X
หยุดแล้วพักตรงนี้..ดีกว่า(แล้วค่อยอพยพต่อ)

หยุดแล้วพักตรงนี้..ดีกว่า(แล้วค่อยอพยพต่อ)

11 มิ.ย. 2564
790 views
ขนาดตัวอักษร

11 มิ..64 - เป็นกระแสข่าวที่ได้รับความสนใจ และเอ็นดูน้องๆช้างป่าจากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ที่กำลังนอนหลับพักผ่อนพร้อมกันเกือบทั้งโขลง


กลายเป็นภาพที่ได้รับการกล่าวถึงและแชร์ต่อถึงภารกิจของช้างป่าโขลงนี้ ทั้ง 15 ตัว ในนั้นยังมีลูกช้างน้อย(ที่ไม่ใช่มาม่าช้างน้อยอีก 3 ตัว เดินตามติดโขลงอย่างใกล้ชิด ในภารกิจ “ตามติด #15ช้างป่ายูนนาน เดินเท้ากว่า 500 Km. อพยพย้ายถิ่น


ซึ่งช้างโขลงนี้มีทิศทางการอพยพที่แปลกจากช้างทั่วไป โดยเริ่มเดินเท้าออกจากป่าสงวนในยูนนาน ตอนใต้ของประเทศจีน มุ่งหน้าขึ้นเหนืออย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดปักหลักอาศัย  ที่ใด


ระหว่างทางช้างโขลงใหญ่ ที่กำลังอพยพย้ายถิ่นอาศัยได้เดินผ่านชุมชน และพื้นที่เกษตร อาศัยหากินพืชผล แม้จะสร้างควาทเสียหายให้เกษตรกรแล้วอย่างมาก แต่ช้างโขลงนี้ยังได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่ทางการจีน ที่ทางการได้ส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์ และหาทางช่วยให้กลับเข้าป่าที่เหมาะสม กว่า 700 นาย 


จับตาเฝ้าดูการย้ายถิ่นครั้งนี้ ให้ความปลอดภัย และลดผลกระทบต่อชาวบ้าน รวมทั้งไม่ให้เกิดการปะทะขึ้น จนกว่าช้างทั้งหมด 15 ตัว จะเจอแหล่งอาศัยใหม่ที่ถูกใจ ถึงแม้จะพยายามใช้อาหารล่อให้ไปในเส้นทางที่ผลกระทบน้อย แต่ช้างป่ายังคงเดินไปในทิศทางที่ต้องการต่อไป


จนล่าสุดปรากฏภาพมุมสูงจากโดรนของเจ้าหน้าที่บันทึกภาพสุดแสนสบาย ช้างเกือบทั้งโขลงนอนพักผ่อนเอาแรงก่อนจะเริ่มออกเดินหน้าไปหาจุดหมายอีกครั้ง


ทั้งนี้ช้างเอเชียอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐชั้นหนึ่งในประเทศจีนและถูกขึ้นบัญชีแดงเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ปัจจุบันประชากรช้างป่าในอวิ๋นหนาน เพิ่มขึ้นจาก 193 ตัวในทศวรรษ 1980 เป็น 300 ตัวในปัจจุบัน จากความพยายามอนุรักษ์อย่างต่อเนื่องให้สภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาที่ดีขึ้น 


ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า ปรากฏการณ์ช้างป่าอพยพผิดทิศเช่นนี้ เกิดจากเหตุใด ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่พบได้ไม่บ่อยนัก

อาจารย์เฉินหมินหย่ง ศาสตราจารย์คณะนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยยูนนาน ได้ให้ความเห็นว่า ลักษณะนี้ช้างอาจมีอาการหลงทิศ เนื่องจากในครั้งแรกที่จะพยายามเดินทางกลับพื้นที่ในเขตอนุรักษ์สิบสองปันนา อาจเจอกับอุปสรรคหลายอย่างในระหว่างเดินกลับ ทำให้การเดินกลับพื้นที่อาศัยเดิมไม่สามารถทำได้ และเกิดการหลงทิศที่คิดว่าการมุ่งหน้าขึ้นเหนือคือทิศทางที่ถูกต้อง


สำหรับช้างดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มช้างเอเชีย ที่ปัจจุบันมีอยู่ในธรรมชาติประมาณ 41,410 - 52,345 ตัว (IUCN Red List, 2009) ขณะที่ประเทศไทยกรมอุทยานแห่งชาติฯ รายงานว่าปัจจุบันมีช้างป่าในธรรมชาติของไทยประมาณ 3,168-3,440 ตัว อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง โดยกลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่ามากได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว กลุ่มป่าตะวันออก และกลุ่มป่าแก่งกระจาน


ขอบคุณภาพจาก : https://www.xinhuathai.com/china/206918_20210608

ขอบคุณข้อมูล : สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล