เมื่อวานนี้น้องบัวบานมีโอกาสได้เห็นคำว่า “รักษาการ” กับ “รักษาการณ์” เยอะมากเลยค่ะ พอลองอ่านดูแล้วออกเสียงเหมือนกันเลย แต่รู้ไหมคะว่าสองคำนี้ มีความหมายต่างกันนะ เพราะคำว่า “การ” และ “การณ์” ความหมายไม่เหมือนกันนั่นเองค่ะ
“การ” และ “การณ์” ทำไมออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกัน?
คำที่ออกเสียงเหมือนกันแต่เขียนต่างกัน เราเรียกว่า “คำพ้องเสียงค่ะ” ในภาษาไทยของเรามีคำมากมายหลายคำเลยค่ะที่เขียนไม่เหมือนกัน แต่อ่านออกเสียงเหมือนกันเป๊ะ ๆ เช่น การ การณ์ กาล กาฬ หรือคำว่า สีสัน สรรหา สร้างสรรค์ ใครที่อยากรู้ว่า “คำพ้องเสียง” คืออะไร น้องบัวบานเคยอธิบายเอาไว้แล้ว ตามไปอ่านกันได้นะคะ กดตรงนี้เลยค่ะ
แล้ว “การ” กับ “การณ์” มีความหมายว่าอะไร?
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายเอาไว้ดังนี้ค่ะ
“การ” เป็นคำนาม หมายถึง
- งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทำ, มักใช้เข้าคู่กับคำ งาน เช่น การงาน, ถ้าอยู่หน้านาม หมายความว่า เรื่อง, ธุระ, หน้าที่, เช่น การบ้าน การครัว, ถ้าอยู่หน้ากริยา ทำกริยาให้เป็นนาม เช่น การกิน การเดิน
- ผู้ทำ, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาสคำบาลีและสันสกฤต เช่น กรรมการ ตุลาการ, ถ้าอยู่หลังคำอื่นที่ไม่ใช่คำศัพท์ มีความหมายเป็นเฉพาะก็มี เช่น กงการ เจ้าการ นักการ ผู้บังคับการ ผู้กำกับการ
- คำประกอบท้ายสมาสคำบาลีและสันสกฤต มีความหมายเหมือน งาน, สิ่งหรือเรื่องที่ทำ เช่น ราชการ พาณิชยการ
“การณ์” เป็นคำนาม มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต หมายถึง
- เหตุ, เค้า, มูล, เช่น รู้เท่าไม่ถึงการณ์ สังเกตการณ์
“รักษาการ” และ “รักษาการณ์” ความหมายก็ต่างกันนะ
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายเอาไว้ดังนี้ค่ะ
“รักษาการ” เป็นคำกริยา หมายถึง
- ปฏิบัติหน้าที่แทนชั่วคราว เช่น รองอธิบดีรักษาการแทนอธิบดี
“รักษาการณ์” มี 2 ความหมาย คือ
- คำกริยา หมายถึง เฝ้าดูแลเหตุการณ์ เช่น มีทหารรักษาการณ์อยู่ตลอดเวลา
- คำวิเศษณ์ หมายถึง ที่เฝ้าดูแลเหตุการณ์ เช่น ทหารรักษาการณ์ ยามรักษาการณ์
ดังนั้น ถ้าจะพูดว่า คุณลุงป้อมปฏิบัติหน้าที่แทนคุณลุงตู่ชั่วคราว จะต้องบอกว่า คุณลุงป้อม “รักษาการ” ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนคุณลุงตู่ นะคะ แล้วพบกันใหม่กับน้องบัวบานและคำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้องค่ะ บ๊ายบาย
บทความอื่น ๆ ของน้องบัวบาน
- คำไทยรู้ไว้ ใช้ถูกต้อง : bit.ly/khamthai_BB