X
กรมศิลปากรและกทม. เตรียมบูรณะ “เสาชิงช้า”

กรมศิลปากรและกทม. เตรียมบูรณะ “เสาชิงช้า”

12 มี.ค. 2568
2220 views
ขนาดตัวอักษร

สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) สำรวจความเสียหายของโบราณสถานเสาชิงช้า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 68 พร้อมด้วยสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เบื้องต้นพบว่า ไม้เสาชิงช้าทั้ง 2 ฝั่งมีรอยแตกและรอยผุ บริเวณปลายยอดเสา


สำหรับแนวทางซ่อมแซมและปรับปรุง ต้องค้ำยันก่อนจ้างศึกษาวิธีซ่อม และจ้างซ่อม เพื่อให้เสาชิงช้ามีสภาพที่มั่นคงแข็งแรง ปลอดภัยต่อผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมชม และเพื่อความสวยงามให้อยู่คู่กับกรุงเทพมหานคร


เสาชิงช้า เป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 188 ฉบับพิเศษ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2531 โดยกรมศิลปากรพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่า เนื่องจากเสาชิงช้าอยู่ในสภาพชำรุดเสียหายค่อนข้างมาก ควรต้องได้รับการซ่อมแซมโดยเร่งด่วน ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 จึงอนุญาตให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ดำเนินการซ่อมแชมโบราณสถานเสาชิงช้า โดยขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้


1.การซ่อมแชมไม้ส่วนที่ชำรุด ควรซ่อมปรับปรุง (อุด ปะ) และซ่อมเปลี่ยน (ตัดต่อ) ด้วยไม้ชนิดเดียวกับไม้เดิมตามสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง กาวหรือวัสดุเติมเนื้อไม้ ควรใช้ชนิดสำหรับซ่อมไม้โดยเฉพาะซึ่งจะมีความยืดหยุ่นของวัสดุใกล้เคียงกับเนื้อไม้


2.การต่อชิ้นไม้ด้วยโลหะหรือวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ไม้ ควรใช้ชนิดไร้สนิมที่มีการยืดหดขยายตัว ของวัสดุต่ำ หรือยืดหดขยายตัวใกล้เคียงกับไม้ เพื่อลดการชำรุดของไม้บริเวณรอยต่อในอนาคต


3.การเสริมกำลังหรือความมั่นคงด้วยวัสดุสมัยใหม่ ควรต้องมีการวิเคราะห์ปัญหา เชิงวิศวกรรมที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนก่อนกำหนดใช้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสริมความมั่นคงโดยไม่จำเป็น


4. การตกแต่งผิวไม้ ควรหลีกเลี่ยงวัสดุตกแต่งผิวที่มีความทึบน้ำสูง เพื่อยอมให้ความชื้น ที่สะสมในเนื้อไม้สามารถระบายออกได้โดยสะดวก ทั้งนี้ วัสดุตกแต่งผิวที่มีความทึบน้ำสูงจะส่งผลต่อการผุชำรุดของไม้โดยตรง


5.ดำเนินการสำรวจพร้อมจัดทำแบบสภาพปัจจุบันและความเสียหายที่เกิดขึ้นในองค์ประกอบแต่ละส่วนของเสาชิงช้าโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อนำมากำหนดวัสดุ เทคนิคและวิธีการซ่อมแซมให้ตรงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมถึงควรทำการวิเคราะห์วิธีการซ่อมแซมที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาเดิม พร้อมส่งให้กรมศิลปากรพิจารณาอีกครั้ง


ทั้งนี้ ครั้งล่าสุดที่กรมศิลปากรร่วมกับ กทม. บูรณะเสาชิงช้า คือเมื่อเดือนธันวาคม 2560


เครดิตภาพจาก Thai pbs News


Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)