X
เผย “ดัชนีการมีอิทธิพลต่อการสร้างชาติของผู้สูงอายุ 2025

เผย “ดัชนีการมีอิทธิพลต่อการสร้างชาติของผู้สูงอายุ 2025

12 ก.ค. 2568
10 views
ขนาดตัวอักษร

สถาบันการสร้างชาตินานาชาติ (NBII) โดยศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาดัชนี สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) และพันธมิตรนานาชาติ แถลงผลการจัดอันดับ ดัชนีการมีอิทธิพลต่อการสร้างชาติของผู้สูงอายุ (Elderly Impact on Nation-Building Index) ในการประชุมใหญ่นานาชาติว่าด้วยการสร้างชาติ สุขสภาพ และสันติภาพบนฐานคุณธรรม ประจำปี 2568 (The International Convention on Nation-Building, Wellness & Peace Upon Morality 2025 – ICNWP 2025) ภายใต้หัวข้อ “การสร้างชาติ สุขสภาพ และ สันติภาพ ในโลกที่เต็มด้วยผู้สูงวัย” โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คนจากทั่วโลก


 ดร.สุธนี บิณฑสันต์ ผู้อำนวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา กล่าวถึงความสำคัญของดัชนีการมีอิทธิพลต่อการสร้างชาติของผู้สูงอายุ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สังคมเห็นคุณค่าที่แท้จริงของผู้สูงอายุมากขึ้น ไม่ใช่มองว่าเป็นเพียงภาระหรือผู้ที่ต้องรับความช่วยเหลือ แต่เป็นกลุ่มคนที่ยังมีพลัง มีประสบการณ์ และสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้ ดัชนีนี้จึงไม่ใช่แค่การวัดตัวเลขหรือสถิติ แต่เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนมุมมองใหม่ของสังคม ที่เห็นผู้สูงอายุเป็นพลังร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ การมีดัชนีนี้ช่วยผลักดันให้เกิดนโยบายที่เปิดพื้นที่ให้ผู้สูงอายุมีบทบาทมากขึ้น


โดยดัชนีการมีอิทธิพลต่อการสร้างชาติของผู้สูงอายุ มีกรอบแนวคิดหลักสามด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจที่วัดจากการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตขึ้นและการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน ด้านสังคมที่วัดจากผู้สูงอายุมีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน การมีส่วนในการถ่ายทอดความรู้และค่านิยม มีบทบาทในการส่งเสริมความปลอดภัยทางสังคม และด้านการเมืองที่วัดจากผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในเสรีภาพและเสถียรภาพทางการเมือง ไม่ว่าจะผ่านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมพลเมือง การอุทิศตนให้กับพรรคการเมือง หรือการดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยตรง


จากการประเมินจาก57ประเทศ ทั่วโลก 10 ประเทศที่มีอันดับคะแนนการมีอิทธิพลต่อการสร้างชาติของผู้สูงอายุสูงที่สุดได้แก่ นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, แคนาดา, ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, เยอรมัน, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, เนเธอร์แลนด์


สำหรับประเทศไทย อยู่อันดับที่ 16 ของโลก สะท้อนว่าผู้สูงอายุในไทยมีบทบาทในระดับที่น่าจับตา โดยเฉพาะในด้านการเมืองที่อยู่อันดับที่ 14 แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมและการแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง   ขณะที่ด้านเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 26 และด้านสังคมอยู่ในอันดับที่ 36 ซึ่งบ่งชี้ว่ายังมีช่องว่างในการส่งเสริมบทบาทของผู้สูงอายุในระบบเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมทางสังคมที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก


“เชื่อว่าหากประเทศไทยสามารถเปลี่ยนวิธีคิด และสร้างระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้ผู้สูงอายุได้มีบทบาทอย่างมีศักดิ์ศรี เราจะได้เห็นการสร้างชาติที่มีฐานรากมั่นคงกว่าเดิม และตอบโจทย์สังคมสูงวัยอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การดูแล แต่คือการ "ร่วมสร้าง" อนาคตร่วมกันทุกวัย”

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)