X
เล่าเรื่องแม่นากจากปากคนบางพระโขนง

เล่าเรื่องแม่นากจากปากคนบางพระโขนง

6 ธ.ค. 2564
34680 views
ขนาดตัวอักษร

พูดถึงแม่นากพระโขนง(เขียนตัวสะกดตามหนังสือเก่าที่เขียนชื่อท่านสะกดด้วย  ) เด็กรุ่นก่อนร้อยทั้งร้อยต้องนึกถึงผีดุ นึกถึงหนังผีและเรื่องเล่าที่ทุกคนต้องขนหัวลุก ถึงยุคสมัยปัจจุบันแม่นาก หรือย่านาก คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่พึ่งทางใจที่ใครหลายคนดั้นด้นไป "วัดมหาบุศย์" เพื่อขอพรย่านาก ขอกันได้ทุกอย่างทั้งการงาน คดีความ ความรัก ความสำเร็จ หรือโชคลาภ ฯลฯ ย่านาก คือที่พึ่งไปแล้ว


ตอนนี้จึงอยากเล่าเรื่อง "ย่านาก" ด้วยข้อมูลเก่าที่ประมวลจากหนังสือหลายๆเล่ม เริ่มจาก 


ย่านาก น่าจะชื่อ "นาก" ไม่ใช่ "นาค"


ย่านาก เป็นคนสมัยไหนกันแน่ ?  ข้อมูลจากหนังสือ สยามประเภท พิมพ์สมัยรัชกาลที่ 5 เขียนไว้ว่า อำแดงนาก เป็นคนสมัยรัชกาลที่สาม บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง 


สามีของย่านากชื่ออะไรเรื่องนี้ใครๆก็รู้ ก็ พี่มาก นั่นไง แต่ในหนังสือเล่มเดียวกัน (หนังสือสยามประเภท ) เขียนไว้ว่า สามีของนางนาก ชื่อนายชุ่ม นายชุ่ม เรื่องตรงนี้ต่างกับการรับรู้เดิมโดยทั่วไป ตรงที่นายชุ่ม ไม่ได้เป็นทหารไปรบ นายชุ่มเป็นเศรษฐี ร่ำรวย 


เรื่องราวของพ่อมาก น่าจะมาจากการเล่าของ ขุนชาญคดี(ปั่นอดีตกำนันตำบลพระโขนง เล่าถวายอดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ( ในเวลานั้น คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ขุนชาญคดี เล่าว่า สามีของแม่นากคือ นายมาก นายมากเป็นเลขเข้าเดือน (มีเวรเข้ามารับราชการในพระนครขณะที่เข้าเดือนแม่นากที่ตั้งท้องคลอดลูกเสียชีวิต ญาติจึงเอาไปทำศพแล้วฝังที่วัดมหาบุศย์ ตอนไปฝังนี่แหละ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่ธรรมดาของวิญญาณแม่นาก


คือญาตินำร่างแม่นากไปฝังไว้ในป่าช้าวัดมหาบุศย์ ด้วยความบังเอิญ หรือจำเป็นก็ไม่แน่ใจ ญาตินำร่างแม่นากไปฝังไว้ระหว่างต้นตะเคียนสองต้น แค่ต้นตะเคียนต้นเดียวก็น่ากลัวแล้วแต่นี่เป็น ต้นตะเคียนคู่ วิญญาณของแม่นากจึงมีพลังไม่ธรรมดา ขุนชาญคดี เล่าถึงเหตุผลที่ของความดุของแม่นาก ว่า เพราะมีผู้ไม่ประสงค์ดีพยายามนำพรายไปใช้ทำเสน่ห์ยาแฝดและมีคนไปแสดงกิริยาไม่เคารพ ทำการรบกวนหลุมศพแม่นาก


นายมากไม่รู้เรื่อง กลับมาจากเข้าเลข ถึงบ้านเจอแม่นาก ก็สนทนาปราศรัยตามปกติ พอมารู้ทีหลังว่าแม่นากตายแล้วก็เกิดกลัวมาก แต่แม่นากก็ยังมาหาพ่อมากบ่อยๆ มาช่วยถีบระหัดวิดน้ำเข้านา มาช่วยน้องสาวพ่อมากออกลูก 


ขุนชาญคดียังเล่าว่า ในเวลาพลบค่ำชาวบ้านจะได้ยินเสียงแม่นากกล่อมลูกดังลอยมาไกลๆจากป่าช้าวัดมหาบุศย์ บ้างก็จะเห็นผู้หญิงนุ่งผ้าลายใหม่เอี่ยมสวมสไบแดง มายืนดักรอคอยอยู่ที่ท่าน้ำ นี่เองคือภาพของแม่นากที่มารอพี่มากอยู่ที่ท่าน้ำ 


ภาพตัดกลับไปที่แม่นากในหนังสือสยามประเภท บอกว่าแม่นากเป็นภรรยานายชุ่มคนมีเงิน หนังสือนั้นบอกตรงกันถึงสาเหตุการเสียชีวิตของแม่นากว่าคลอดลูกตาย แต่เล่าที่มาของวิญญาณเฮี้ยนต่างกัน คืออ้างอิงว่าพระศรีสมโภช (บุด)(ผู้สร้างวัดมหาบุศย์เคยเล่าถวาย สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ว่า นายชุ่มเป็นคนมีเงิน เมื่ออำแดงนากเสียไป บรรดาลูกๆ หวงสมบัติ กลัวพ่อจะมีเมียใหม่ กลัวคนจะมาแย่งสมบัติ จึงทำตัวผีอำแดงนากมาหลอกเพื่อไม่ให้คนเข้ามาในบ้าน  (ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ได้ผลเกินคาดที่กลายเป็นตำนานที่คนกลัวกันทั้งเมือง


ขณะที่มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันท์เขียนไว้ในประวัติสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)ว่า ผีแม่นากนั้นมีจริง เป็นปีศาจที่หลอกหลอนคนไปทั่ว จนสมเด็จพุฒาจารย์ โต ต้องนั่งเรือไปวัดมหาบุศย์แล้วเรียนวิญญาณนางนากขึ้นมาคุย จนเป็นที่มาของการนำกระดูกหน้าผากแม่นากไปทำปั้นเหน่งคาดเอว และส่งตกทอดไปสู่พระหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์ (ภายหลังทรงสมณศักดิ์พระสมเด็จพระพุฒาจารย์)


ไม่ว่าจริงๆแล้วแม่นากจะเป็นตำนานแบบไหน สรุปได้ว่า แม่นากนั้นมีตัวตนจริงสมัยรัชกาลที่ ๓ แม่นากเป็นผู้ที่รักสามีมากและวันนี้แม่นากได้รับการยกย่องเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พึงของคนยุคนี้ไปตลอดกาล 


ที่มา 


หนังสือสยามประเภท วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม ..118 (ในสมัยรัชกาลที่ ๕

หนังสือ เจาะลึกเรื่องเล่า เอนก นาวิกมูล

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)