X
เปิดแล้ว..ให้ลงชื่อ ปลูกกัญ.. ผ่าน 2 ช่องทางออนไลน์ สธ. (มีอธิบาย.. วิธีจดแจ้ง)

เปิดแล้ว..ให้ลงชื่อ ปลูกกัญ.. ผ่าน 2 ช่องทางออนไลน์ สธ. (มีอธิบาย.. วิธีจดแจ้ง)

27 พ.ค. 2565
5830 views
ขนาดตัวอักษร

เริ่มแล้ว.. เปิดให้เข้าไปลงทะเบียน ขอจดแจ้งการปลูกกัญชา กัญชง กันแล้ว.. โดยวันนี้ (27 พ.ค. 2565) ได้มีพิธีลงนามแสดงจุดยืนปลดล็อกใช้ “กัญชา” อย่างเข้าใจ ซึ่งมี 8 หน่วยงานใหญ่ ร่วมลงนาม พร้อมอีก 3 หน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เน้นใช้กัญชาอย่างเข้าใจ ไม่ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ประชาชนปลูกได้ เพื่อดูแลสุขภาพ ภาคธุรกิจทำได้ ไม่มีการผูกขาด

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประกาศแสดงจุดยืนปลดล็อก กัญชา กัญชง เพื่อใช้ดูแลสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ ไม่ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม พร้อมลงนามร่วมกัน 8 หน่วยงาน สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เน้นใช้กัญชาอย่างเข้าใจ ประชาชนปลูกได้ เพื่อดูแลสุขภาพตนเอง ภาคธุรกิจทำได้ไม่มีการผูกขาด



วันนี้ (27 พฤษภาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหาร กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแสดงจุดยืน “การปลดล็อก กัญชา กัญชง เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ และไม่ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม”

พร้อมร่วมกับ 8 หน่วยงาน ลงนามบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย การส่งเสริมการใช้กัญชา กัญชง ดูแลสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ และไม่ใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ได้แก่

1. กระทรวงสาธารณสุข
2. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
3. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
4. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
5. แพทยสภา
6. สภาการแพทย์แผนไทย
7. สภาเภสัชกรรม
8. สภาการพยาบาล

พร้อมอีก 3 หน่วยงาน ที่ร่วมลงนามเป็นพยาน คือ

1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)
2. สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)
3. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)




นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุน การใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง โดยช่วงแรก ได้ผลักดันให้นำกัญชา มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการวิจัย จากนั้น ได้ต่อยอดมาเพิ่มมูลค่า กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้ขณะนี้ มีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ กัญชา และกัญชง ออกสู่ตลาดอย่างหลากหลาย ทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอาง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อ ยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ มีผลให้ควบคุมเฉพาะ สารสกัดจากพืชกัญชา หรือกัญชง ที่มีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 เป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 ส่งผลให้สามารถนำส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา กัญชง มาพัฒนา และแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และสมุนไพรได้ ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกัญชา กัญชงในประเทศไทย และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่อยากทำความเข้าใจ เพื่อให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน อย่างถูกต้องว่า

ประชาชน จะสามารถปลูกพืช กัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ในการรักษา และดูแลสุขภาพได้ง่าย ผ่านการจดแจ้ง ส่งผลให้ลดรายจ่าย ด้านการรักษา และเพิ่มทางเลือก ในการดูแลสุขภาพ สำหรับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจ เกี่ยวกับกัญชา กัญชง สามารถทำได้ ไม่มีผูกขาด แต่ขอให้ดำเนินการ ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ให้กับผู้ประกอบการ ให้เกิดความหลากหลาย ของการพัฒนาสมุนไพร ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังมีการควบคุม การผลิตสารสกัด ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมีมาตรการป้องกัน การนำไปใช้ในทางที่ผิด  

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า การลงนามในครั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงจุดยืน ของกระทรวงสาธารณสุข ว่า การปลดล็อกกัญชา กัญชงในครั้งนี้ มีเป้าหมาย 3 เรื่อง คือ

1. เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ Health & Medical

2. ให้เกิดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม ทั้งในกลุ่มเครื่องสำอาง สมุนไพร และอาหาร รวมถึงส่งเสริม งานวิจัยนวัตกรรม  Beauty/Product & Innovation

3. เพื่อให้ประชาชน มีทางเลือก ในการดูแลสุขภาพของตนเอง




ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวขอขอบคุณภาคีเครือข่าย ที่มาร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงในวันนี้ ที่จะร่วมกันรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดองค์ความรู้ เกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง ในการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย ไม่สนับสนุนการนำไปใช้ ในทางที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนทั่วไป เด็ก เยาวชน บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงชาวต่างชาติ ที่จะเดินทางมาพำนัก หรือท่องเที่ยวในประเทศไทย ตระหนักถึงประโยชน์ และโทษจากการใช้กัญชา กัญชง มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถใช้กัญชา กัญชง ในการดูแลสุขภาพอย่างเข้าใจ ทำให้เกิดการรับรู้ ของสังคมในวงกว้าง ในการต่อต้านการใช้ กัญชา กัญชง ที่ไม่เหมาะสม โดยขอให้ประชาชนใช้ให้ถูก ใช้ให้เป็น ใช้กัญชากัญชงอย่างเข้าใจ เพื่อสร้างคุณประโยชน์เท่านั้น




นอกจากนี้ ทีมงาน Backbone MCOT ได้ทดลองเข้าไปสำรวจ การลงทะเบียนในเว็บไซต์ ปลูกกัญ ตามที่อยู่ คลิกได้ที่ >> (https://plookganja.fda.moph.go.th)

ซึ่งเว็บไซต์ ปลูกกัญ (ของ อย.) ถือเป็น 1 ใน 2 ช่องทางที่ สธ. เปิดให้ประชาชน ได้เข้าไปลงทะเบียน ขอจดแจ้งการปลูกกัญชา กัญชง โดยผู้ที่ต้องการปลูก ต้องให้ข้อมูลรายละเอียด อย่างครบถ้วน อาทิ



+ ชื่อ-นามสกุล (ผู้ขอปลูก)

+ วันเดือนปีเกิด (ผู้ขอปลูก)

+ ที่อยู่ (ผู้ขอปลูก)

+ วัตถุประสงค์การจดแจ้ง ซึ่งมีหัวข้อให้เลือก เช่น เพื่อใช้ดูแลสุขภาพ เป็นต้น (ดูได้จากภาพประกอบ)

+ เลือกประเภทของพืช คือ กัญชา และหรือ กัญชง

+ แหล่งที่มา (ของการนำมาปลูก) เช่น จากผู้ได้รับอนุญาตเดิม/หน่วยงานรัฐ, จากการนำเข้า, จากโครงการปลูกกัญชา 1 ล้านต้น หรือ มาจากแหล่งอื่น ๆ

+ รายละเอียด สถานที่ใช้ปลูก เช่น บ้านเลขที่, โฉนดที่ดินที่, สถานที่สำคัญใกล้เคียง, จุดสังเกต, ถนน เป็นต้น




ส่วนอีก 1 ช่องทาง คือ แอปพลิเคชัน ปลูกกัญ (Plookganja) สำหรับผู้ใช้สมาร์ตโฟน สามารถเข้าไปดาวน์โหลดแอปฯ ได้ที่เว็บไซต์ ปลูกกัญ (https://plookganja.fda.moph.go.th)




อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th

เว็บไซต์ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
https://www.fda.moph.go.th

เว็บไซต์ : ปลูกกัญ (plookganja)
https://plookganja.fda.moph.go.th



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล