X
ฝีดาษลิง ทั่วโลก ขยับเพิ่ม 17 ประเทศแล้ว ไทยตั้งศูนย์เฝ้าระวังฯ

ฝีดาษลิง ทั่วโลก ขยับเพิ่ม 17 ประเทศแล้ว ไทยตั้งศูนย์เฝ้าระวังฯ

23 พ.ค. 2565
1970 views
ขนาดตัวอักษร

การระบาดของโรค ฝีดาษลิง (Monkeypox) เริ่มมีการยืนยันเพิ่มขึ้นแล้ววันนี้ (23 พ.ค. 2565) ถึงวันนี้ กรมควบคุมโรค ได้แจ้งแล้วว่า ในต่างประเทศ มีการขยับเพิ่มไปเป็น 17 ประเทศแล้ว มีประเทศอะไรบ้าง และการขยับเพิ่มนั้น รวดเร็วเพียงไร แค่ไหน Backbone MCOT จะพาไปไล่เลียงตัวเลข ที่แสดงจากทางคุณหมอ และนักวิชาการ



จากที่ในต่างประเทศ มีการระบาดของโรค ฝีดาษลิง (Monkeypox) โดยเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เปิดเผยว่า #จุดเริ่มต้นการระบาด เริ่มมีรายงาน ในสหราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2565 พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ที่บินกลับมาจากประเทศไนจีเรีย หลังจากนั้น จึงพบอีก 6 รายตามมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผอ.กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้เปิดเผยถึงข้อมูลเกี่ยวกับ โรคฝีดาษลิง ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Anan Jongkaewwattana ระบุว่า WHO เรียกประชุมด่วน กรณีการระบาดของ Monkeypox virus ในหลายประเทศ ... ในอดีตที่ผ่านมา WHO เรียกประชุมด่วนแบบนี้ ไม่บ่อยนัก ครั้งนี้.. จึงมีประเด็นต้องจับตามองครับ ว่า PHEIC ตัวใหม่ จะคือ monkeypox หรือไม่



และเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อมูลเรื่อง โรคฝีดาษลิง ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า อัปเดตฝีดาษลิง (Monkeypox) ล่าสุด องค์การอนามัยโลก ออกข่าวมาเมื่อวานนี้ 21 พฤษภาคม 2565 รายงานว่า

ตั้งแต่ 13 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา มีรายงานพบเคส ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเพิ่มขึ้น และกระจายไปแล้ว 12 ประเทศ ภาคีสมาชิกของ องค์การอนามัยโลก ที่ไม่ได้เป็นประเทศ ที่เป็นดินแดนที่มีโรคชุกชุม (non-endemic areas) จนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม มีเคสที่ตรวจยืนยันแล้ว 92 ราย และอยู่ในข่ายสงสัยรอการยืนยันอีก 28 ราย

จากการสอบสวนโรค พบว่า มีเคสจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้มีประวัติเดินทางไป ในดินแดนที่โรคชุกชุม แต่มีประวัติ การมีสัมผัสทางกาย (physical contact) กับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง โดยพบในกลุ่มที่เป็นชายรักชาย (Men who have sex with men: MSM) จึงขอให้มีการเฝ้าระวังโรค เพราะคาดว่า จะมีรายงานเคสมากขึ้น ในประเทศที่เป็น non-endemic areas และควรมีการให้ความรู้แก่ประชาชน ให้คอยสังเกตอาการเจ็บป่วย และพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้ติดเชื้อแพร่เชื้อได้

ทั้งนี้ รศ.นพ.ธีระ ได้โพสต์ภาพที่แสดงอาการของโรคดังกล่าว ...ภาพจาก UK HSA แสดงให้เห็นตุ่ม ระยะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย โรคฝีดาษลิง เพื่อเป็นความรู้

อ้างอิงรูปภาพจาก WHO
https://www.who.int/emergencies/disease-outbreak-news/item/2022-DON385



และ รศ.นพ.ธีระ ได้เพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับ โรคฝีดาษลิง ว่า WHO กำลังจะจัด Webinar เรื่อง WHO Monkeypox Research: What are the knowledge gaps and priority research questions? วันที่ 2 มิถุนายน 2565 เวลา 1 PM (Zurich time) หรือ 6 โมงเย็นตามเวลาประเทศไทย ซึ่งท่านที่สนใจ เรื่องฝีดาษลิง สามารถลงทะเบียนได้ครับ

คลิกที่นี่ >> (Webinar เรื่อง WHO Monkeypox Research)


และในวันนี้ 23 พฤษภาคม 2565 กรมควบคุมโรค ได้แจ้งแล้วว่า ฝีดาษลิง (Monkeypox) ในต่างประเทศทั่วโลก ขยับเพิ่มไปเป็น 17 ประเทศแล้ว โดยเว็บไซต์ กรมควบคุมโรค ได้เผยแพร่ข้อมูลว่า ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เพื่อติดตามสถานการณ์ การระบาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรอง ผู้เดินทางจากประเทศ ที่มีการระบาด โรคฝีดาษลิง ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อ จากคนสู่คนได้ ย้ำขณะนี้ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในไทย พร้อมเปิดเผยว่า

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานข่าว ที่ประชาชนให้ความสนใจ เป็นจำนวนมาก กรณีสหราชอาณาจักร พบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงนั้น กรมควบคุมโรค ในฐานะที่เป็นหน่วยงาน ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำ จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรณีโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์ แนวโน้ม พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจัดทำแผน ทั้งในระยะยาว ระยะกลาง ในการปรับปรุงกลยุทธ์ และมาตรการให้เหมาะสม



