X
กสทช. กำหนดแนวทางสื่อเสนอเนื้อหา ฆ่าตัวตาย ยึดหลักจริยธรรม

กสทช. กำหนดแนวทางสื่อเสนอเนื้อหา ฆ่าตัวตาย ยึดหลักจริยธรรม

26 มี.ค. 2568
1550 views
ขนาดตัวอักษร

คณะอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการ การส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และการพัฒนาองค์กรวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. กรมสุขภาพจิต และกรมราชทัณฑ์ ร่วมหารือแนวทางที่เหมาะสมในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายอย่างรับผิดชอบ

25 มี.ค. 2568 จากกรณีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล มีการนำเสนอเนื้อหาจำลองการฆ่าตัวตาย สืบเนื่องจากข่าวการเสียชีวิตของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรืออดีต "ผู้กำกับโจ้" ในเรือนจำกลางคลองเปรม คณะอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการฯ ซึ่งมี ศ.กิตติคุณ  ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ เป็นประธานพร้อมด้วยผู้แทนจากกรมสุขภาพจิต และกรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมกันหารือ     ถึงแนวทางในการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายเพื่อป้องกันผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาวะเปราะบางโดยมีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมด้วย ณ โรงแรม AVANI Ratchada Bangkok


ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หรือสร้างความตื่นตระหนกในสังคมและหารือถึงแนวทางที่เหมาะสมในการนำเสนอเนื้อหาดังกล่าว ทั้งนี้ สื่อมวลชนควรให้ความสำคัญกับหลักจริยธรรมวิชาชีพ โดยการนำเสนอเนื้อหาโดยเฉพาะรายการข่าวควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง มีการพิจารณาถึงประโยชน์ของสาธารณะและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วน


ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ กล่าวว่าการประชุมดังกล่าวเป็นการพูดคุยร่วมกันระหว่างผู้แทนของช่องรายการ ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ และคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง “มองเห็นถึงความพยายามของสื่อที่ต้องการจะแสวงหาข้อเท็จจริงโดยการจำลองเหตุการณ์และอธิบายเรื่องที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย แต่ก็อาจละเลยแง่มุมและกระบวนการรายงานข่าวที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น ในมิติทางกฎหมายและทางจิตวิทยาสังคม”


ในระหว่างการประชุมมีอนุกรรมการเสนอว่าผู้ผลิตรายการ ควรศึกษาถึงแนวปฏิบัติทางจริยธรรมของสื่อมวลชนในการนำเสนอบทความเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีอยู่แล้ว และควรปรึกษาประเด็นข้อกฎหมายภายในกองบรรณาธิการให้ชัดเจนก่อนการนำเสนอ


ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ กล่าวว่า การให้ความรู้กับสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ กสทช. ยินดีที่จะสนับสนุนและทำงานร่วมกับองค์กรวิชาชีพของสื่อต่อไป


“การที่สื่อมวลชนกำกับดูแลกันเองเป็นวิธีที่ดีเพราะสื่อจะเข้าใจในข้อจำกัดในกระบวนการทำงาน       ในสังคมที่มีอารยะ การที่สื่อกำกับดูแลกันเองถือเป็นมาตรฐาน และรัฐจะบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีผลกระทบรุนแรง ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า ตามมาตรา 37 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์          พ.ศ.2551 ก็จะกำหนดไว้เฉพาะที่เป็นเรื่องร้ายแรงจริงๆ และมีการกำหนดโทษเป็นลำดับขั้นตอนไป”


แพทย์หญิงวรินทร พิพัฒน์เจริญชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า บุคคลที่อยู่ในภาวะเปราะบางหรือเด็กและเยาวชนอาจเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เห็นภาพซ้ำๆ จากสื่อ ซึ่งอาจเกิดเป็นภาพจำที่ในวันหนึ่งอาจเกิดอารมณ์ชั่ววูบและนำไปสู่การกระทำได้

“การดูสื่อไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องทำแบบนั้นแต่คนกลุ่มที่มีแนวโน้ม มีความรู้สึก มีความคิด[ที่จะฆ่าตัวตาย] หรือเป็นเด็กและเยาวชน อาจเกิดการรับรู้ ภาพจำ แล้ววันหนึ่งจะนึกขึ้นมาว่ามีสิ่งนี้และนำพา [ไปสู่การฆ่าตัวตาย] ที่ผ่านมาขอบคุณสื่อว่าได้ช่วยกรมสุขภาพจิตประชาสัมพันธ์ในหลายประเด็น หากช่วยกันดูแลมากขึ้นอาจช่วยให้คนที่ไม่สบายใจ มีความเครียด เปราะบาง จะไม่เกิดอารมณ์ชั่ววูบ”พญ.วรินทร กล่าว

นายพงษ์อภินันทน์ จันกลิ่น เลขานุการกรม กรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีกระบวนการสอบสวนอย่างระมัดระวัง และแม้จะเข้าใจว่าสื่อให้ความสนใจและต้องการนำเสนอเรื่องดังกล่าวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามการนำเสนอของสื่ออาจเกิดความคลาดเคลื่อนหรือก่อให้เกิดผลกระทบได้


“การนำเสนอของสื่อ ตามทฤษฎีทางอาชญวิทยา เมื่อสื่อนำเสนอสิ่งที่สามารถจูงใจให้คนทำตามหรือเกิดขึ้นซ้ำๆ อาจนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบ เช่น ข่าวการปาหินใส่รถในอดีต”เลขานุการกรม กรมราชทัณฑ์ กล่าวและเสริมว่าอย่างไรก็ตาม ผู้ชมจะต้องใช้วิจารณญาณในการรับชม “ประชาชนต้องตระหนัก ผู้เสพสื่อต้องพิจารณาว่าจะทำตามหรือไม่ทำตาม”


ที่ประชุมจะพิจารณาวินิจฉัยถึงมาตรการต่อกรณีที่ตรวจสอบพบว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์อาจมีการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในการประชุมครั้งต่อไป.

 

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)