก และความต้องการนั้น บังคับใช้ให้ต้องแสวงหากัน ไม่มีที่สิ้นสุด แม้ในปัจจุบันนี้เอง ที่เห็น เดือดร้อนกันอยู่ ก็เพราะดิ้นรนแสวงหามา เพื่อความสุขของตนบ้าง พรรคพวกของตนบ้าง กล่าวโดยทางธรรม เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมติดอยู่ใน กามสุขัลลิกานุโยค ที่เชื่อว่า ดำเนินผิดทาง เพราะกามสุขัลลิกานุโยคนั้น มิใช่ทางแห่งการบรรลุธรรม จึงทรงสอนให้ละ มิให้ประพฤติ นี้เป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง ที่ทรงสั่งสอน ให้ละเว้นไม่ต้องเสพ

ส่วนสุดอีกข้างหนึ่ง คือ อัตตกิลมถานุโยค การประกอบตนให้ลำบาก คือ การทรมานกาย ให้ลำบากด้วยอาการต่าง ๆ ด้วยนึกว่า การทำเช่นนั้น เป็นทางให้สำเร็จผลตามที่ปรารถนา แต่การทำตนให้ลำบากเช่นนั้น มิใช่ทางแห่งมรรคผล ในทางธรรม จึงทรงสั่งสอนให้ละเลิกเสีย

กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ทั้ง 2 นี้ พระบรมศาสดา ได้เคยดำเนินมาด้วยพระองค์แล้ว เมื่อครั้งยังเป็นโพธิสัตว์ ทรงเห็นว่า มิใช่ทางแห่งความตรัสรู้ จึงทรงละเลิกเสีย แล้วทรงเปลี่ยนไปดำเนิน ในทางมีองค์ 8 คือ

1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
3. สัมมาวาจา การเจรจาชอบ
4. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ
8. สัมมาสมาธิ การตั้งใจชอบ


รวมลงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา จึงได้ตรัสรู้ อริยสัจธรรม. ในปฐมเทศนานี้ ได้ทรงแสดงปฏิปทา ที่ทรงละ และทรงดำเนิน ตลอดจนอริยสัจจธรรม ที่ได้ตรัสรู้ ปฏิญาณพระองค์ว่า ทรงเป็นพระพุทธ ผู้ตรัสรู้ชอบเอง ไม่มีใครสู้ได้ในโลก

เมื่อวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญ ทางพระพุทธศาสนา มาถึงเข้าเช่นนี้ พุทธศาสนิกชน จึงตั้งใจนอบน้อมบูชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมทั้ง พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยดอกไม้ของหอมเป็นต้น เป็นอามิสบูชา และตั้งใจ ประพฤติปฏิบัติตามธรรมะ กล่าวคือ เว้นไม่ประพฤติ ซึ่งส่วนสุด 2 อย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค แล้วประพฤติตาม มัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางมีองค์ 8 เป็นปฏิบัติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติ อันเป็นการบูชาอย่างสูงสุด ในพระพุทธศาสนา

ขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัย และอานุภาพแห่งการตั้งใจ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จงอภิบาลคุ้มครอง รักษาพุทธศาสนิกชน ทุกหมู่ทุกเหล่า ให้ปราศจากทุกข์ ภัย พิบัติ ทั้งปวง ประสพความแช่มชื่นผ่องใส ทั้งทางกาย และทางใจ มีให้เห็นชอบตามธรรมที่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศแล้วทุกประการ เทอญ ฯ

(ที่มา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, “พระโอวาทในวันอาสาฬหบูชา พุทธศักราช 2501.” พระโอวาทสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์เป็นที่ระลึกแห่งพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณในโอกาสพระราชทานเพลิง ณ พระเมรุในสุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 เมษายน พุทธศักราช 2503 (พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย, 2503)



ทั้งนี้ วัดบวรนิเวศวิหาร ขอเชิญชวน พุทธศาสนิกชนทุกท่าน เข้าร่วมกิจกรรม ในวันอาสาฬหบูชา วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2565 (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ณ วัดบวรนิเวศวิหาร หรือ ร่วมกิจกรรม Online พร้อมกันจากบ้านของท่านผ่านทาง Facebook : วัดบวรนิเวศวิหาร โดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งจะมีขึ้นใน 2 ช่วงเวลา ดังนี้

เวลา 09.00 น. แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์

เวลา 19.00 น. พระภิกษุสามเณร ประชุมกันที่พระอุโบสถ ทำวัตรค่ำ สวดมนต์ - เวียนเทียน และแสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์



#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : วัดบวรนิเวศวิหาร @WatBovoranivesVihara
https://www.facebook.com/WatBovoranivesVihara



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)