โดย องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงการณ์ยืนยันว่า พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงแล้ว ประมาณ 80 ราย และมีผู้ป่วยสงสัย เป็นฝีดาษลิง อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 50 ราย ใน 11 ประเทศ ที่ไม่ใช่แหล่งระบาดของโรคฝีดาษลิง และมีแนวโน้ม ที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ในอีกหลายประเทศ

โดยผู้ป่วยรายแรก ที่พบในการระบาดครั้งนี้ เป็นผู้ป่วยในประเทศ สหราชอาณาจักรอังกฤษ ที่มีประวัติเดินทางไปยัง ประเทศไนจีเรีย ช่วงปลายเดือนเมษายน ด้วยเหตุนี้ ทางประเทศสหราชอาณาจักรอังกฤษ จึงเริ่มดำเนินการเฝ้าระวัง และค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ซึ่งในขณะนี้ พบผู้ป่วยกว่า 100 รายแล้ว จาก 15 ประเทศ ได้แก่

1. สหราชอาณาจักรอังกฤษ
2. สเปน
3. โปรตุเกส
4. อิตาลี
5. เบลเยียม
6. ฝรั่งเศส
7. เยอรมัน
8. สวีเดน
9. สหรัฐอเมริกา
10. แคนาดา
11. ออสเตรเลีย
12. อิสราเอล
13. เนเธอร์แลนด์
14. สวิตเซอร์แลนด์
15. กรีซ


นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทย ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย โรคฝีดาษลิง อย่างไรก็ตามในระยะนี้ เป็นช่วงที่เริ่มเปิด ให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น และเป็นช่วงเตรียมการ เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ของโรคโควิด 19 ดังนั้น อาจมีความเสี่ยง จากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ ที่มีการระบาด ได้แก่ สหราชอาณาจักรอังกฤษ, สเปน, โปรตุเกส, อิตาลี, เบลเยียม, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, สวีเดน, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และออสเตรเลีย หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตกได้

ทั้งในช่องทางการเข้า - ออกระหว่างประเทศ หรือผู้ที่เดินทางจากประเทศดังกล่าว ไปในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ จากข้อมูล กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และกักกันโรค กรมควบคุมโรค ได้รายงานว่า จำนวนผู้เดินทางที่ลงทะเบียน จากประเทศเสี่ยงสูง ได้แก่ สหราชอาณาจักร, สเปน, โปรตุเกส โดยระหว่างวันที่ 1 - 22 พ.ค. 2565 นี้ มีผู้เดินทางจากสหราชอาณาจักร จำนวน 13,142 คน จากสเปน 1,352 คน และโปรตุเกส 268 คน

กรมควบคุมโรค ได้มีการยกระดับ เพื่อเฝ้าระวัง ผู้ที่เดินทางจากประเทศเสี่ยงเหล่านี้ ขอให้พี่น้องประชาชน ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังประเทศ ที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการสัมผัส สัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู, กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ถึงแม้ว่า ยังไม่มีรายงานพบเชื้อในสัตว์เหล่านี้ ในประเทศไทยก็ตาม หากมีการสัมผัสสัตว์ ให้รีบล้างมือด้วยสบู่ และน้ำสะอาด และหลังจากเดินทางกลับ จากประเทศที่มีการระบาดของ โรคฝีดาษลิง ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้, มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า, แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง

2. ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention (UP) โดยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือ เจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิด ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือ สัมผัสใบหน้า, ตา, จมูก, ปาก, กินอาหารปรุงสุก เป็นต้น

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัส สารคัดหลั่ง, บาดแผล, เลือด, น้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก และหลีกเลี่ยงการสัมผัส สารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลือง จากผู้ที่สงสัยป่วย หรือมีประวัติเสี่ยง

ทั้งนี้ การแพร่เชื้อจากคนสู่คน แม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้ จากการสัมผัสใกล้ชิด กับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง จากทางเดินหายใจ หรือผิวหนังที่เป็นตุ่ม ซึ่งทาง กรมควบคุมโรค จะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และแจ้งให้พี่น้องประชาชน ทราบเป็นระยะ หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ 02-590-3839 หรือ โทรสายด่วน 1422

และล่าสุดในวันนี้ 23 พฤษภาคม 2565 เฟซบุ๊ก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โพสต์รายงานสถานการณ์ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ระบุว่า

+ พบการแพร่กระจาย ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมเป็น 17 ประเทศ โดยประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้น คือ ออสเตรีย และ นอร์เวย์

ส่วนประเทศไทย ยังคงเฝ้าระวัง และยังไม่พบการติดเชื้อในประเทศ


อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : กรมควบคุมโรค
https://ddc.moph.go.th

เฟซบุ๊ก : กรมควบคุมโรค
https://www.facebook.com/profile.php?id=100068069971811

เฟซบุ๊ก : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ (รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์)
https://www.facebook.com/OhISeebyAjarnJess

เฟซบุ๊ก : Thira Woratanarat (รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์)
https://www.facebook.com/thiraw

เฟซบุ๊ก : Anan Jongkaewwattana (ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา)
https://www.facebook.com/anan.jongkaewwattana



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล